svasdssvasds
เนชั่นทีวี

รักษ์โลก

ภาวะโลกรวนป่วนการบิน นักวิชาการเปิด 4 ปัจจัยที่ทำให้เครื่องบินตกหลุมอากาศ

นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมไขข้อข้องใจ โลกร้อนขึ้น...โอกาสที่เครื่องบินจะตกหลุมอากาศมากขึ้น เป็นเพราะอะไร? มาดูกัน

กรณีอุบัติเหตุเครื่องบินตกหลุมอากาศเคยเกิดขึ้นหลายครั้ง ทั้งที่รุนแรงและไม่รุนแรง โดยล่าสุดเครื่องบินโดยสารของสายการบินสิงคโปร์ แอร์ไลน์ เที่ยวบินที่ SQ321 ตกหลุมอากาศ ทำให้มีผู้เสียชีวิต 1 ราย และผู้บาดเจ็บอีกจำนวนมาก

เรื่องนี้ทำให้ ดร.สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย โพสต์ข้อมูลผ่านเฟซบุ๊ก Sonthi Kotchawat โดยอธิบายถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นดังนี้

ภาวะโลกรวนป่วนการบิน นักวิชาการเปิด 4 ปัจจัยที่ทำให้เครื่องบินตกหลุมอากาศ

โลกร้อนขึ้น โอกาสที่เครื่องบินจะตกหลุมอากาศมากขึ้น..เพราะอะไร?

1. เครื่องบินที่บินในบริเวณซีกโลกตะวันตก หรือบินจากโลกตะวันตกมายังซีกโลกตะวันออก มีโอกาสที่จะตกหลุมอากาศบ่อยขึ้น เนื่องจากอุณหภูมิในบรรยากาศของโลกที่สูงขึ้นทำให้ลมกรด หรือ Jet stream ซึ่งเป็นลมที่ใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมการบินแปรปรวน

2. Jet Streams หรือลมกรด เป็นกระแสลมที่ไหลเวียนในระดับความสูงประมาณ 7-16 กิโลเมตรเหนือจากพื้นโลกมีความเร็วสูงมากถึง 200-400 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เป็นลมที่พัดจากทิศตะวันตกมายังทิศตะวันออกของโลก

ดังนั้น ถ้าเครื่องบินบินจากซึกตะวันตกมาทางซีกตะวันออกก็ควรวางแผนการบินให้บินตามกระแสของ Jet stream จะทำให้มีความเร็วเพิ่มขึ้นช่วยประ หยัดพลังงานและลดเวลาในการบินสั้นลง แต่หากจะบินจากตะวันออกมาทางตะวันตกก็ควรบินหลบ Jet stream ให้มากที่สุด เพราะจะสวนกระแสลมทำให้ใช้เวลาการบินมากขึ้น

ภาวะโลกรวนป่วนการบิน นักวิชาการเปิด 4 ปัจจัยที่ทำให้เครื่องบินตกหลุมอากาศ

3. อุณหภูมิในบรรยากาศของโลกที่สูงขึ้น เนื่องจากโลกปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากขึ้น ทำให้ลมกรดหรือ Jet stream ลดความเร็วลงในบางช่วง มีงานวิจัยระบุว่า อุณหภูมิในบรรยากาศที่สูงขึ้นในแถบทวีปอาร์กติกซึ่งร้อนขึ้นเกือบ 4 เท่าของค่าเฉลี่ยทั่วโลก กำลังส่งผลให้กระแสลมกรด ซึ่งเป็นลมที่มีกำลังแรงพัดอยู่บนชั้นบรรยากาศในบางช่วงมีความเร็วลดลง ทำให้เกิดอากาศแปรปรวนในขณะที่อากาศปลอดโปร่ง (Clear Air Turbulance) มากขึ้น (ทั้งที่ไม่ได้บินผ่านเมฆหรือพายุ) เนื่องจากช่วงที่ความเร็วของลมกรดลดลงจะทำให้ความหนาแน่นของมวลอากาศในช่วงบริเวณดังกล่าวบางลง ซึ่งทำให้เกิด "หลุมอากาศ" ขึ้น ในขณะที่เครื่องบินได้บินผ่านหลุมอากาศ แรงยกจากปีกของเครื่องบินจะลดลงอย่างกระทันหัน ทำให้ตัวเครื่องตกลงไปในหลุมอากาศ ซึ่งจะตกมากหรือน้อยอยู่ที่ขนาดของความหนาแน่นของมวลอากาศ

