svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สุขภาพ

PM 2.5 ช่วงลมเปลี่ยนฤดู กับผลกระทบที่ต้องรู้เรื่องสุขภาพ

31 มกราคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

PM 2.5 มองไม่เห็นด้วยตา แต่กระทบสุขภาพลามถึงหัวใจ ติดตามสถานการณ์ฝุ่นจิ๋วช่วงลมเปลี่ยนฤดู กับผลกระทบที่ต้องรู้เกี่ยวกับสุขภาพ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงอย่างเด็ก หญิงมีครรภ์ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยหรือมีโรคประจำตัว

อัพเดทสถานการณ์ฝุ่น Particulate Matter 2.5 (PM 2.5) รอบนี้

กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์สภาพอากาศในพื้นที่กรุงเทพมหานคร พบว่า อากาศเย็น โดยปัจจัยที่เกี่ยวข้อง (คาดการณ์แนวโน้มสภาพอากาศที่ส่งผลกระทบต่อฝุ่น PM2.5 โดยสภาพทางอุตุนิยมวิทยาคาดว่า อัตราการระบายอากาศในช่วงวันที่ 30 ม.ค.-1 ก.พ. 66 จะไม่ดี เนื่องจากเพดานอากาศต่ำ เกิดสภาวะอากาศปิดอย่างต่อเนื่อง

ประกอบกับช่วงวันที่ 2-4 กุมภาพันธ์ 2566 เป็นช่วงที่บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังแรงจากประเทศจีนแผ่ปกคลุมประเทศไทย ส่งผลให้เกิดการสะสมของฝุ่นละออง PM2.5 มีแนวโน้มค่อนข้างลดลงถึงเพิ่มขึ้นเล็กน้อยสลับกันในช่วงนี้ อีกทั้งความกดอากาศสูงจากจีนจะออกมานอกชายฝั่งทำให้ทิศของลมหนาวนั้นเปลี่ยนจากตะวันออกเฉียงเหนือมาเป็นตะวันออก

ส่งผลให้จะมีการเริ่มพัดพาฝุ่นควันจากกัมพูชาเข้าสู่ประเทศไทยโดยเฉพาะภาคตะวันออก ภาคกลาง และกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ปกติของการเปลี่ยนผ่านไปยังฤดูร้อน ลมใต้จะทวีกำลังมากขึ้นเรื่อยๆ และวันนี้กรุงเทพมหานครและปริมณฑลอากาศเย็น กับมีหมอกบางในตอนเช้า

ช่วงวันที่ 1 - 4 ก.พ. 2566 พื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล ควรเฝ้าระวังการสะสมของฝุ่นละออง เนื่องจากสภาพอากาศที่นิ่งและปิด โดยพื้นที่ที่ควรเฝ้าระวัง ได้แก่ พื้นที่กรุงเทพกลาง กรุงธนเหนือ และกรุงธนใต้ (พื้นที่ท้ายลม)

PM 2.5 ช่วงลมเปลี่ยนฤดู กับผลกระทบที่ต้องรู้เรื่องสุขภาพ

ค่าเฉลี่ยฝุ่นละออง PM 2.5 ในอากาศ

องค์การอนามัยโลก (WHO) ตั้งค่าเฉลี่ยฝุ่นละออง PM 2.5 ในอากาศว่าหากมีเกินกว่า 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ถือเป็นอันตรายต่อสุขภาพ

ขณะที่ ประเทศไทย กำหนดอันตรายของฝุ่น PM 2.5 อยู่ที่ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ทั้งนี้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมควบคุมมลพิษ ได้ปรับปรุงค่ามาตรฐานฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM2.5 โดยคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ได้ประกาศลงในราชกิจานุเบกษา เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2565 ดังนี้

  • ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง ปรับลดจาก 50 เป็น 37.5  ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2566
  • ค่าเฉลี่ยรายปี ปรับลดจาก 25 เป็น 15 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร มีผลตั้งแต่วันถัดจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา

แต่ไม่ว่าจะถือมาตรฐานใด ค่าฝุ่นละออง PM 2.5 ในกรุงเทพฯ ทุกวันนี้ถือว่าเข้าขั้นวิกฤติ โดยเฉพาะบริเวณริมถนนหรือบริเวณที่มีการจราจรหนาแน่นและรอบสถานที่ก่อสร้าง

PM 2.5 ช่วงลมเปลี่ยนฤดู กับผลกระทบที่ต้องรู้เรื่องสุขภาพ

PM2.5 ที่คุกคามพวกเรามาจากไหน?

