svasdssvasds
logo-pwa

เพิ่ม nation online

ลงในหน้าจอหลักของคุณ

ติดตั้ง
ปิด
เนชั่นทีวี

สุขภาพ

อันตราย 'น้ำมันทอดซ้ำ' ภัยทั้งคนทอดและคนทาน

10 มกราคม 2566
412

เตือนบริโภค "น้ำมันทอดซ้ำ" อันตรายที่ไม่ควรมองข้าม ตัวการสำคัญก่อโรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ  และโรคมะเร็ง

เชื่อว่าอาหารทอดเป็นเมนูโปรดของหลายๆ คน ไม่ว่าจะเป็นไก่ทอด หมูทอด ลูกชิ้นทอด ทอดมัน กล้วยทอด และปาท่องโก๋ แต่รู้หรือไม่ว่าอาหารที่ผ่านการทอดจากน้ำมันใช้ซ้ำหลายๆ ครั้ง ส่งผลรุนแรงต่อร่างกายจากสารอันตรายที่เกิดขึ้น

อันตราย 'น้ำมันทอดซ้ำ' ภัยทั้งคนทอดและคนทาน

ภัยเงียบจากน้ำมันทอดซ้ำยังคงมีอยู่ เราจะหลีกเลี่ยงอันตรายนี้ได้อย่างไร?

น้ำมันทอดซ้ำ หรือน้ำมันที่เสื่อมคุณภาพ จะมีลักษณะเหนียวข้น สีดำ มีกลิ่นเหม็นหืน มีฟอง และเกิดควันมากขณะทอด เกิดจากการทอดซ้ำมากกว่า 1 ครั้ง เมื่อน้ำมันถูกทอดซ้ำมากๆ ที่ความร้อนสูงเป็นระยะเวลานาน ทำให้เร่งการเสื่อมสภาพของน้ำมัน ซึ่งการเสื่อมคุณภาพของน้ำมันทอดอาหารทำให้เกิดสารประกอบโพลาร์ (Polar compounds) หรือสารโพลาร์ และสารประกอบโพลีไซคลิก อะโรมาติก ไฮโดรคาร์บอน (Polycyclic Aromatic Hydrocarbon; PAHs) ซึ่งในการทอดอาหารซ้ำแต่ละครั้ง สารโพลาร์จะมีประมาณร้อยละ 25 หากมีการใช้น้ำมันนี้ทอดซ้ำอีกครั้งต่อไปสารโพลาร์ก็จะยิ่งมีมากขึ้นไปเรื่อยๆ เกินกว่าร้อยละ 25 หมายความว่าน้ำมันจะยิ่งเสื่อมสภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งกฎหมายได้กำหนดให้น้ำมันที่ใช้ทอดอาหาร หรือประกอบอาหารเพื่อจำหน่าย มีปริมาณสารโพลาร์ได้ไม่เกินร้อยละ 25 ของน้ำหนัก

สถานการณ์น้ำมันทอดซ้ำในประเทศไทย

อาหารทอดยังคงเป็นอาหารยอดนิยม ปัจจุบันคนไทยบริโภคน้ำมันสูงถึงประมาณ 1,000 ล้านลิตรต่อปี มีน้ำมันเหลือจากการทอดประมาณ 250-300 ล้านลิตรต่อปี และน้ำมันที่เหลือนี้เป็นต้นทางของ "น้ำมันทอดซ้ำ" ในปัจจุบันแม้ผู้บริโภคชาวไทยจะได้รับรู้ถึงพิษภัยของน้ำมันทอดซ้ำอย่างกว้างขวางแล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้อย่างสิ้นเชิง เนื่องจากยังคงมีผู้ประกอบการบางรายนำน้ำมันที่ใช้แล้วกลับมาใช้ช้ำอย่างไม่เหมาะสม รวมไปถึงมีการใส่สารฟอกสีในน้ำมันทอดซ้ำให้ดูเหมือนใหม่แล้วนำกลับมาขายอีก

อันตราย 'น้ำมันทอดซ้ำ' ภัยทั้งคนทอดและคนทาน

อันตรายจากน้ำมันทอดซ้ำ

- สารโพลาร์ เป็นสาเหตุทำให้เกิดความเสี่ยงโรคความดันโลหิตสูง และโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ

- สารโพลีไซคลิก อะโรมาติก ไฮโดรคาร์บอน เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคมะเร็ง

- ผู้ประกอบอาหารทอดที่สูดดมไอระเหยของน้ำมันทอดอาหารเป็นเวลานานมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งปอด

 

