ต้องยอมรับว่า “กรุงเทพมหานคร” เป็นพื้นที่ผลิตขยะมูลฝอยมากที่สุดในไทย ซึ่งหลายฝ่ายทั้งภาครัฐ เอกชน โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ กรุงเทพมหานคร (กทม.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และภาคีเครือข่าย จัดงานสรุปผลการดำเนินโครงการ “BKK Zero Waste ต่อยอดแคมเปญไม่เทรวม” ภายใต้โครงการพัฒนาเขตนำร่องการจัดการขยะมูลฝอยที่ต้นทางอย่างยั่งยืนในกรุงเทพมหานคร พร้อมมอบเกียรติบัตรให้แก่หน่วยงานที่ร่วมส่งเสริมการจัดการปัญหาขยะมูลฝอยที่ต้นทาง ส่งเสริมให้นำทรัพยากรกลับมาใช้ประโยชน์ 84 แห่ง
“เรื่องการแยกขยะเป็นนโยบายที่ยากมาก เพราะประชาชนชอบบอกว่าถึงแยกไป เจ้าหน้าที่ กทม.ก็เก็บรวมอยู่ดี การทำงานครั้งนี้ทำให้เห็นถึงความพยายามที่เป็นรูปธรรม หัวใจอยู่ที่รายละเอียดการใส่ใจว่าผู้ผลิตขยะมีพฤติกรรมอย่างไร และ กทม.ก็ต้องปรับตัวเองตาม ต้องให้ความสะดวก โดยแยกประเภทพฤติกรรมของผู้ผลิตขยะให้ชัดเจน กำหนดเป้าหมาย ดำเนินการระยะยาว และหาวิธีในการขยายให้ครอบคลุมทุกเขต ขอบคุณทุกคนที่ได้มาร่วมกัน และเชื่อว่าต่อไปขยะจะกลายเป็นทองคำและสิ่งที่มีค่าได้” นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวขอบคุณภาคีเครือข่าย และมอบเกียรติบัตรให้แก่แหล่งกำเนิดที่เข้าร่วมโครงการและภาคีที่ปรึกษา ในงานสรุปผลการดำเนินโครงการ BKK Zero Waste ต่อยอดแคมเปญไม่เทรวม
สำหรับโครงการ “BKK Zero Waste ต่อยอดแคมเปญไม่เทรวม” นำร่องใน 3 เขต ได้แก่ 1.หนองแขม 2.พญาไท 3.ปทุมวัน เน้นส่งเสริมให้สถานประกอบการและประชาชนคัดแยกขยะเศษอาหารตั้งแต่ต้นทาง ทำให้ในปี 2566 มีแหล่งกำเนิดที่เข้าร่วมโครงการ ในปี 2566 จำนวน 2,805 แห่ง แยกขยะเศษอาหารได้ ทั้งหมด 22,140 ตัน หรือ 180 ตัน/วัน
โดยปีนี้มีหน่วยงานที่เข้าร่วมแบ่งเป็น
โดยในปี 2566 พบว่าจำนวนขยะลดลงจากปี 2565 เฉลี่ย 204 ตัน/วัน หรือ 74,460 ตัน/ปี หรือคิดเป็นเงิน 141,474,000 บาท ในขณะเดียวกันยังเชิญชวนประชาชนมาเข้าร่วมโครงการให้มากขึ้น โดยใช้มาตรการทางด้านเศรษฐศาสตร์ หรือภาษี ค่าธรรมเนียม และต้องทำให้เห็นว่าเมื่อแยกขยะแล้ว กทม.ไม่เทรวม
"ผลการดำเนินงานโครงการ BKK Zero Waste ใน 3 เขตพื้นที่นำร่องพบว่า ปริมาณขยะจากแหล่งกำเนิดมีปริมาณลดลง 123.70 ตัน/วัน ปริมาณขยะฝังกลบลดลง 958.91 ตัน/วัน เทียบเท่ากับช่วยลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก 1,666.10 ตันคาร์บอนไดออกไซด์" รศ.ดร.พันธวัศ สัมพันธ์พานิช ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผย
ขณะนี้ได้พัฒนาระบบฐานข้อมูลกลางผ่านเว็บไซต์ bkkzerowaste.org แสดงผลการจัดการขยะที่ต้นทางเป็นรายเขต เพื่อนำข้อมูลไปวิเคราะห์ ติดตาม ประยุกต์ใช้ และวางแผนเชิงนโยบายต่อไป พร้อมเตรียมจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้การจัดการขยะอินทรีย์ด้วยหนอนแมลงทหารดำที่สามารถกำจัดขยะอินทรีย์กว่า 200 ตัน/ปี ช่วยลดผลกระทบปัญหาสุขภาพของประชาชน และช่วยรัฐบาลลดภาระค่าใช้จ่ายในการจัดการขยะในระยะยาว
สำหรับเป้าหมายด้านความยั่งยืน นายศรีสุวรรณ ควรขจร กรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ขยะมูลฝอย นอกจากเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรค ยังก่อให้เกิดการปนเปื้อนของขยะพลาสติกลงสู่แหล่งน้ำ กลายเป็นไมโครพลาสติกกลับเข้าสู่ร่างกายส่งผลกระทบต่อสุขภาพรุนแรง สสส. ได้กำหนดให้การขับเคลื่อนงานลดผลกระทบสุขภาพจากมลพิษทางสิ่งแวดล้อมเป็น 1 ใน 7 เป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ระยะ 10 ปี โดยมุ่งเน้นการลดและคัดแยกขยะมูลฝอยที่ต้นทาง ปรับพฤติกรรมลดสร้างและคัดแยกขยะ รวมถึงการจัดการขยะอย่างยั่งยืน เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่มีผลต่อสุขภาพของประชาชน
“กรุงเทพฯ เป็นพื้นที่ผลิตขยะมูลฝอยมากที่สุดในไทย สสส. สานพลัง กทม. ภาคีเครือข่าย พัฒนาองค์ความรู้ทางวิชาการพร้อมสนับสนุนชุดเครื่องมือด้านการจัดการขยะ ส่งเสริมให้บ้าน วัด โรงเรียน ชุมชน อาคาร สำนักงาน องค์กร โรงแรม และห้างสรรพสินค้าในพื้นที่นำร่อง 3 เขต เกิดการมีส่วนร่วมและมีจิตสำนึกพลเมืองลดการสร้างขยะและคัดแยกขยะที่ต้นทาง ทำให้เกิดวัสดุรีไซเคิลและขยะอินทรีย์ที่นำมาใช้ประโยชน์ซ้ำ 884.51 ตัน หรือคิดเป็น 14.86% ของปริมาณขยะทั้งหมด” นายศรีสุวรรณ กล่าวย้ำ