PM2.5 มาจากทั้งแหล่งกำเนิดปฐมภูมิ เช่น การคมนาคมขนส่ง การผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิล การเผาในที่โล่งและอุตสาหกรรมการผลิต และแหล่งกำเนิดแบบทุติยภูมิ ซึ่งเกิดจากปฏิกิริยาเคมีในบรรยากาศโดยมีสารกลุ่มซัลเฟอร์หรือกลุ่มไนโตรเจนและแอมโมเนียเป็นสารตั้งต้น ดังนั้น การปล่อยซัลเฟอร์ไดออกไซด์และออกไซด์ของไนโตรเจนจากแหล่งกำเนิดต่างๆ โดยเฉพาะการผลิตไฟฟ้าจากฟอสซิลและการผลิตทางอุตสาหกรรม เมื่อเกิดการรวมตัวกันในบรรยากาศจะมีผลต่อการก่อตัวของ PM2.5 ขั้นทุติยภูมิอีกด้วย

ฝุ่น PM 2.5 มีผลเสียต่อร่างกายอย่างไรบ้าง?

ฝุ่น PM2.5 ถูกพิจารณาว่าเป็นมลพิษที่มีผลกระทบกับสุขภาพมากที่สุดในบรรดามลพิษทางอากาศโดยทั่วไป ด้วยขนาดที่เล็กมาก ทำให้ฝุ่นละอองพิษ PM2.5 สามารถถูกสูดเข้าลึกถึงทางเดินหายใจและปอด บางอนุภาคยังอาจเข้าสู่กระแสเลือดไหลเวียนไปทั่วร่างกาย ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพมากมาย ทั้งระยะสั้นและระยะยาว

ผลที่เกิดขึ้นทันทีระยะสั้นในวันที่อากาศไม่ดี หรือมีค่าฝุ่นมลพิษสูง ทำให้รู้สึกแสบตา แสบจมูก เจ็บคอ

ระบบที่มีผลกระทบมาก คือระบบทางเดินหายใจ เมื่อหายใจเอาฝุ่น PM2.5เข้าไป จะรู้สึกแสบจมูก ไม่สบาย ไอและมีเสมหะได้ ในคนไข้ที่มีโรคประจำตัว เช่นโรคภูมิแพ้,โรคปอด (เช่น หอบหืด, ถุงลมโป่งพอง) ต้องระวังสุขภาพเป็นพิเศษ เนื่องจากฝุ่นนี้จะทำให้โรคกำเริบได้ง่าย

ในระยะยาวมีผลทำให้เกิดโรคมะเร็งปอด และโรคระบบหัวใจและหลอดเลือดได้

PM 2.5 ช่วงลมเปลี่ยนฤดู กับผลกระทบที่ต้องรู้เรื่องสุขภาพ

ภัยร้ายต่อทางเดินหายใจและปอด 
แน่นอนว่ามลพิษในอากาศส่งผลโดยตรงกับระบบทางเดินหายใจและปอด ยิ่งเมื่อฝุ่นละอองขนาดเล็กที่ไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า  ยิ่งสามารถผ่านเข้าสู่ทางเดินหายใจได้ง่ายและรวดเร็ว ส่งผลให้ผู้ป่วยโรคหอบหืดกำเริบ หรือเป็นสาเหตุให้คนปกติเป็นหอบหืดได้เช่นกัน หากไม่รีบแก้ไข หรือไม่รู้ตัวว่าได้สูดเอามลพิษขนาดเล็กเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจและปอดจนสะสมเป็นเวลานาน อาจเป็นปัจจัยให้เกิดมะเร็งปอดได้ในที่สุด 

ภัยร้ายต่อหัวใจ
การสูดหายใจเอาฝุ่นละอองพิษเล็กจิ๋วติดต่อกันระยะหนึ่ง ส่งผลให้เกิดการตะกอนภายในหลอดเลือด จนทำให้เกิดหัวใจวาย หรือหลอดเลือดสมองตีบได้ ทั้งนี้การสัมผัสมลพิษทางอากาศยังมีผลต่อเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจ ทำให้เต้นผิดจังหวะ และอาจรุนแรงจนส่งผลให้หัวใจวายเฉียบพลัน 

ภัยร้ายต่อสมอง
เมื่อฝุ่นผงขนาดเล็กสามารถผ่านเข้าสู่กระแสเลือดและเกิดการสะสมขึ้น  ส่งผลให้ความดันโลหิตสูง และเลือดมีความหนืด ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดลิ่มเลือดในสมอง รวมถึงหลอดเลือดแดงในสมองแข็งตัว  ทำให้เส้นเลือดในสมองตีบ หรือแตก เป็นสาเหตุของโรคอัมพฤกษ์อัมพาตและเสียชีวิตได้

ภัยร้ายต่อผิว

เนื่องจากฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กมากๆ เล็กกว่าขนาดของรูขุมขน จึงสามารถซึมผ่านเข้าผิวหนัง ทำให้เกิดผื่นผิวหนังอักเสบ มีอาการแดงคัน ระคายเคืองผิว โดยเฉพาะคนที่มีปัญหาผิวแพ้ง่าย โรคภูมิแพ้ผิวหนัง จะมีผื่นกำเริบได้ง่าย