น้ำมันกับสุขภาพ

ไขมัน (lipid) และน้ำมัน (oil) เป็นสารชีวโมเลกุลที่เป็นมัน ไม่ละลายน้ำแต่ละลายได้ในตัวทำละลายอินทรีย์ (organic solvent) ไขมันที่เราได้จากการรับประทานพบในอาหารแทบทุกชนิด บางชนิดมีมาก บางชนิดมีน้อย ส่วนใหญ่ของไขมันที่อยู่ในอาหารคือ ไตรกลีเซอไรด์ (triglyceride) แต่ละโมเลกุลของไตรกลีเซอไรด์ ประกอบด้วยกลีเซอรอล (glycerol) และกรดไขมัน (fatty acid)

ไขมันจัดเป็นสารชีวโมเลกุลที่ให้พลังงานแก่ร่างกาย ไขมัน 1 กรัม ให้พลังงานแก่ร่างกายสูงถึง 9 กิโลแคลอรี ซึ่งสูงเป็นสองเท่าของคาร์โบไฮเดรตและโปรตีนที่ปริมาณ 1 กรัม ซึ่งให้พลังงานเพียง 4 กิโลแคลอรี ร่างกายของเราสามารถสร้างไขมันจากคาร์โบไฮเดรตได้ แต่ไม่สามารถสร้างกรดไขมันที่จำเป็นต่อร่างกาย 3 ชนิด ได้แก่ กรดไขมันไลโนเลอิก (linoleic acid) กรดไขมันไลโนเลนิก (linolenic acid) และกรดไขมันอะราชิโดนิก (arachidonic acid) ซึ่งกรดไขมันจำเป็น (essential fatty acid) เหล่านี้เป็นกรดไขมันแบบไม่อิ่มตัว เราจึงจำเป็นต้องได้รับจากอาหารเท่านั้น

อันตราย 'น้ำมันทอดซ้ำ' ภัยทั้งคนทอดและคนทาน

น้ำมันที่เราใช้ประกอบอาหารแบ่งได้เป็น 2 ชนิด คือ

1.น้ำมันสัตว์ มีกรดไขมันอิ่มตัวเป็นองค์ประกอบหลักและคอเลสเตอรอลสูง เช่น น้ำมันหมู น้ำมันไก่ เป็นต้น

2.น้ำมันจากพืช แบ่งออกได้เป็น 2 ชนิด ได้แก่

  •  น้ำมันพืชชนิดที่เป็นไขเมื่อนำไปแช่ตู้เย็นหรืออากาศเย็น น้ำมันพืชชนิดนี้ประกอบด้วยกรดไขมันอิ่มตัวผสมอยู่ในปริมาณมาก ได้แก่ น้ำมันปาล์มโอเลอิน น้ำมันมะพร้าว ซึ่งข้อเสีย คือ ทำให้คอเลสเตอรอลในเลือดสูง เสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดและหัวใจ แต่ก็มีข้อดีคือ น้ำมันชนิดนี้จะทนความร้อน ความชื้น และออกซิเจน ไม่เหม็นหืนง่าย เหมาะที่จะใช้ทอดอาหารที่ต้องใช้ความร้อนสูงนาน ๆ เช่น ปลาทั้งตัว ไก่ หมูหรือเนื้อชิ้นใหญ่ๆ
  • น้ำมันพืชชนิดที่ไม่เป็นไขเมื่อนำไปแช่ตู้เย็นหรืออากาศเย็น น้ำมันพืชชนิดนี้ ประกอบด้วย ไขมันชนิดไม่อิ่มตัวในปริมาณที่สูง ได้แก่ น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันเมล็ดทานตะวัน น้ำมันดอกคาฝอย น้ำมันข้าวโพด น้ำมันฝ้าย ไขมันชนิดนี้ย่อยง่าย ร่างกายสามารถนำไปใช้ในการสร้างเซลล์ต่างๆ จึงเหมาะสมกับเด็กที่กำลังเจริญเติบโต และน้ำมันบางชนิด (กรดโอเลอิกในน้ำมันมะกอก) ยังมีส่วนช่วยลดคอเลสเตอรอลในเลือดได้ด้วย แต่ข้อเสียของน้ำมันชนิดนี้ไม่ค่อยเสถียรจึงเสื่อมคุณภาพได้ง่าย จึงไม่เหมาะสำหรับการทอดอาหารแบบทอดท่วมที่อุณภูมิสูงและระยะเวลานาน

