svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สุขภาพ

'มะเร็ง' กับ 'กรรมพันธุ์' สัมพันธ์กันอย่างไร?

12 ธันวาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

จริงหรือไม่! กับคำว่า “มะเร็ง” เป็นมรดกโรคร้ายที่ถ่ายทอดได้ทางพันธุกรรม แล้วสามารถตรวจหาหรือป้องกันได้อย่างไร พร้อมไขข้อสงสัย 9 คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับโรคมะเร็ง

พันธุกรรม (Heredity) หรือการถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรมจากพ่อและแม่ไปสู่รุ่นลูกหลาน สามารถส่งต่อไปยังทายาทรุ่นต่อไปได้อย่างไม่สิ้นสุด ไม่ว่าจะเป็นรูปร่าง หน้าตา หรือความเสี่ยงของการเกิดโรคต่างๆ รวมถึงโรคมะเร็งทางพันธุกรรมบางชนิด ผู้ที่ได้รับยีนผิดปกติที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมเหล่านี้มีแนวโน้มจะเกิดโรคมะเร็งสูงกว่าคนทั่วไปที่ไม่มียีนผิดปกติ และยังส่งผลให้สามารถเกิดโรคมะเร็งได้ตั้งแต่อายุน้อย ดังนั้น หากมีคนในครอบครัว หรือญาติสายตรงมีประวัติป่วยเป็นโรคมะเร็งอาจมีความเสี่ยงสูงในการเป็นมะเร็ง ฉะนั้นการตรวจกรรมพันธุ์ก่อมะเร็งจึงมีประโยชน์ในการบอกโอกาสในการเกิดโรค ทำให้สามารถหาทางป้องกัน และลดความเสี่ยงให้กับตัวเองและทายาทได้

'มะเร็ง' กับ 'กรรมพันธุ์' สัมพันธ์กันอย่างไร? “มะเร็ง” เกี่ยวข้องกับ “กรรมพันธุ์” อย่างไร?

โรคมะเร็ง คือเซลล์ที่ผิดปกติในร่างกายที่เกิดการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรม และเซลล์เหล่านี้มีการเจริญเติบโตรวดเร็วเกินปกติโดยที่ร่างกายควบคุมไม่ได้ ซึ่งปัจจัยที่จะส่งเสริมทำให้เกิดความผิดปกตินี้แบ่งเป็น ประมาณ 90% เป็นปัจจัยภายนอก เช่น พฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ ได้รับสารพิษในสิ่งแวดล้อม หรือการติดเชื้อบางชนิด เป็นต้น กับอีกประมาณ 10% เป็นปัจจัยภายในคือ ได้รับกรรมพันธุ์ที่เสี่ยงสูงในการเกิดมะเร็งมาจาก บรรพบุรุษของเราเองทำให้เซลล์ในร่างกายมีแนวโน้มที่จะเกิดมะเร็งได้สูงกว่าคนทั่วไป เช่น ถ้ามีกรรมพันธุ์ของมะเร็งเต้านม BRCA ซึ่งจะมีความเสี่ยงที่จะเกิดมะเร็งเต้านมได้สูงถึง 80% เป็นต้น

จะตรวจกรรมพันธุ์ที่เกี่ยวข้องกับมะเร็งได้อย่างไร และตรวจในมะเร็งชนิดไหนได้บ้าง

ข้อมูลโดย นพ.คมกฤช มหาพรหม จากศูนย์มะเร็ง ฮอไรซัน รพ.นครธน ระบุว่า การตรวจกรรมพันธุ์ก่อมะเร็ง ทำได้ง่ายๆ เพียงเจาะเลือด 1 หลอด ไปตรวจในห้องปฏิบัติการที่ได้การรับรองมาตรฐาน และจะได้ผลกลับมา ประมาณ 3 สัปดาห์ มะเร็งที่เลือกตรวจมักเป็นมะเร็งที่อัตราการเกิดมะเร็งโอกาสถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์สูง เช่น มะเร็งลำไส้ มะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่ มะเร็งโพรงมดลูก มะเร็งไทรอยด์ มะเร็งกระเพาะอาหารมะเร็งตับอ่อน มะเร็งไต มะเร็งต่อมลูกหมาก และมะเร็งผิวหนังเม็ดสี เป็นต้น

ตรวจแล้วมีประโยชน์อย่างไร และใครควรได้รับการตรวจบ้าง

ผู้ป่วยที่ทราบแล้วว่าเป็นมะเร็งแล้ว การตรวจเพื่อยืนยันว่าการเป็นมะเร็งนั้นสัมพันธ์กับกรรมพันธุ์หรือไม่ และอาจจะส่งผลต่อการเลือกวิธีการรักษาให้เหมาะสมมากขึ้น รวมถึง ค้นหาความเสี่ยงของคนอื่นในครอบครัวต่อไป