4. นักวิจัยชี้ว่า อัตราการเกิดหลุมอากาศจะเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า ภายในปี 2050 และอาจมีเครื่องบินต้องเผชิญกับหลุมอากาศที่รุนแรงมากขึ้นถึง 40%

งานวิจัยชี้สภาวะโลกรวนป่วนการบิน

สำหรับข้อมูลข้างต้นสอดคล้องกับงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Geophysical Research Letters โดยทีมนักวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัย Reading ในอังกฤษ เผยว่า ตั้งแต่ปี 1979-2020 โลกเกิดหลุมอากาศขนาดรุนแรงในเส้นทางบินแถบแอตแลนติกเหนือเพิ่มขึ้นถึง 55% โดยมีสาเหตุหลักเกิดจากอากาศที่ร้อนขึ้นจาก “สภาวะโลกรวน” ส่งผลให้ความเร็วลมในชั้นบรรยากาศด้านบนเกิดการเปลี่ยนแปลง

หลุมอากาศเกิดจากอะไร
“หลุมอากาศ” เกิดจากปรากฏการณ์ที่ลมเปลี่ยนแปลงทิศทางอย่างรวดเร็วและรุนแรงทั้งในแนวราบ และแนวดิ่ง เรียกว่า ปรากฏการณ์ลมเฉือน (Wind Shear) เครื่องบินบินอยู่ในอากาศได้โดยอาศัยแรงยกจากอากาศที่เคลื่อนที่ผ่านปีก โดยปกติแล้วลมจะมีความหนาแน่นเท่าเดิมและอยู่ในทิศเดิมไปตลอดเส้นทาง แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่เกิดการเปลี่ยนแปลงของความหนาแน่นหรือทิศทางลม เมื่อนั้นหลุมอากาศจะเกิดขึ้น เวลาที่เครื่องบินต้องปะทะกับอากาศที่มีความหนาแน่นที่เปลี่ยนแปลงไป แรงยกปีกจะลดลง จึงทำให้รู้สึกวูบเหมือนเครื่องบินตกหลุมเวลาเจอหลุมอากาศ

ทว่า อากาศที่ร้อนขึ้นทำให้สภาวะลมเฉือนมีความรุนแรงขึ้น จึงพบหลุมอากาศได้ถี่ขึ้น โดยตามปกติแล้วดาวเทียมจะสามารถจับภาพกระแสลมที่เปลี่ยนแปลงไปเนื่องจากพายุได้ เราจึงสามารถพยากรณ์หลุมอากาศที่อาจเกิดขึ้นได้ แต่ปัญหาสำคัญคือหลุมอากาศที่เกิดขึ้นกระทันหันหรือหลุมอากาศในวันที่ฟ้าใส หลุมอากาศประเภทนี้จะไม่ปรากฏบนจอเรดาร์ จึงยากที่จะตรวจจับหลุมอากาศประเภทนี้ล่วงหน้าได้

สำหรับข้อเสียของการมีหลุมอากาศมากขึ้น นอกจากปัญหาการบิน ยังมีราคาที่ต้องจ่าย ทั้งความเสียหาต่อชีวิตและทรัพย์สิน ทั้งนี้ อุตสาหกรรมการบินในสหรัฐ ต้องเสียเงินจำนวนกว่า 5,000-17,000 ล้านบาทในแต่ละปีเพื่อซ่อมแซมเครื่องบินที่ชำรุดจากการตกหลุมอากาศ ส่วนในด้านสิ่งแวดล้อม การที่นักบินต้องบินระยะทางที่ไกลขึ้นเพื่อหลบเลี่ยงหลุมอากาศ ทำให้เครื่องบินต้องบินด้วยระยะทางที่มากขึ้น ใช้เวลานานขึ้น สูญเสียทรัพยาการมากขึ้น และปล่อยไอเสียที่มีทั้งก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซเรือนกระจกอื่นๆ ที่ทำร้ายโลกมากขึ้นเป็นเงาตามตัว