น้ำมันเป็นเสมือนตัวนำความร้อน ซึ่งหากได้รับอุณหภูมิสูงเป็นระยะเวลานาน หรือความชื้น จะก่อให้เกิดปฏิกิริยาเคมี (Hydrolysis, Oxidation, Polymerization) ของไขมันส่งผลให้เกิดการเสื่อมคุณภาพของน้ำมัน ทาให้น้ำมันมีสีดำขึ้น, กลิ่นเหม็นหืน, จุดเกิดควันต่ำลง, มีฟองและเหนียวหนืดขึ้น หากน้ำมันนั้นมีกรดไขมันไม่อิ่มตัวสูงมากเท่าใดการเสื่อมสภาพของน้ำมันจะเร็วขึ้นเท่านัน ซึ่งการเสื่อมสภาพนี้ ส่งผลให้มีการแตกตัวของน้ำมันได้เป็นสารโพลาร์ (Polar compound) ที่เป็นสารก่อกลายพันธุ์ สามารถสะสมในร่างกายและส่งผลกระทบต่อการทำงานของเซลล์ ส่งผลให้เกิดโรคมะเร็งในส่วนต่างๆ ของร่างกายได้ เช่น หากได้รับการสูดดมไอระเหยจากน้ำมันทอดซ้ำทำให้เกิดมะเร็งที่ปอด หรือหากรับประทานอาหารที่ใช้น้ำมันทอดซ้ำทำให้เกิดมะเร็งตับ และมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้

จากผลการศึกษาวิจัยโดยคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น พบว่า ปริมาณสารโพลาร์ที่เกิดขึ้นในน้ำมันขณะทอดอาหาร มีความสัมพันธ์กับการเกิดสาร Polycyclic aromatic hydrocarbons (PAHs) โดยเมื่อปริมาณสารโพลาร์เพิ่มสูงขึ้นก็จะเริ่มพบสาร PAHs ปริมาณสูงตามไปด้วย จึงอาจจะสรุปได้ว่าสารพิษเหล่านี้เกิดขึ้นในน้พมันขณะทอดอาหาร และเมื่อทดสอบความเป็นพิษกับเซลล์ พบว่าน้ำมันเสื่อมสภาพที่มีค่าสารโพลาร์สูงและพบสาร PAHs นั้นมีผลทำให้อัตราการตายของเซลล์เพิ่มขึ้นและแสดงผลต่อความผิดปกติของเซลล์ด้วย

นอกจากนี้ เมื่อนำน้ำมันทอดอาหารมาทอดซ้ำจะเสื่อมสภาพลงไปเรื่อยๆ เพราะได้รับความร้อน และเมื่อถึงจุดที่ปริมาณสารโพลาร์มีสัดส่วนประมาณร้อยละ 25 ของน้ำหนักน้ำมัน ระดับความเสื่อมจะยิ่งเกิดเร็วขึ้น และการเติมน้ำมันใหม่เพิ่มลงไปจะยิ่งเร่งให้น้ำมันเสื่อมเร็วขึ้นอีก

อันตราย 'น้ำมันทอดซ้ำ' ภัยทั้งคนทอดและคนทาน

การเลือกใช้น้ำมันให้เหมาะสมในการประกอบอาหาร

คุณสมบัติของน้ำมันที่ควรจะสนใจอีกจุดหนึ่งคือ จุดเกิดควันซึ่งก็คือจุดเดือดของน้ำมันเมื่อถูกความร้อนจะเกิดควัน การนำอาหารไปทอดหรือผัดนั้นควรใช้น้ำมันที่มีจุดเกิดควันสูงเพื่อป้องกันการก่ออันตรายที่จะ เกิดขึ้นต่อร่างกาย ซึ่งน้ำมันแต่ละชนิดมีคุณสมบัติและความเหมาะสมในการนำไปใช้แตกต่างกัน ดังนี้

- น้ำมันถั่วเหลือง เหมาะสำหรับทำอาหารทุกชนิดทั้งผัดและทอด แต่ไม่ควรใช้กับความร้อนสูงเกินไป

- น้ำมันรำข้าว มีจุดเกิดควันสูง เหมาะสาหรับทำอาหารทุกชนิด โดยเฉพาะการทอด อีกทั้งเป็นแหล่งท่ีมีสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือดและลดการเกิดโรคหัวใจ

- น้ำมันมะกอก มีจุดเกิดควันต่ำ ทนความร้อนไม่ค่อยได้ เป็นน้ำมันที่มีหลายระดับคุณภาพซึ่งแต่ละระดับก็นำไปปรุงอาหารได้แตกต่างกันไป

- น้ำมันดอกทานตะวัน มีจุดเกิดควันต่ำ เหมาะสาหรับทำเป็นน้ำมันสลัด ไม่เหมาะกับการน้ำไปทอดหรือผัด

- น้ำมันงา จุดเกิดควันต่ำ เหมาะสำหรับนำไปปรุงอาหารที่ไม่ต้องใช้ความร้อน เช่น การทำน้ำสลัด น้ำจิ้ม หรือใส่เพื่อดับกลิ่นคาวของอาหารทะเล

