svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สุขภาพ

AED เครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติทางรอดยามฉุกเฉิน

27 มกราคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

รู้จักกับ AED เครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ หรือ Automated External Defibrillator เครื่องมือเพิ่มทางรอดยามฉุกเฉิน พร้อมแนะนำวิธีใช้อย่างถูกต้อง

จากข่าวกรณีการขโมยเครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าอัตโนมัติ AED ที่ใช้สำหรับช่วยปฐมบาลผู้ป่วยหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน ซึ่งติดตั้งไว้ทั่วกรุงเทพมหานคร นอกจากจะสร้างความเสียหายด้านทรัพย์สินเป็นมูลค่ากว่า 1.8 ล้านบาทแล้ว ยังมีความเสียหายที่ไม่อาจประเมินค่าได้หากเกิดกรณีฉุกเฉินจำเป็น ดังนั้น เพื่อให้ทุกคนมีส่วนร่วมและตระหนักถึงคุณค่าของเครื่องดังกล่าว เราจึงรวบรวมเรื่องต้องรู้เกี่ยวกับ "เครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าอัตโนมัติ AED" มาไว้ให้ทุกคนได้ทราบกัน

AED เครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติทางรอดยามฉุกเฉิน

AED ทางเลือกเพื่อทางรอด

ในวินาทีแห่งความเป็นความตายของชีวิต สหรับผู้ป่วยที่ต้องเผชิญกับ "ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ" หรือ "หัวใจหยุดเต้น" การช่วยเหลือยิ่งเร็วเท่าไรก็จะยิ่งช่วยเพิ่มโอกาสการรอดชีวิต ดังนั้น จึงได้มีการพัฒนาเครื่อง AED หรือเครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ (Automated External Defibrillator) ซึ่งเป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แบบพกพาชนิดหนึ่ง เพื่ออ่านค่าคลื่นไฟฟ้าหัวใจของผู้ป่วยว่าอยู่ในสภาวะใด และทำการวิเคราะห์คลื่นไฟฟ้าหัวใจว่าต้องการการช่วยเหลือในลักษณะใด โดยสามารถวินิจฉัยภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะที่เป็นอันตรายถึงชีวิตได้โดยอัตโนมัติ และสามารถให้การรักษาด้วยการช็อกไฟฟ้ากระตุกหัวใจได้โดยใช้กระแสไฟฟ้าหยุดรูปแบบการเต้นของหัวใจที่ผิดจังหวะ เพื่อเปิดโอกาสให้หัวใจกลับมาเต้นใหม่ในจังหวะที่ถูกต้อง

หลักการทำงานของ AED เครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ

เครื่อง AED คืออุปกรณ์การแพทย์แบบพกพาที่ช่วยผู้ป่วยที่เกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน จากความผิดปกติของกระแสไฟฟ้าที่กระตุ้นให้หัวใจเต้นตามจังหวะปกติ โดยจะเข้าไปหยุดและแก้ไขความผิดปกติ และกระตุ้นให้หัวใจกลับมาเต้นเพื่อสูบฉีดโลหิตไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เมื่อเริ่มใช้งาน เครื่องจะทำการอ่านและวิเคราะห์คลื่นไฟฟ้าหัวใจของผู้ป่วยว่าอยู่ในสภาวะใด จากนั้นจะแสดงผลให้ผู้ที่ช่วยเหลือทราบว่าต้องดำเนินการช่วยชีวิตแบบใด จำเป็นหรือไม่ที่จะต้องกระตุ้นหัวใจด้วยไฟฟ้า

AED เครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติทางรอดยามฉุกเฉิน

AED เครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติใช้ในสถานการณ์ใด

แม้ว่าเครื่อง AED จะสามารถเพิ่มโอกาสรอดของผู้ป่วยได้มากกว่า 50% แต่เราก็ควรจะใช้ในกรณีฉุกเฉินหรือมีความจำเป็นในกรณีดังต่อไปนี้

  • ผู้ป่วยไม่รู้สึกตัว ไม่มีปฏิกิริยาตอบสนอง แม้ว่าจะเขย่าตัวหรือเรียกชื่อ
  • ผู้ป่วยมีอาการแน่นหน้าอก หรือเป็นผู้ป่วยโรคหัวใจที่ไม่รู้สึกตัว หรือเข้าข่ายว่ามีอาการของโรคหัวใจกำเริบ และหมดสติ
  • ผู้ป่วยได้รับอุบัติเหตุจากการถูกไฟฟ้าช็อก และหมดสติ

จาก 3 กรณีข้างต้น จึงจะเห็นว่าเครื่อง AED จะใช้ในผู้ป่วยที่หมดสติ หรือไม่รู้ตัว มีข้อบ่งชี้ถึงโรคหัวใจ หรือจากสาเหตุอื่นๆ ที่ทำให้เกิดภาวะหัวใจหยุดเต้น หรือหยุดหายใจกระทันหัน หากมีอาการดังกล่าวควรจะรีบเข้าช่วยเหลือโดยเร่งด่วนภายใน 4 นาที เพื่อเพิ่มโอกาสให้ผู้ป่วยฟื้นคืนชีวิตได้อีกครั้งหนึ่ง

ควรจะติดตั้งเครื่อง AED ไว้ที่ไหนบ้าง?

ในอดีตเครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าจะใช้เฉพาะในโรงพยาบาล หรือหน่วยกู้ชีพฉุกเฉินเท่านั้น แต่จากความเป็นจริงและจากการศึกษากลับพบว่า ส่วนใหญ่ภาวะหัวใจหยุดเต้นจะเกิดนอกโรงพยาบาล หรืออยู่ระหว่างที่ผู้ป่วยใช้ชีวิตประจำวัน ดังนั้น เพื่อเพิ่มโอกาสให้ผู้ป่วยที่หัวใจหยุดเต้นอย่างเฉียบพลันมีโอกาสรอดชีวิตเพิ่มมากขึ้น จึงได้มีการแนะนำให้ติดตั้งเอาไว้ตามสถานที่ต่างๆ โดยเฉพาะสถานที่สาธารณะหรือสถานที่ชุมนุม ทั้งห้างสรรพสินค้า สำนักงาน สถานที่ราชการ สนามกีฬา ชุมชน สวนสาธารณะ ลานกีฬาหรือสนามกีฬาต่างๆ หรือภายในบ้านที่มีผู้ป่วยที่มีอาการของโรคหัวใจ เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยได้อย่างทันท่วงทีโดยบุคคลทั่วไป

AED เครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติทางรอดยามฉุกเฉิน

นาทีชีวิต ไม่ต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญก็ช่วยเหลือผู้อื่นได้

เมื่อมีผู้ป่วยหัวใจหยุดเต้น หรือหยุดหายใจ สิ่งที่ต้องทำอย่างเร่งด่วนที่สุดคือการกู้ชีพให้ฟื้นคืนมา ทั้งการเต้นของหัวใจและการคืนลมหายใจอีกครั้ง ซึ่งหากวิเคราะห์แล้วพบว่าผู้ป่วยต้องการการกู้ชีพโดยการกระตุ้นหัวใจด้วยไฟฟ้า การกระตุ้นหัวใจทันทีจะมีโอกาสรอดมากถึง 90% และถ้าหากเวลาที่ช่วยเหลือช้าลงทุกๆ 1 นาที จะลดโอกาสรอดลงไปทีละ 10% ดังนั้น จึงควรจะช่วยเหลือผู้ป่วยภายในเวลา 4 นาที ด้วยเหตุนี้ เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2558 คณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติจึงได้มีประกาศในราชกิจจานุเบกษา กำหนดให้การใช้เครื่อง AED เป็นหนึ่งในการปฐมพยาบาลเบื้องต้น ทุกคนสามารถทำการช่วยเหลือผู้ป่วยในภาวะฉุกเฉินได้ แม้ว่าจะไม่ใช่บุคลากรทางการแพทย์ก็ตาม

3H หลักการเข้าช่วยเหลือผู้ป่วยในกรณีฉุกเฉิน

ก่อนที่เราจะทราบหลักการการเข้าช่วยเหลือผู้ป่วยในกรณีฉุกเฉิน เพื่อความปลอดภัยทั้งตัวผู้ช่วยเหลือและตัวผู้ป่วย โดยจะต้องคำนึงถึงหลัก 3H เป็นหลัก ได้แก่

  • Hazard ตรวจสอบสิ่งที่เป็นอันตรายในบริเวณดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นไฟฟ้ารั่ว น้ำขัง หรือสิ่งที่เป็นอันตรายอื่น ๆ ที่อาจจะส่งผลร้ายต่อผู้ช่วยเหลือและผู้ป่วย
  • Help เข้าช่วยเหลือผู้ป่วย โดยเบื้องต้นจะแนะนำให้โทรหาหน่วยแพทย์ฉุกเฉิน 1169 เพื่อแจ้งเหตุ และปฐมพยาบาลตามคำแนะนำ
  • Hello ตรวจสอบว่าผู้ป่วยหมดสติ หรือสามารถสื่อสารได้หรือไม่ หากว่าไม่สนองตอบหรือหมดสติ ให้รีบเข้าช่วยเหลือโดยทันที

