svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สุขภาพ

เปิดโรคประจำตัวที่เป็นแล้วห้ามดื่มกาแฟ!!

26 ธันวาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

จริงหรือไม่? ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว โรคกระเพาะ เบาหวาน ความดันสูง โรคหัวใจ โรคขาดวิตามินบี 1 กระดูกพรุน ห้ามดื่มกาแฟ!! เปิดเรื่องจริงผู้ป่วยโรคไหนควรลด โรคไหนควรเลี่ยงกาแฟให้ไกล เพื่อความปลอดภัย อาการไม่กำเริบ

คนวัยทำงานกับกาแฟเป็นเหมือนเพื่อนแท้คู่กัน เพราะใน “กาแฟ” มีสารสำคัญหลายอย่างทั้งที่ให้ผลดีและส่งผลกระทบกับร่างกาย ซึ่งหนึ่งในสารสำคัญที่รู้จักกันดีคือ “คาเฟอีน” ที่ช่วยให้สมองตื่นตัว รู้สึกกระปรี้กระเปร่า แต่ก็อาจทำให้บางคนใจสั่น ใจเต้นเร็ว ปวดหัว นอนไม่หลับ และความดันโลหิตสูง นอกจากนี้ในกาแฟยังมีสารที่ส่งผลรบกวนระดับไขมันในเลือด ด้วยเหตุนี้การดื่มกาแฟโดยเฉพาะในปริมาณมากอาจส่งผลกระทบต่อผู้ที่มีโรคประจำตัวบางโรค ดังนี้

เปิดโรคประจำตัวที่เป็นแล้วห้ามดื่มกาแฟ!!

ผู้ป่วยโรคหัวใจ

โรคหัวใจมีด้วยกันหลายประเภท อาทิ โรคหัวใจขาดเลือด โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจเต้นช้าหรือเร็วไป ในกลุ่มคนที่เป็นโรคหัวใจก็ควรระวังในการดื่มกาแฟ หลายคนอาจสังเกตตัวเองอยู่แล้วว่าหลังจากที่ดื่มกาแฟเข้าไปอาจมีอาการใจสั่น หรือบางคนอาจหัวใจเต้นเร็วได้ เรื่องจริงก็คือกาแฟทำให้หัวใจทำงานหนักขึ้น ในกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว จึงควรหลีกเลี่ยงการดื่มกาแฟ แต่สำหรับคนที่ควบคุมอาการของโรคได้และเคยดื่มกาแฟอยู่แล้ว ก็อาจจะไม่ได้เป็นข้อห้ามสำหรับคนกลุ่มนี้ สิ่งที่น่ากังวลก็คือปริมาณของคาเฟอีนที่ได้รับสำหรับผู้ป่วยกลุ่มนี้ โดยปกติแล้วไม่ควรดื่มกาแฟเกินวันละ 1-2 แก้ว หรือมากสุดก็ไม่ควรเกิน 3 แก้ว

เปิดโรคประจำตัวที่เป็นแล้วห้ามดื่มกาแฟ!! ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง

โรคความดันโลหิตสูงมักพบมากในผู้สูงอายุ และกลุ่มคนวัยทำงานที่มีความเครียดสูง เช่นเดียวกับกรณีของโรคหัวใจ กาแฟมีส่วนทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น และอาจทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น แต่สำหรับผู้ที่ควบคุมระดับความดันได้ดีและเคยดื่มกาแฟมาก่อน ก็อาจไม่ใช่ข้อห้ามในการดื่มกาแฟ สำหรับผู้ที่ยังควบคุมความดันโลหิตได้ไม่ดี อาจต้องลดปริมาณการดื่มกาแฟ หรือหยุดการดื่มกาแฟไปก่อน หากหยุดกาแฟแล้วความดันโลหิตต่ำลง อาจสรุปได้ว่ากาแฟทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้นจึงควรหลีกเลี่ยงการดื่มกาแฟ หรือในผู้ที่มีความดันโลหิตสูงเกิน 170 ขึ้นไป และไม่เคยดื่มกาแฟ ก็แนะนำให้งดการดื่มกาแฟไปก่อน

