svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สุขภาพ

How to ผู้ป่วยเบาหวาน กินอย่างไรให้น้ำตาลไม่ขึ้น!!

10 มกราคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เปิดเคล็ด(ไม่)ลับฉบับรู้ทันโรคเบาหวาน ชวนปรับพฤติกรรมควบคุมระดับน้ำตาล เปลี่ยนแบบแผนการรับประทานอาหารเพื่อโภชนาการที่ถูกต้อง

โรคเบาหวาน เป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่เกี่ยวข้องกับระบบเมตาบอลิซึมในร่างกาย ทำให้ร่างกายไม่สามารถนำน้ำตาลไปใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เผยสถานการณ์ผู้ป่วยโรคเบาหวานโดยสถานการณ์โรคเบาหวานทั่วโลก (ตัวเลขสถิติล่าสุดในปี 2564) มีผู้ป่วยจำนวน 537 ล้านคน และคาดว่าในปี 2573 จะมีผู้ป่วยเบาหวานเพิ่มขึ้นเป็น 643 ล้านคน โดยโรคเบาหวานมีส่วนทำให้เสียชีวิตสูงถึง 6.7 ล้านคน หรือเสียชีวิต 1 ราย ในทุกๆ 5 วินาที  นอกจากนี้ โรคเบาหวานยังคงเป็นสาเหตุหลักที่ก่อให้เกิดโรคอื่นๆ ในกลุ่มโรค NCDs เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคความดันโลหิตสูง และโรคไตวายเรื้อรัง ฯลฯ

How to ผู้ป่วยเบาหวาน กินอย่างไรให้น้ำตาลไม่ขึ้น!!

แม้ว่าไม่สามารถรักษาให้หายขาด แต่หากผู้ป่วยควบคุมอาหาร ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพให้เหมาะสม ก็จะสามารถควบคุมน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับปกติ ทำให้โรคอยู่ในระยะสงบ ไม่แสดงอาการ เหมือนกับหายจากโรคแล้ว หรือเรียกว่า Remission หากผู้ป่วยดูแลระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีต่อเนื่องก็จะมีภาวะสงบนี้ได้ยาวนาน ช่วยให้แพทย์ลดหรืองดการใช้ยาเพื่อคุมระดับน้ำตาลได้

สำหรับผู้ที่มีระดับน้ำตาลปริ่มๆ เฉียดเกณฑ์โรคเบาหวาน คือมีระดับน้ำตาลก่อนอาหารเช้าอยู่ในช่วง 100–125 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร หรือมีระดับน้ำตาลหลังอาหารอยู่ในช่วง 140–199 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร โดยแพทย์ยังไม่วินิจฉัยว่าเป็นโรคเบาหวาน แต่แนะนำให้กลับไปควบคุมอาหารแทน แสดงว่ายังมีโอกาสที่จะไม่เป็นโรคเบาหวานหากกินอาหารถูกวิธี สำหรับวิธีกินต้านโรคเบาหวานและสร้างสมดุลให้ฮอร์โมนอินซูลินนั้นง่ายมาก เพียงทำตามดังนี้

How to ผู้ป่วยเบาหวาน กินอย่างไรให้น้ำตาลไม่ขึ้น!!

ปรับพฤติกรรมควบคุมระดับน้ำตาล

วิธีควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดนั้นมีหลายวิธี แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ ได้แก่

  1. รับประทานอาหารมื้อเล็กๆ ทุกๆ 3-4 ชม. ระหว่างวัน เพื่อป้องกันการเกิดภาวะน้ำตาลต่ำ
  2. เลี่ยงการกินมื้อใดมื้อหนึ่งมากเกินไปจะนำไปสู่ภาวะน้ำตาลสูง
  3. ดูแลน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ (ค่า BMI 18.5 – 22.9 kg/m2  สำหรับคนเอเชีย และ 18.5 – 24.9 kg/m2 สำหรับคนชาติอื่นๆ ที่ไม่ใช่เอเชีย) ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ลดภาวะเซลล์ดื้อต่อฮอร์โมนอินซูลิน (Insulin Resistance) ทำให้น้ำตาลที่ลอยในกระแสเลือดถูกอินซูลินพาเข้าสู่เซลล์เพื่อนำไปเผาผลาญให้เกิดพลังงาน ดังนั้นผู้ป่วยที่มีน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วนจึงแนะนำให้ลดน้ำหนัก 5% ของน้ำหนักตัว

How to ผู้ป่วยเบาหวาน กินอย่างไรให้น้ำตาลไม่ขึ้น!!

เปลี่ยนแบบแผนการรับประทานอาหาร

การปรับเปลี่ยนแบบแผนการรับประทานอาหารสามารถช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและช่วยควบคุมน้ำหนักตัวได้ ประกอบไปด้วย

  1. จำกัดปริมาณอาหารคาร์โบไฮเดรต ได้แก่ ข้าว แป้ง ขนมปัง สปาเก็ตตี้ วุ้นเส้น ข้าวโพด เผือก มัน ผลไม้ และเครื่องดื่มต่างๆ ควรได้รับปริมาณที่เหมาะสมในแต่ละมื้อ
  2. เลือกคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน เป็นคาร์โบไฮเดรตที่อุดมด้วยใยอาหาร เช่น ข้าวแป้งไม่ขัดสี ธัญพืช และผักต่าง ๆ แต่ผักบางชนิดมีคาร์โบไฮเดรตอยู่มาก เช่น ฟักทอง ไม่ควรรับประทานมากเกินไป
  3. ผลไม้ต่อวันต้องไม่มากเกินไป เพราะผลไม้เป็นอาหารที่มีน้ำตาล เรียกว่า Fructose มีอยู่ในผลไม้ทุกชนิด ไม่ว่าจะรสเปรี้ยวหรือรสหวาน แนะนำให้จำกัดการรับประทาน 3 – 4 ส่วนต่อวัน หรือ 1 ส่วนต่อมื้อ ตัวอย่าง 1 ส่วนบริโภค ได้แก่ แอปเปิ้ล 1 ลูก, กล้วยหนึ่งลูก, เมลอน 6 ชิ้นพอดีคำ
  4. เลี่ยงดื่มน้ำผลไม้ทุกชนิด เนื่องจากไม่มีใยอาหารและมีน้ำตาลค่อนข้างสูง ใยอาหารในผลไม้สามารถขัดขวางการดูดซึมน้ำตาลบางส่วนได้ ผู้ป่วยบางคนอาจเคยได้รับข้อมูลว่า ควรเลือกกินผลไม้ที่ไม่หวาน ดัชนีน้ำตาลต่ำ (Glycemic Index) แต่ที่จริงแล้วสิ่งสำคัญกว่าคือ การควบคุมปริมาณให้เหมาะสม เพราะหากกินผลไม้รสจืดในปริมาณมากก็สามารถทำให้น้ำตาลเพิ่มขึ้นสูงได้อยู่ดี
  5. เลี่ยงการรับประทานขนมหวาน จะสามารถช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้มาก เนื่องจากน้ำตาลทรายที่ใส่ในขนมหวานสามารถถูกดูดซึมได้เร็ว ดังนั้นระดับน้ำตาลในเลือดจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
  6. เลี่ยงเครื่องดื่มน้ำตาลสูง เช่น น้ำอัดลม ชา กาแฟ นมเปรี้ยว นมปรุงแต่งรสชาติต่าง ๆ น้ำสมุนไพร เป็นต้น เพื่อเป็นการจำกัดปริมาณแคลอรีที่รับประทาน หรือเพื่อเป็นการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ควรเปลี่ยนมาเป็นการใช้น้ำตาลเทียม(non-nutritive sweeteners) เช่น aspartame, saccharin, sucralose หรือหญ้าหวานแทนน้ำตาลทรายขาว หรือ น้ำตาลทรายแดง โดยสามารถอ่านรายละเอียดฉลากโภชนาการทุกครั้งก่อนเลือกซื้อ
  7. จำกัดปริมาณแอลกอฮอล์ ไม่เกิน 1 Drink ในผู้หญิง และ 2 Drink ในผู้ชาย เนื่องจากแอลกอฮอล์สามารถทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงได้เช่นกัน และไม่ควรดื่มตอนท้องว่าง เพราะจะทำให้น้ำตาลต่ำได้

ในการปรับพฤติกรรมสุขภาพรวมทั้งการรับประทานอาหารไม่มีสูตรใดหรือวิธีใดที่เหมาะสมกับคนทุกคน (No One – Size – Fits – All) ดังนั้น จึงแนะนำให้ผู้ป่วยทุกคนพบกับนักกำหนดอาหาร เพื่อประเมินความรู้ ความเข้าใจ และภาวะโภชนาการ จะได้หาแนวทางการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพที่เหมาะสมร่วมกัน พร้อมทั้งตั้งเป้าหมายที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละคน

 

ที่มา : กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข / ศูนย์เบาหวาน ไทรอยด์ และต่อมไร้ท่อ โรงพยาบาลกรุงเทพ

logoline