'มะเร็ง' กับ 'กรรมพันธุ์' สัมพันธ์กันอย่างไร? ผู้ที่ยังไม่เป็นมะเร็งและต้องการค้นหาความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งจากกรรมพันธุ์ เช่น อาจจะมีประวัติ คนในครอบครัวเป็นมะเร็ง แล้วสงสัยว่าตนเองมีความเสี่ยงหรือไม่ หรือ อาจจะไม่มีประวัติเสียงใดๆ แต่ต้องการทราบว่าตนเอง จะมีกรรมพันธุ์ก่อมะเร็งซ่อนอยู่หรือไม่ เพื่อที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเสี่ยง และเข้าสู่การตรวจคัดกรองเร็วขึ้น เพื่อพบโรคตั้งแต่ระยะเริ่มแรก

เมื่อผลออกแล้วส่งผลต่อการป้องกัน หรือรักษามะเร็งอย่างไร

ถ้าผลออกมาว่าพบกรรมพันธุ์ก่อมะเร็ง มีวิธีการป้องกัน หรือรักษามะเร็ง คือ ปรับพฤติกรรม และมีการเฝ้าระวังการเกิดมะเร็ง หรือตรวจคัดกรองกมะเร็งอย่างใกล้ชิด ในกรณีที่ยังไม่เป็นมะเร็ง

มีการให้ยาบางชนิดที่เหมาะกับมะเร็งที่เกิดจากกรรมพันธุ์ เพื่อเพิ่มการตอบสนอง และลดโอกาสการเกิดมะเร็งชนิดนั้นๆ เมื่อเทียบกับการรักษาปกติ

ทางเลือกในการผ่าตัดเอาอวัยวะที่เสี่ยงนั้นออก ในระยะเวลาที่เหมาะสม

แต่ถ้าผลออกมาว่าไม่พบกรรมพันธุ์ก่อมะเร็ง ไม่ได้หมายถึงจะไม่มีโอกาสเป็นมะเร็งเลย เนื่องจากสาเหตุมะเร็งอาจจะเกิดจาก ปัจจัยภายนอกได้ ดังนั้นท่านจึงยังมีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งเทียบเท่ากับคนทั่วไป เพียงแต่ไม่สูงเท่ากับคนที่มีกรรมพันธุ์ก่อมะเร็งในครอบครัว

อย่างไรก็ตาม การมีกรรมพันธุ์ก่อมะเร็งเป็นการบอกว่าคุณมีความเสี่ยงเกิดโรคมะเร็งมากขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นมะเร็งแน่นอน 100% โดยที่สำคัญคือหากทราบแล้วต้องปฏิบัติตัวให้เหมาะสมตามคำแนะนำของแพทย์ และหมั่นตรวจคัดกรองค้นหามะเร็งชนิดนั้นๆ อย่างสม่ำเสมอ

'มะเร็ง' กับ 'กรรมพันธุ์' สัมพันธ์กันอย่างไร? 9 คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับโรคมะเร็ง

1 มะเร็งคืออะไร

โรคมะเร็ง คือ เซลล์ที่ผิดปกติในร่างกายที่เกิดการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรม และเซลล์เหล่านี้มีการเจริญเติบโตรวดเร็วเกินปกติโดยที่ร่างกายควบคุมไม่ได้ เราจะสังเกตได้จากการที่มีก้อนเนื้อเกิดขึ้นในอวัยวะต่างๆ นอกจากนี้เซลล์มะเร็งมีคุณสมบัติที่สามารถแพร่กระจายไปอวัยวะอื่นทั่วร่างกายที่ไม่ใช่อวัยวะต้นกำเนิดได้อีกด้วย ส่งผลให้เซลล์ปกติของเนื้อเยื่อ อวัยวะต่างๆ ล้มเหลว ไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ เป็นสาเหตุให้เสียชีวิตในที่สุด

2 โรคมะเร็งคือสาเหตุการตายอันดับ 1

สำหรับในประเทศไทย โรคมะเร็งเป็นสาเหตุการตายอันดับ 1 ติดต่อกันหลายปี โดยจากข้อมูลกองยุทธศาสตร์และแผนงานสำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข 2562 พบว่าคนไทยเสียชีวิตจากโรคมะเร็งวันละ 230 คน หรือ 84,073 คนต่อปี และจากสถิติสถาบันมะเร็งแห่งชาติ พบผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ วันละ 381 คน หรือ 139,206 คนต่อปี

3 โรคมะเร็งที่พบบ่อยในคนไทย

มะเร็งที่พบมากที่สุดในเพศชาย คือ มะเร็งตับและท่อน้ำดี มะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง มะเร็งต่อมลูกหมาก และมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ส่วนอันดับโรคมะเร็งที่พบบ่อยในผู้หญิงไทย ได้แก่ มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง มะเร็งตับและท่อน้ำดี มะเร็งปอด มะเร็งปากมดลูก

