svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สุขภาพ

ภาวะแทรกซ้อนจากโรคอ้วน อันตรายที่ผู้ชายเสี่ยงมากกว่าผู้หญิง

30 มกราคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

รู้หรือไม่ "คนอ้วน" เสี่ยงเป็นโรคอะไรได้บ้าง แล้วอวบระยะไหนถึงเข้าข่ายโรคอ้วน (Obesity) ปิดท้ายกับงานวิจัยที่บ่งชี้ว่าชายที่เป็นโรคอ้วนเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนได้มากกว่าหญิง

อุบัติการณ์ "โรคอ้วน" ในประเทศไทยเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 30 หรือมีผู้ป่วยด้วยโรคอ้วนกว่า 20 ล้านคนจากประชากรทั้งหมด ผลการสำรวจสุขภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกาย ครั้งที่ 6  พบว่า คนไทยอายุ 15 ปี ขึ้นไป มีภาวะอ้วน ร้อยละ 42.2 และอ้วนลงพุง ร้อยละ 39.4 ขณะที่คนกรุงมีความชุกของภาวะอ้วนสูงที่สุด ร้อยละ 47 และผู้หญิงในกรุงเทพฯ มีความชุกภาวะอ้วนลงพุงสูงสุดถึงร้อยละ 65.3 นำมาซึ่งความเสี่ยงกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NDCs) ได้แก่ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคระบบหัวใจและหลอดเลือด และมะเร็ง

ภาวะแทรกซ้อนจากโรคอ้วน อันตรายที่ผู้ชายเสี่ยงมากกว่าผู้หญิง

ผู้ชายเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนจากโรคอ้วนมากกว่าผู้หญิง

จากงานวิจัยในหนูทดลองโดยมหาวิทยาลัยยอร์ค สหราชอาณาจักร นำโดยศาสตราจารย์ทารา ฮาส  (Tara Haas) แห่งสาขากายภาพและวิทยาศาสตร์สุขภาพ (Kinesiology and Health Science) ตีพิมพ์ในวารสาร iScience ฉบับเดือนมกราคม 2023 สรุปไว้ว่า

"ผู้ชายที่เป็นโรคอ้วนเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนได้มากกว่าผู้หญิง เนื่องจากความแตกต่างทางฮอร์โมน และกลไกทางชีวเคมีในร่างกาย เป็นผลให้เซลล์บุผนังหลอดเลือดของผู้หญิงแบ่งตัวได้เร็วกว่า ขณะที่ฝ่ายชายไวต่อภาวะอักเสบในหลอดเลือดมากกว่า"

ปัจจัยที่ส่งเสริมให้เกิดภาวะโรคอ้วน

ภาวะโรคอ้วนเกิดได้จากหลายปัจจัย โดยเฉพาะพฤติกรรมต่าง ๆ ของผู้คนที่เสี่ยงให้เกิดโรคอ้วน เช่น

  • การเลือกรับประทานอาหารที่มีปริมาณคาร์โบไฮเดรตและน้ำตาลมากเกินไป ทั้งเบเกอรี่ ขนมหวาน ขนมกรุบกรอบ น้ำหวานชง น้ำอัดลม ฯลฯ
  • การรับประทานอาหารไม่ครบหมวดหมู่
  • รับประทานอาหารฟาสต์ฟู้ดบ่อยครั้งจากภาวะที่เร่งรีบในชีวิตประจำวัน หรือติดรสชาติความอร่อยของอาหารเหล่านี้ จนกลายเป็นความเคยชินในการเลือกรับประทาน
  • ขาดการออกกำลังกายอย่างเหมาะสมเพียงพอ
  • การลดความอ้วนหรือควบคุมน้ำหนักแบบไม่ถูกวิธีที่ทำให้กลับมาประสบปัญหาอ้วนมากกว่าเดิม
  • บางรายอาจเกิดจากความผิดปกติของระบบเผาผลาญในร่างกายทำงานไม่สมบูรณ์

จะรู้ได้อย่างไรว่าเข้าข่ายโรคอ้วน (Obesity)

น้ำหนักที่เพิ่มมากขึ้น แขนขาใหญ่ขึ้น ลงพุง รับประทานมากเท่าไรก็รู้สึกว่ายังไม่อิ่ม  นอนกรน หรือมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ อาการเหล่านี้อาจไม่ได้บ่งบอกว่าคุณเป็นโรคอ้วนเสมอไป !!