กล่าวโดยสรุปคือผู้ป่วยที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง หากยังควบคุมความดันโลหิตไม่ได้ หรือปริมาณความดันโลหิตยังสูงอยู่ และไม่ใช่ผู้ที่ดื่มกาแฟเป็นประจำ แนะนำให้งดการดื่มกาแฟ สำหรับคนที่ดื่มกาแฟอยู่เป็นประจำ แต่ความดันโลหิตยังไม่ลด แนะนำให้ลดปริมาณการดื่มลงหรืองดไปก่อนจนกว่าจะควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ทั้งนี้ ในผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงที่ควบคุมอาการไม่ได้ ควรหลีกเลี่ยงการดื่มกาแฟปริมาณมากในเวลาใกล้เคียงกัน เพราะอาจทำให้ความดันโลหิตทั้งขณะหัวใจบีบตัวและคลายตัวเพิ่มขึ้นภายใน 1 ชั่วโมงหลังการดื่ม หรืออาจเพิ่มอยู่นานถึง 3 ชั่วโมงตามปริมาณการดื่ม

เปิดโรคประจำตัวที่เป็นแล้วห้ามดื่มกาแฟ!!

ผู้ป่วยโรคเบาหวาน

จริงๆ แล้ว “กาแฟ” ไม่ได้มีผลกระทบอย่างใดต่อผู้ป่วยโรคเบาหวาน อาจมีเพียงฤทธิ์กระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนที่ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มขึ้นแต่ไม่เป็นอันตราย ทว่า ที่น่าเป็นห่วงคือสารปรุงแต่งที่อยู่ในกาแฟต่างหากที่มีผลทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น เช่น น้ำตาล นมข้นหวาน ครีมเทียม ซึ่งอาจทำให้มีภาวะไขมันในเลือดสูงตามมา สำหรับผู้ป่วยเบาหวานหากดื่มกาแฟดำก็สามารถดื่มได้ตามปกติ และในผู้ป่วยที่ยังควบคุมระดับน้ำตาลไม่ได้ หรือมีภาวะความดันโลหิตสูงและไขมันในเลือดร่วมด้วย ควรหลีกเลี่ยงการดื่มกาแฟที่ปรุงแต่งนม น้ำตาล ครีมเทียม และแนะนำให้ดื่มเป็นกาแฟดำแทนเพื่อความปลอดภัย

เปิดโรคประจำตัวที่เป็นแล้วห้ามดื่มกาแฟ!! ผู้ป่วยโรคกระเพาะอาหาร

กาแฟจะไปกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งกรดมากขึ้น สำหรับในผู้ป่วยที่เป็นโรคกระเพาะอาหารหรือมีอาการกรดไหลย้อนร่วมด้วย หรือในผู้ที่มีภาวะเลือดออกในกระเพาะอาหาร แนะนำให้งดการดื่มกาแฟไปก่อน แต่สำหรับในผู้ที่เป็นโรคกระเพาะแบบเป็นๆ หายๆ หรือนานๆ จะเป็นที ยังสามารถดื่มกาแฟได้ สอดคล้องกับในหลายๆ งานวิจัยที่ไม่พบว่ากาแฟมีฤทธิ์ทำให้อาการปวดท้อง หรืออาการจากโรคทางเดินอาหารเพิ่มขึ้น เว้นแต่ในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง เช่น มีเลือดออกในกระเพาะอาหาร เป็นแผลในกระเพาะอาหาร ที่แพทย์อาจสั่งงดการดื่มกาแฟเป็นรายๆ ไป เพื่อไม่ให้อาการที่เป็นอยู่แย่ลงไปอีก