ทั้งยังทำให้ผิวหน้ามันขึ้น น้ำมันบนหน้าและฝุ่นจะทำให้เกิดการอุดตันของผิว และก่อให้เกิดสิว กระตุ้นการเกิดอนุมูลอิสระที่จะทำลายผิว ทำให้เกิดริ้วรอยเหี่ยวย่นก่อนวัย และจุดด่างดำ

กลุ่มเสี่ยงอันตรายจากฝุ่นพิษ

ชาวกรุงเทพฯ ทุกคนที่กำลังเผชิญปัญหาฝุ่นพิษที่ไม่ป้องกัน มีความเสี่ยงเกิดโรคมากน้อยขึ้นกับสุขภาพและความแข็งแรงของร่างกาย สำหรับเด็ก หญิงมีครรภ์ ผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัว โดยเฉพาะโรคปอดหรือโรคหัวใจ ถือเป็นผู้มีความเสี่ยงสูงขึ้น

เด็ก
อาจกล่าวได้ว่ายิ่งอายุน้อย ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงมากขึ้น  เนื่องจากเด็กเล็กมีภูมิคุ้มกันโรคน้อยกว่าผู้ใหญ่ อวัยวะต่างๆ ในร่างกายยังอยู่ในระยะที่กำลังพัฒนา ทั้งนี้ฝุ่นพิษในอากาศที่สามารถเข้าสู่ระทางเดินหายใจและกระแสเลือดได้ง่ายจะไปขัดขวางการเจริญเติบโตของระบบต่างๆ  หรือทำให้เกิดโรคร้ายแรงในที่สุด 

หญิงมีครรภ์
นอกจากภัยร้ายส่งผลต่อตัวคุณแม่ตั้งครรภ์ที่สูดฝุ่นละอองโดยตรงแล้ว ทารกในครรภ์ยังเป็นอันตรายด้วยเช่นกัน  มีการศึกษาพบว่ามลพิษในอากาศมีผลต่อการคลอดก่อนกำหนด  เสี่ยงแท้งบุตร และเพิ่มอัตราการตายของทารกในครรภ์ได้

ผู้สูงอายุ 
เมื่ออายุมากขึ้น อวัยวะเริ่มเสื่อมถอย ระบบการทำงานต่างๆ ในร่างกายลดลง ส่งผลให้ภูมิคุ้มกันลงดลง หากต้องเผชิญกับฝุ่นละออง อาจมีแนวโน้มเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหอบหืด โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว ควรหลีกเลี่ยงการเผชิญฝุ่นพิษให้มากที่สุด 

ผู้ป่วยหรือมีโรคประจำตัว
โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ โรคปอด และโรคหัวใจชนิดต่างๆ การสูดฝุ่นผงเข้าสู่ร่างกายโดยตรงส่งผลให้โรคกำเริบ อาจถึงกับชีวิตได้   

PM 2.5 ช่วงลมเปลี่ยนฤดู กับผลกระทบที่ต้องรู้เรื่องสุขภาพ

เราจะป้องกันและดูแลตนเองอย่างไร?

  1. หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้ง ควรอยู่ในบ้านหรือในอาคารที่มีเครื่องฟอกอากาศชนิดที่มี HEPA filter
  2. เมื่อจำเป็นต้องออกนอกบ้าน ควรสวมใส่หน้ากากชนิดที่สามารถกันฝุ่น PM2.5 ได้ และใส่ให้ถูกวิธี
  3. พยายามอยู่บ้านหรือภายในอาคารที่ปิดมิดชิด
  4. การเดินทางกลางแจ้งส่งผลให้ต้องสัมผัสและสูดดมละอองฝุ่นจำนวนมาก จึงควรหลีกเลี่ยงการออกจากบ้านโดยไม่จำเป็น โดยเฉพาะผู้ที่นิยมออกกำลังกายกลางแจ้งควรงดในช่วงที่มีภาวะหมอกควันและฝุ่นสูง เนื่องจากการใช้แรงมากหรือหายใจแรงอาจยิ่งเพิ่มการสูดเอาละอองฝุ่นผง PM2.5 เข้าสู่ทางเดินหายใจและปอดมากขึ้น
  5. อาจใช้เครื่องปรับอากาศภายในบ้านแม้อุณภูมิภายนอกไม่สูง หรือปิดหน้าต่างให้มิดชิดในช่วงที่มีมลพิษสูง  บางกรณีอาจใช้เครื่องฟอกอากาศที่มีประสิทธิภาพเพื่อช่วยกรองอนุภาคฝุ่นละอองขนาดเล็ก
  6. งดสูบบุหรี่และกิจกรรมที่ทำให้เกิดควัน
  7. รักษาสุขภาพให้แข็งแรง โดยการพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกาย ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ทานผลไม้หรือวิตามินที่สารต้านอนุมูลอิสระ (antioxidant) เช่น วิตามินซี ดื่มน้ำสะอาดเพื่อช่วยในการขับสารพิษจากร่างกาย

 

 

 

 

 

logoline