โรคอ้วนสามารถบ่งชี้ได้ด้วยการวัดค่าดัชนีมวลกาย และปริมาณไขมันสะสมในร่างกาย โดยค่าที่เกินมาตรฐานอาจหมายถึง ภาวะผิดปกติที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคอ้วนและโรคแทรกซ้อนต่างๆ ร่วมด้วย

ภาวะแทรกซ้อนจากโรคอ้วน อันตรายที่ผู้ชายเสี่ยงมากกว่าผู้หญิง

"อ้วน" หมายถึง ค่าดัชนีมวลกาย (Body mass index หรือ BMI) มีค่าเกิน 25 โดยคนเอเชียอาจนับที่ตัวเลข 23 ก็ได้ ดัชนีมวลกายคำนวณได้จากค่าน้ำหนักตัวคิดเป็นกิโลกรัม หารด้วยส่วนสูงคิดเป็นเมตร ยกกำลังสอง  

ใครมีค่า BMI เกิน 25 หรือ 23 แล้วแต่กรณีถือว่าอ้วน แต่ยังไม่เป็นโรคอ้วน หากค่า BMI เกิน 30 โรคอ้วน หรือ Obesity เข้ามาเยือนเป็นที่เรียบร้อย หากค่าเกิน 40 หมายถึง เสี่ยงที่จะเสียชีวิตจากโรคหรือภาวะแทรกซ้อน 

คนอ้วนเสี่ยงเป็นโรคอะไรได้บ้าง?

ปัญหาของโรคอ้วนคือบรรดาภาวะแทรกซ้อน ได้แก่ โรคหัวใจและหลอดเลือด รวมทั้งภาวะหลอดเลือดสมองตีบ หรือแตกหรือสโตรก (Stroke) เนื่องจากโรคอ้วนก่อปัญหาความดันโลหิตสูง รวมถึงไขมันโดยเฉพาะอย่างยิ่งคอเลสเตอรอลชนิดแอลดีแอลสูง อีกโรคที่เป็นผลพวงจากโรคอ้วนคือ เบาหวานประเภทที่สอง คนเป็นโรคอ้วนนานเข้ามักมีปัญหาอินซูลินในเลือดสูง จนกระทั่งเกิดภาวะดื้อต่ออินสุลิน นำไปสู่โรคเบาหวานจำเป็นต้องใช้ยาหรืออาจถึงขนาดต้องฉีดอินซูลินก็ได้

โรคอ้วนยังทำให้เสี่ยงต่อมะเร็ง เช่น มะเร็งปากมดลูก รังไข่ เต้านม ลำไส้ใหญ่ หลอดอาหาร ตับ ถุงน้ำดี ตับอ่อน ไต ต่อมลูกหมาก สารพัดมะเร็งเหล่านี้เป็นภาวะแทรกซ้อนของโรคอ้วนเช่นเดียวกัน

ภาวะแทรกซ้อนที่พบบ่อยอีกอย่างหนึ่ง คือปัญหากับระบบย่อยอาหาร เกิดปัญหากรดไหลย้อน รวมทั้งโรคที่เกี่ยวข้องกับถุงน้ำดีและตับ อีกปัญหาหนึ่งที่มักเกิดกับคนที่มีปัญหาโรคอ้วนคือ นอนไม่หลับ หรือหลับยาก (Sleep apnea) หายใจขัดขณะหลับ อีกทั้งยังมีปัญหาข้อเข่าเสื่อมจากน้ำหนักตัวกดทับข้อต่อและกระดูกเกิดภาวะข้อเสื่อมหรือกระดูกอ่อนเสื่อม (Osteoarthritis) สุดท้ายที่พบมากในระยะหลังคืออาการรุนแรงของผู้ป่วยโควิด-19 จึงจำเป็นต้องระวังกันให้มาก