4 พฤติกรรมแบบไหนทำให้เกิดมะเร็ง

ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุการเกิดมะเร็งที่แน่ชัด แต่มีปัจจัยหลักๆ ที่ทำให้มีความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งกว่าร้อยละ 90 เป็นสาเหตุจากปัจจัยภายนอก และอีกร้อยละ10 เป็นปัจจัยของพันธุกรรมในครอบครัว โดยปัจจัยภายนอกที่ว่านั้น คือ พฤติกรรมการปฏิบัติตัวให้สุ่มเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง ยกตัวอย่างเช่น

  • พฤติกรรมการกินเนื้อสัตว์ประเภทปิ้งย่าง อาหารทอด อาหารไขมันสูง หรือรับประทานอาหารซ้ำ ๆ
  • การสูบบุหรี่ (มีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคมะเร็งหลายชนิด)
  • การดื่มสุรา
  • ความเครียด
  • การได้รับรังสี 
  • การใช้สารเคมีเป็นประจำ
  • ติดเชื้อไวรัส แบคทีเรีย พยาธิ
  • ความบกพร่องของระบบภูมิคุ้มกัน
  • ความอ้วน
  • การไม่ออกกำลังกาย
  • การไม่รับประทานผัก – ผลไม้สดเป็นประจำ

5 มะเร็งสามารถวินิจฉัยได้อย่างไร

การจะวินิจฉัยมะเร็งนั้น ทำได้จาก การซักประวัติ ตรวจร่างกาย การตัดชิ้นเนื้อบริเวณที่สงสัยไปตรวจทางพยาธิวิทยา การเอกซเรย์ และ อาจจะมีการตรวจพิเศษต่างๆ ขึ้นกับ ชนิดของมะเร็งนั้นๆ และดุลยพินิจของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

6 มะเร็งแบ่งเป็นกี่ระยะ

โดยทั่วไปมะเร็ง แบ่งเป็น 4 ระยะ คือ ระยะที่ 1 – 3 (หรือระยะไม่แพร่กระจาย) กับระยะที่ 4 (หรือระยะที่โรคแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นแล้ว) เป้าหมาย ของการรักษา ระยะที่ 1-3 คือการหายขาดจากโรค ส่วนระยะที่ 4 เรารักษาเพื่อประคับประคองหรือควบคุมโรคไม่ให้ลุกลามมากขึ้น

7 มะเร็งรักษาได้อย่างไร

ทางเลือกในการรักษามะเร็งมีได้หลายวิธี เช่น การผ่าตัด การฉายแสง การให้ยาชนิดต่างๆ เช่น เคมีบำบัด ยามุ่งเป้า ภูมิคุ้มกันบำบัด การเปลี่ยนถ่ายไขกระดูก หรือ การให้การรักษาร่วมกันหลายวิธี ขึ้นอยู่กับชนิดมะเร็ง ระยะของโรคมะเร็ง และความแข็งแรงของผู้ป่วย

8 จะลดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งอย่างไร

เลิกสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์แต่พอดี ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ทานอาหารที่มีประโยชน์ เพิ่มการทานผักผลไม้ ลดพฤติกรรมการกินเนื้อสัตว์ประเภทปิ้งย่าง อาหารทอด อาหารไขมันสูง หรือรับประทานอาหารซ้ำ ๆ มีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย หลีกเลี่ยงแสงแดด สารรังสี และสารเคมีอันตรายต่างๆ หมั่นตรวจ และสังเกตความผิดปกติของร่างกายเช่น ก้อน ตามอวัยวะต่าง เลือดออกผิดปกติ น้ำหนักลดผิดปกติ ปวดท้องเรื้อรัง ไอเรื้อรัง เป็นต้น

9 มะเร็งพบเร็ว รักษาทัน ป้องกันได้

ถ้าสามารถทำการรักษาโรคมะเร็งได้อย่างทันท่วงที พบมะเร็งตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ผู้ป่วยสามารถหายขาดจากโรคได้ ในปัจจุบันแนะนำให้คนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็ง เช่น การตรวจแมมโมแกรมเต้านม การส่องกล้องลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ปอด เป็นต้น

ในปัจจุบันมีการพัฒนาการตรวจที่คลอบคลุมถึง การตรวจยีนที่สัมพันธ์กับความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งที่เกี่ยวเนื่องกับกรรมพันธุ์ ซึ่งจะทำให้ท่านตระหนักถึงภาวะเสี่ยงในครอบครัว เข้าสู่การตรวจคัดกรองให้เร็วขึ้น และสามารถมีทางเลือกเพื่อป้องกันการเกิดมะเร็งในอนาคตได้

 

logoline