ผู้ป่วยโรคขาดวิตามินบี 1

สำหรับผู้ป่วยโรคขาดวิตามินบี 1 จะมีอาการเหน็บชาต่างๆ ข้อแนะนำสำคัญคือ “ไม่ควรดื่มกาแฟ” หรือนับเป็นข้อห้ามเลยทีเดียว เนื่องจากกาแฟจะไปลดการดูดซึมปริมาณวิตามินที่เราได้รับในอาหาร ยิ่งไปลดการดูดซึมวิตามินบี 1 และยังกระตุ้นการขับวิตามินบี 1 ออกทางปัสสาวะ ทำให้ระดับวิตามินบี 1 ในเลือดลดลง ซึ่งจะส่งผลให้มีปัญหาหลอดเลือด ระบบสมอง ประสาท และหัวใจตามมา

ผู้ป่วยโรคกระดูกพรุน

โรคกระดูกพรุนพบมากในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน สำหรับกาแฟจะไปทำให้มีการสลายของแคลเซียมได้มากขึ้น เพิ่มการขับแคลเซียมออกทางปัสสาวะ ทำให้ความหนาแน่นแร่ธาตุในกระดูกลดลงเล็กน้อย แม้ไม่ถึงระดับที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหัก แต่ควรระมัดระวังในผู้ป่วยโรคกระดูกพรุน โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับแคลเซียมไม่เพียงพอ ดังนั้น หากมีภาวะกระดูกพรุนโดยเฉพาะในภาวะกระดูกพรุนอย่างรุนแรง แนะนำให้หลีกเลี่ยงการดื่มกาแฟโดยเด็ดขาด

ผู้ป่วยโรคระบบทางเดินปัสสาวะ 

คาเฟอีนลดการดูดน้ำกลับตอนผ่านเข้าไปในไต ทำให้ไตขับน้ำออกมาเยอะขึ้น กระตุ้นให้เกิดการปัสสาวะบ่อยขึ้น แคลเซียมซึ่งเป็นสารก่อนิ่วชนิดหนึ่งจะถูกขับออกมาพร้อมปัสาวะ ในภาวะที่มีปริมาณผิดปกติ และสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวย อาจก่อให้เกิดนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะหรือการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ การทำงานของไตเสื่อมลง และอาจเป็นอันตรายร้ายแรงถึงขั้นเกิดภาวะไตวาย

เปิดโรคประจำตัวที่เป็นแล้วห้ามดื่มกาแฟ!! ผู้ป่วยต้อหิน

สารคาเฟอีนในกาแฟมีผลทำให้ความดันตาสูงได้เช่นกัน ดังนั้น ผู้ป่วยโรคต้อหินที่จำเป็นต้องควบคุมความดันตาให้อยู่ในระดับดี จึงควรหลีกเลี่ยงการดื่มกาแฟ ชา เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน ซึ่งรวมไปถึงเครื่องดื่มชูกำลัง และน้ำอัดลม หรือต้องจำกัดปริมาณคาเฟอีนให้ไม่เกิน 200 มิลลิกรัมต่อวัน ซึ่งกาแฟแก้วเดียวก็เกินแล้ว ดังนั้น เพื่อไม่ให้เสี่ยงอาการต้อหินหนักกว่าที่เป็นอยู่ อาจลดหรืองดไปเลยก็ดี

ทั้งนี้ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ให้คำแนะนำเรื่องการดื่มกาแฟมากเกิน 4 แก้วต่อวัน อาจส่งผลกระทบกับ 4 ระบบสำคัญของร่างกาย ได้แก่ 1) ระบบประสาทส่วนกลาง  2) ระบบทางเดินอาหาร 3) ระบบการไหลเวียนโลหิต และ 4) ระบบทางเดินปัสสาวะ จึงแนะนำให้ควรดื่มกาแฟแต่พอดี เลือกกาแฟดำที่ไม่มีส่วนผสมอื่นจะได้ประโยชน์กับร่างกาย ไม่ควรดื่มกาแฟขณะท้องว่าง และไม่ดื่มร่วมกับเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนชนิดอื่น หลังดื่มกาแฟควรตามด้วยน้ำเปล่า เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำและการตกค้างของคาเฟอีนในร่างกาย

logoline