 

ความสัมพันธ์ของโรคกับความอ้วน

ไขมันพอกตับ : การรับประทานอาหารมากเกินไป เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดไขมันก่อตัวขึ้นในตับ เมื่อตับไม่ได้นำไขมันไปใช้หรือย่อยสลายอย่างที่ควรจะเป็นก็อาจเกิดการสะสมไขมันขึ้น  โดยร้อยละ 20 ของคนที่เป็นโรคอ้วนจะมีโรคไขมันพอกตับร่วมอยู่ด้วย  

ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ : สำหรับคนที่มีน้ำหนักเกินและเป็นโรคอ้วน มักมีไขมันสะสมในผนังลำคอมากขึ้น ผนังลำคอจึงหนาและมีลักษณะลำคอหดสั้นมากขึ้น ช่องลำคอจึงแคบลง ทำให้เกิดการอุดกั้นทางเดินหายใจ และเสี่ยงเกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับได้

โรคหัวใจและหลอดเลือด : โรคอ้วนมักทำให้เกิดภาวะเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดโดยตรง เนื่องจากระดับของไขมันคอเลสเตอรอลและไขมันสะสมในร่างกายสูงกว่าปกติ ส่งผลให้หลอดเลือดหนาขึ้น หลอดเลือดแดงจึงตีบแคบ ทำให้เลือดไหลเวียนได้น้อย จนเกิดหลอดเลือดอุดตันในที่สุดและอาจพัฒนากลายเป็นภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายได้

กรดไหลย้อน : ในผู้ที่เป็นโรคอ้วนจะมีความดันในช่องท้องและความดันในกระเพาะอาหารสูงขึ้น ทำให้กรดและอาหารที่กำลังย่อยในกระเพาะอาหารไหลทวนย้อนกลับเข้าสู่หลอดอาหาร เกิดเป็นโรคกรดไหลย้อนได้

ภาวะไอ จาม ปัสสาวะเล็ด : ภาวะไอ จาม ปัสสาวะเล็ดเกิดจากกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานที่คอยพยุงท่อปัสสาวะและกระเพาะปัสสาวะหย่อนยาน สามารถเกิดขึ้นได้จากภาวะผิดปกติของร่างกายด้านต่าง ๆ รวมถึงโรคอ้วนด้วย เมื่อขาดตัวช่วยพยุงท่อปัสสาวะเมื่อเวลาไอหรือจาม ท่อปัสสาวะเปิดตัวทำให้ปัสสาวะเล็ดออกมา

ประจำเดือนผิดปกติ : ในสตรีที่มีน้ำหนักเกินเกณฑ์ปกติและมีภาวะอ้วนอาจส่งผลให้ประจำเดือนมาไม่ปกติ ขาดประจำเดือนไปได้คราวละหลาย ๆ เดือน  เนื่องจากในคนอ้วนผิวหนังสามารถเปลี่ยนเซลล์ไขมันไปเป็นฮอร์โมนเอสโตรเจน ซึ่งมีผลต่อการหลั่งฮอร์โมน FSH และฮอร์โมน LH ทำให้ประจำเดือนมาไม่ปกติ

โรคเบาหวาน : น้ำหนักเกินเกณฑ์หรือความอ้วนเป็นปัจจัยหนึ่งของความเสี่ยงของการเป็นเบาหวาน  เนื่องจากในผู้ป่วยโรคอ้วน อินซูลินที่หลั่งจากตับอ่อนอาจออกฤทธิ์ไม่ดี และส่งผลให้เกิดภาวะดื้อต่ออินซูลิน  ทำให้เนื้อเยื่อตอนปลายตอบสนองต่ออินซูลินได้น้อยลง เบตาเซลล์ไม่ทำงาน ไขมันในเลือดสูง ทำให้เกิดโรคที่เกี่ยวกับระบบการเผาผลาญ (Metabolic Syndrome)