- น้ำมันปาล์ม มีจุดเกิดควันสูง เหมาะสำหรับนำมาทอดหรือผัด นำ้มันชนิดนี้นิยมนาไปผสมกับน้ำมันชนิดอื่นๆ เพื่อทำให้ราคาถูก เนื่องจากถ้าเป็นน้ำมันปาล์มร้อยเปอร์เซ็นต์จะมีราคาสูงและมีไขมันอิ่มตัวสูงมาก

คำเตือน

- หลีกเลี่ยงการซื้อน้ำมันที่ผ่านการใช้แล้ว ซึ่งมักนำมาบรรจุถุงพลาสติกวางจำหน่าย

- เลือกซื้อน้ำมันที่มีภาชนะบรรจุที่มีฉลากชัดเจน และมีเลขสารบบอาหาร ต้องไม่มีสิ่งแปลกปลอม เช่น ผงสีดำ หรือตะกอนขุ่นขาว รวมทั้งภาชนะบรรจุต้องอยู่ในสภาพปิดผนึก ไม่มีรอยฉีกขาด

- ไม่ใช้น้ำมันที่มีกลิ่นเหม็นหืน เหนียวข้น สีดำ มีฟองมาก เป็นควันง่าย และมีกลิ่นเหม็นไหม้

- ควรซับน้ำบริเวณผิวหน้าอาหารดิบก่อนทอด เพื่อชะลอการเสื่อมคุณภาพของน้ำมัน ควรทอดอาหารครั้งละไม่มากเกินไป และหลีกเลี่ยงการใช้ความร้อนสูงในการทอด

- ควรเปลี่ยนน้ำมันทอดอาหารบ่อยขึ้น หากทอดอาหารประเภทเนื้อสัตว์ที่มีส่วนผสมของเกลือหรือเครื่องปรุงรสผสมอยู่ น้ำมันที่ทอดไม่ควรใช้ทอดซ้ำเกิน 2 ครั้ง

- หมั่นกรองอาหารทิ้งระหว่างและหลังการทอดอาหาร

- การใช้น้ำมันเก่าซ้ำแล้วซ้ำอีก และเติมน้ำมันใหม่ผสมลงไป เป็นการเร่งการเสื่อมสภาพของน้ำมันทำให้เกิดสารโพลาร์สูงขึ้น เป็นอันตราย

การหลีกเลี่ยงอันตรายจากน้ำมันทอดซ้ำสำหรับผู้ปรุงอาหาร

1. คาดผ้าปิดจมูกป้องกันไอระเหยของน้ำมัน

2. ในครัวเรือนไม่ควรใช้น้ำมันทอดซ้ำเกิน 2 ครั้ง ส่วนผู้ประกอบการควรเปลี่ยนน้ำมันให้บ่อยขึ้น เมื่อต้องทอดอาหารประเภทเนื้อที่มีส่วนผสมของเกลือหรือเครื่องปรุงรสปริมาณมาก

3. ไม่ใช้ความร้อนสูงเกินไปในการทอด และหยุดให้ความร้อนทันทีหลังทอดอาหารเสร็จ

4. ซับน้ำส่วนเกินออกจากอาหารดิบก่อนนำไปทอด

5. หมั่นกรองกากอาหารทิ้งระหว่างและหลังการทอดอาหาร

6. เก็บน้ำมันที่ ผ่านการทอดไว้ในภาชนะสแตนเลสหรือแก้ว และปิดฝาให้สนิท ตั้งไว้ในที่เย็นและไม่โดนแสงสว่าง

7. ล้างกระทะและอุปกรณ์ที่ใช้ทอดอาหารทุกวัน

8. ควรติดเครื่องดูดควันบริเวณที่ทอดอาหารหรือจัดให้มีการระบายอากาศที่ดี

มาตรการทางกฎหมาย

ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 283) พ.ศ.2547 เรื่องการกำหนดปริมาณสารโพลาร์ในน้ำมันที่ใช้ทอดหรือประกอบอาหารเพื่อจำหน่าย ให้มีปริมาณสารโพลาร์ได้ไม่เกินร้อยละ 25 ของน้ำหนัก ผู้ประกอบการอาหารที่ใช้น้ำมันทอดอาหารที่มีค่าปริมาณสารโพลาร์เกินมาตรฐานที่กำหนดและจำหน่ายแก่ผู้บริโภคถือเป็นการจำหน่ายอาหารผิดมาตรฐาน ฝ่าฝืนมาตรา 25(3) แห่งพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 ระวางโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท