svasdssvasds
เนชั่นทีวี

Health & Lifestyle

หมอเจด เผย "ลำไส้แปรปรวน" อาจเป็นเพราะ 5 อย่างนี้ แนะต้องแก้ยังไง

หมอเจด โพสต์ให้ความรู้ "ลำไส้แปรปรวน" ท้องผูกสลับท้องเสีย ถ่ายไม่สุด แน่นท้อง อาจเป็นเพราะ 5 อย่างนี้ พร้อมแนะต้องแก้ยังไง

15 เมษายน 2568 "หมอเจด" นายแพทย์เจษฎ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ได้โพสต์ให้ความรู้ด้านสุขภาพ ผ่านเพจเฟซบุ๊ก "หมอเจด" โดยระบุว่า ท้องผูกสลับท้องเสีย ถ่ายไม่สุด แน่นท้อง อาจเป็นเพราะ 5 อย่างนี้

เคยมั้ยครับ วันดีคืนดีตื่นเช้ามาท้องเสีย แต่อีกวันกลับท้องผูกจนอึดอัดไปหมด บางทีก็ถ่ายแล้วไม่สุด รู้สึกยังแน่นๆ ตึงๆ อยู่ในท้อง พอจะกินอะไรก็ต้องคิดแล้วคิดอีก เพราะกินนิดเดียว ก็รู้สึกเหมือนท้องไม่ย่อย หลายคนเจอแบบนี้กันเยอะมาก ที่พูดมามันคืออาการของ "ลำไส้แปรปรวน" 

หรือที่ทางการเรียกว่า Irritable Bowel Syndrome (IBS) ฟังชื่ออาจดูไม่ร้ายแรง แต่เอาเข้าจริงแล้วอาการมันกวนใจสุดๆ โดยเฉพาะเวลาต้องเดินทาง หรืออยู่ในที่ที่เข้าห้องน้ำลำบาก ใจมันจะพะวงทั้งวันเลย วันนี้ผมเลยอยากมาเล่าให้ฟัง จริงๆ แล้วอาการเหล่านี้มันเกิดจากอะไร แล้วต้องแก้ยังไง

1.ลำไส้เสียสมดุล เพราะโพรไบโอติกส์ในลำไส้ลดลง

หลายคนอาจไม่รู้ว่าในลำไส้ของเรามีสิ่งมีชีวิตเล็กๆ อยู่เป็นล้านๆ ตัว ซึ่งส่วนมากคือจุลินทรีย์ชนิดดีที่ช่วยดูแลสุขภาพลำไส้ของเราให้ทำงานเป็นปกติ แต่เมื่อไหร่ที่สมดุลนี้เสีย เช่น ตัวร้ายเยอะขึ้น ตัวดีหายไป ลำไส้จะทำงานผิดปกตินะ

จุลินทรีย์ดีที่ว่านี้ก็คือ "โพรไบโอติกส์" ซึ่งทำหน้าที่เหมือนผู้พิทักษ์ลำไส้ ช่วยในการย่อยอาหาร ผลิตวิตามินบางชนิด คุมเชื้อร้ายไม่ให้โต และที่สำคัญคือช่วยลดการอักเสบ แต่พอเรากินอาหารที่ไม่ดี นอนน้อย เครียด หรือใช้ยาปฏิชีวนะบ่อยๆ ตัวดีหาย ตัวร้ายโต ผลที่ตามมาก็คือท้องผูกบ้าง ท้องเสียบ้าง ลำไส้พังไม่รู้ตัว

ซึ่งแก้ได้ได้ด้วยการเติมโพรไบโอติกส์ครับ ง่ายๆ เลย คุณอาจเลือกกินโยเกิร์ตที่มีโพรไบโอติกส์ หรือจะเป็นอาหารเสริมก็ได้ แต่ต้องกินอย่างต่อเนื่อง อย่างน้อย 2-3 เดือน ถึงจะเริ่มเห็นผลชัดๆ อย่ากินแค่ครั้งสองครั้งแล้วหวังว่ามันจะดีทันทีนะครับ

2. ลำไส้บีบตัวผิดจังหวะ 

ปกติแล้ว ลำไส้ของเราจะมีจังหวะบีบตัวเป็นระเบียบเหมือนจังหวะเต้นของเพลง แต่ในคนที่เป็นลำไส้แปรปรวน ลำไส้จะเริ่มทำงานผิดจังหวะครับ บางทีก็บีบเร็วเกินไปจนถ่ายเหลว บางทีก็แทบไม่บีบเลยจนท้องผูก

นั่นคือเหตุผลที่หลายคนมีอาการสลับกันไปมา หรือบางครั้งรู้สึกเหมือนจะถ่ายออก แต่พอนั่งแล้วก็ไม่สุด เจอแบบนี้อึดอัดทั้ง วิธีช่วยให้ลำไส้ทำงานเป็นจังหวะ

  • กินอาหารให้เป็นเวลา อย่าอดมื้อเย็นบ่อยๆ
  • ดื่มน้ำเยอะๆ โดยเฉพาะตอนเช้า
  • ขยับร่างกายบ้าง ไม่ต้องออกแรงเยอะ แค่เดินสัก 20-30 นาทีต่อวันก็ช่วยให้ลำไส้ขยับดีขึ้น