โรคข้อเสื่อม : ในการเดินของคนอ้วนแต่ละก้าวจะเกิดเเรงกดกระแทกที่ข้อเข่ามากกว่าคนไม่อ้วน อีกทั้งข้อเข่าที่มีเนื้อเยื่อไขมันมาก ๆ จะล้นไปกดเเละทำลายผิวกระดูกอ่อนที่อยู่ใกล้ ๆ เป็นการเร่งให้เกิดโรคข้อเสื่อมเร็วขึ้น


นอกจากนี้ ยังมีโรคและภาวะอื่นๆ เช่น ภาวะซึมเศร้าร่วมด้วย โดยโรคเหล่านี้อาการมักจะทุเลาหรืออาจดีขึ้นเมื่อมีน้ำหนักตัวลดลง ดังนั้น ควรดูแลใส่ใจในเรื่องของโภชนาการ เลือกรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ควบคุมน้ำหนักให้คงที่สม่ำเสมอ พร้อมการออกกำลังกายเป็นประจำ หากทำทุกวิธีการที่แนะนำมานี้แล้วยังไม่สามารถลดน้ำหนักลงได้ แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ผู้ชำนาญการเพื่อร่วมหาแนวทางและวิธีการรักษาที่เหมาะสมสำหรับแต่ละบุคคล ซึ่งการผ่าตัดกระเพาะก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ได้ผลดีต่อสุขภาพโดยรวมของร่างกาย

 

การดูแลตนเองให้ห่างไกลโรคอ้วนและโรคแทรกซ้อน

  1. ใส่ใจเรื่องอาหารการกิน โภชนาการ ควบคุมอาหาร ลดแป้ง เน้นผักและผลไม้ เพื่อเพิ่มวิตามินและกากใยไฟเบอร์ให้ร่างกาย
  2. ดื่มน้ำเปล่าสะอาดอย่างน้อย 8 – 10 แก้วต่อวัน เพราะน้ำจะช่วยขับสารพิษ รักษาสมดุล และอุณหภูมิที่เหมาะสมของร่างกาย
  3. เลือกวิธีปรุงอาหารแบบ ต้ม นึ่ง ย่างมากกว่าการทอดหรือผัด
  4. ลด ละ เลิก เครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลหรือแอลกอฮอล์สูง เช่น น้ำอัดลม (1 กระป๋องมีน้ำตาล 7 – 12 ช้อนชา) และเครื่องดื่มชาเขียว (1 ขวดมีน้ำตาล 8 – 14 ช้อนชา)
  5. ออกกำลังกายอย่างน้อยวันละ 30 นาที ตามความเหมาะสมของสภาพร่างกาย อย่าลืมคำนึงถึงความปลอดภัยและไม่ควรหักโหมจนเกินไป สำหรับผู้มีน้ำหนักมากเลี่ยงกีฬาหรือการออกกำลังที่ทำให้เกิดการกระแทกของข้อเท้า ซึ่งอาจทำให้บาดเจ็บได้ เปลี่ยนเป็นการเดินช้า ๆ โยคะ หรือว่ายน้ำ
  6. นอนหลับพักผ่อนในช่วงเวลาที่เหมาะสมคือ 22.00 – 06.00 น. โดยหลับสนิทติดต่อกันนาน เพราะการนอนหลับ ๆ ตื่น ๆ จะทำให้ระบบเผาผลาญของร่างกายเสียสมดุล
  7. เคลื่อนไหวร่างกายให้มากขึ้นในแต่ละวัน เริ่มง่าย ๆ ด้วยการแกว่งแขน ทำท่ากายบริหารง่าย ๆ เดินเล่นในสวน ขึ้นลงบันไดแทนการใช้ลิฟต์ จัดตารางการออกกำลังกายส่วนตัวที่ต้องทำสม่ำเสมอ

หากทำทุกวิถีทางแล้วยังไม่สามารถลดความอ้วนได้ ปรึกษาแพทย์ผู้ชำนาญการเพื่อหาสาเหตุและแก้ไขปัญหาอย่างเหมาะสม เช่น การผ่าตัดกระเพาะในรูปแบบต่าง ๆ ที่นอกจากรักษาโรคอ้วนแล้วยังช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ ด้วย

logoline