วิธีใช้เครื่อง AED เบื้องต้น

สำหรับเครื่อง AED เป็นเครื่องที่ถูกออกแบบมาให้ใช้งานง่าย มีความปลอดภัย เพียงแค่ทำตามคำแนะนำของเครื่องผ่านเสียงหรือภาพที่เครื่อง โดยมีวิธีการใช้ดังต่อไปนี้
"เปิดเครื่อง" โดยการกดปุ่มหรือเปิดฝากล่องออกมา (แล้วแต่รุ่นและยี่ห้อ) โดยจะมีเสียงและภาพแนะนำขั้นตอนการช่วยเหลือผู้ป่วยตามลำดับ ให้เราตั้งสติและทำตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด
"นำแผ่นนำไฟฟ้าติดที่ตัวผู้ป่วย" โดยลอกแผ่นพลาสติกด้านหลังติดกับหน้าอกของผู้ป่วยด้วยความรวดเร็ว แผ่นแรกให้ติดที่บริเวณใต้กระดูกไหปลาร้าด้านขวาของผู้ป่วย อีกแผ่นให้ติดใต้ราวนมข้างลำตัวด้านซ้ายของผู้ป่วย โดยต้องแน่ใจว่าผิวหนังของผู้ป่วยต้องแห้งสนิท ไม่เปียกน้ำ และดำเนินการตรวจสอบการเชื่อมต่อทุกอย่างให้เรียบร้อย

"ขั้นตอนวิเคราะห์คลื่นไฟฟ้าหัวใจของผู้ป่วย" บางเครื่องจะวิเคราะห์ให้โดยอัตโนมัติ แต่บางเครื่องจะต้องกดปุ่มเพื่อทำการวิเคราะห์ ข้อควรระวังคือ "ห้ามสัมผัสกับผู้ป่วยเด็ดขาด"

"ดำเนินการช่วยเหลือ" เมื่อการวิเคราะห์เสร็จสิ้น เครื่องจะแจ้งผลและระบุว่าควรช่วยเหลือผู้ป่วยด้วยการกระตุ้นหัวใจด้วยไฟฟ้าหรือไม่ หรือให้ช่วยเหลือด้วยการทำ CPR ก็เพียงพอ

ข้อควรระวังคือ หากเป็นการช่วยเหลือด้วยการใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจไฟฟ้าอัตโนมัติ ระหว่างที่ทำการกระตุ้นหัวใจด้วยไฟฟ้า ผู้ช่วยเหลือและบุคคลอื่นๆ จะต้องถอยห่างจากผู้ป่วยเพื่อความปลอดภัย

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีคำแนะนำถึงขั้นตอนและวิธีการจากเครื่อง แต่สำหรับผู้ที่สนใจหรือหน่วยงานต่างๆ ก็สามารถเข้าฝึกอบรมการช่วยชีวิตและการใช้เครื่อง AED อัตโนมัติได้จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ เพื่อการช่วยเหลือผู้ป่วยอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

คำแนะนำพิเศษ

สิ่งที่ผู้เข้าช่วยเหลือต้องพึงระวังอยู่เสมอ คือจะต้องคำนึงถึงความปลอดภัยมาเป็นอันดับแรก และ "ห้ามสัมผัสตัวผู้ป่วยขณะที่เครื่องกำลังวิเคราะห์คลื่นไฟฟ้าหัวใจ และระหว่างที่เครื่องกำลังกระตุ้นหัวใจผู้ป่วยด้วยไฟฟ้า โดยต้องรอจนกว่าเครื่องจะแจ้งว่าสามารถสัมผัสผู้ป่วยได้อย่างปลอดภัย"

ปัจจุบันได้มีการบังคับให้ตึกสูงในประเทศไทยติดตั้งเครื่อง AED เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยในกรณีฉุกเฉิน แต่ก็ยังมีปริมาณที่ค่อนข้างน้อย เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ที่มีการรณรงค์และติดตั้งตามอาคารสถานที่ที่เป็นที่สาธารณะหรือมีประชาชนไปใช้บริการจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม แม้ว่าทุกวันนี้การติดตั้งเครื่อง AED จะเป็นทางเลือกของเจ้าของสถานที่หรือประชาชนทั่วไป แต่การมีไว้ก็สามารถช่วยให้ผู้ป่วยมีทางรอดฟื้นคืนชีวิตได้ในกรณีฉุกเฉินเช่นกัน

 

 

source : คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี / สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ / โรงพยาบาลกรุงเทพพัทยา

logoline