ภาพโดย lifeforstock จาก freepik

ภาพโดย Darko Djurin จาก Pixabay

3. ลำไส้อักเสบ

คนที่เคยติดเชื้อในลำไส้ เช่น ท้องเสียรุนแรง หรือเคยกินอะไรไม่สะอาดแล้วปวดบิดๆ มาก่อน แม้จะหายแล้ว แต่การอักเสบเล็กๆ ในผนังลำไส้บางครั้งยังไม่หายดี ซึ่งการอักเสบแบบนี้ไม่รุนแรงมาก แต่ทำให้ลำไส้ไวและระคายเคืองได้ง่าย

ผลที่ตามมาก็คือ ท้องป่องง่าย ท้องเสียบ่อย หรือรู้สึกไม่ค่อยสบายท้องต่อเนื่อง แม้ไม่มีเชื้ออะไรแล้ว แต่มันก็ยัง "เซนซิทีฟ" กับทุกอย่างที่กิน

วิธีลดการอักเสบในลำไส้

  • หลีกเลี่ยงอาหารทอด อาหารแปรรูป และแอลกอฮอล์
  • กินอาหารที่ช่วยต้านการอักเสบ เช่น น้ำมันปลา (โอเมก้า-3), ขมิ้น, ขิง
  • ผ่อนคลาย ลดความเครียด เพราะฮอร์โมนจากความเครียดทำให้ลำไส้อักเสบมากขึ้นได้อีก


4. ระบบประสาทในลำไส้ไวเกินไป

ลำไส้ของเรามีระบบประสาทในตัวเองครับ เรียกว่า "Enteric Nervous System" นักวิทยาศาสตร์เรียกมันว่า "สมองที่สอง" เพราะมันตัดสินใจเองได้หลายอย่าง ในคนที่เป็น IBS ระบบประสาทในลำไส้ไวเกินไปมากๆ เจอลมเข้าไปนิดนึงก็อืด เจอบีบตัวเบาๆ ก็ปวดแล้ว คืออาการที่เรารู้สึกว่า "ปวดท้องบ่อยโดยไม่รู้ว่าเพราะอะไร" หรือบางทีเหมือนจะถ่ายออก แต่ก็ไม่ออก แบบนี้ก็เป็นผลจากความไวเกินไปของระบบประสาทลำไส้ครับ

วิธีดูแล "ลำไส้หรือสมองที่สอง" 

  • ฝึกผ่อนคลาย เช่น หายใจลึกๆ, นั่งสมาธิ, โยคะ
  • งดดื่มกาแฟหากรู้สึกว่าดื่มแล้วอาการแย่ลง
  • ในบางคนอาจต้องใช้ยาช่วยปรับสมดุลระบบประสาทลำไส้ ซึ่งต้องปรึกษาหมอนะครับ


5. แพ้อาหารบางอย่างแบบไม่รู้ตัว

สุดท้ายคือ การแพ้อาหารบางชนิดแบบแอบแฝง คือคุณอาจไม่ได้แพ้จนถึงขั้นแพ้รุนแรง แต่ร่างกายมีปฏิกิริยาเล็กๆ กับอาหารบางอย่าง

ซึ่งเมื่อกินเข้าไปบ่อยๆ มันจะทำให้ลำไส้ระคายเคืองเรื่อยๆ จนแปรปรวนในที่สุด อาหารกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เรียกว่า FODMAPs เป็นอาหารที่หมักได้ง่ายในลำไส้ ทำให้เกิดแก๊สเยอะ เช่น

  • หอมหัวใหญ่ กระเทียม
  • ผลไม้บางชนิด เช่น แอปเปิ้ล ลูกแพร์
  • นมวัว (โดยเฉพาะคนที่แพ้แลคโตส)
  • ถั่วบางชนิด
  • ขนมปังที่ทำจากแป้งสาลี
  • กาแฟ


ลองสังเกตดูว่าเวลากินอะไรแล้วอาการแย่ลงบ้าง ถ้ามี ให้ลองเว้นอาหารนั้น 2-3 สัปดาห์ แล้วสังเกตว่าท้องดีขึ้นไหม ไม่ได้แปลว่าต้องงดตลอดชีวิต แต่ควรเลี่ยงหรือกินให้น้อยที่สุดก่อน ลำไส้แปรปรวนไม่ใช่โรคที่รุนแรง แต่ถ้าปล่อยไว้นานก็ทำให้ชีวิตเราแย่ได้ เพราะมันมากับความอึดอัด และกระทบต่อการใช้ชีวิต

ถ้ามีอาการ หรืออ่านแล้วรู้สึกว่าตัวเองเป็นแบบนี้อยู่ ลองเติมโพรไบโอติกส์ให้พอ เลือกอาหารที่เหมาะกับร่างกาย ลดความเครียด พักผ่อนให้เพียงพอ อย่าลืมออกกำลังกายสม่ำเสมอ และสังเกตตัวเองว่าอะไรที่กระตุ้น แล้วค่อยๆ ปรับไปเรื่อยๆ ฝากด้วยนะ เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญครับ ถ้าลำไส้ดี ชีวิตก็ดีขึ้นครับ




ขอบคุณข้อมูลจาก : เพจ หมอเจด
ขอบคุณภาพ : lifeforstock จาก freepik และ Darko Djurin จาก Pixabay