ผลกระทบจากสภาวะโลกร้อนในยุคโลกเดือด เตือนสติมนุษย์ให้เร่งมือแก้ปัญหามากกว่าที่ทำอยู่ ล่าสุด ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศทางทะเล และรองคณบดีฝ่ายกิจการพิเศษ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว Thon Thamrongnawasawat ระบุข้อความว่า
ทะเลเดือดของจริงมาถึงแล้วแม่เจ้าเอ๊ย
เตือนเพื่อนธรณ์มาตั้งแต่ปีก่อน เอลนีโญบวกโลกร้อนจะทำให้ทะเลเดือด เมื่อวานพูดถึงอุณหภูมิน้ำที่สูงจนน่าสะพรึง วันนี้สูงกว่าเมื่อวานครับ
เมื่อเทียบกับต้นเมษาปีก่อน น้ำแถวภาคตะวันออกร้อนกว่าเยอะ ยังเป็นน้ำร้อนประหลาด กลางคืนก็แทบไม่เย็นลง แช่อยู่ที่ 31.5+ องศา
กลางวันไม่ต้องพูดถึง น้ำช่วงนี้ร้อนเกิน 32 องศาเกือบทั้งวัน ที่สำคัญคือช่วงนี้เพิ่งเริ่มพีค (ดูภาพประกอบ จุดแดงคือน้ำร้อนวัดบ่ายเมื่อวาน) พีคน้ำร้อนของทะเลไทยอยู่ที่ปลายเมษา/พฤษภา สถิติในปีก่อนๆ บอกว่าน้ำอาจร้อนกว่าต้นเมษา 1 องศา หมายถึงปีนี้ในช่วงนั้น น้ำทะเลอาจร้อนเกิน 33+ องศา ขาดอีกนิดเดียวก็ออนเซ็นแล้วครับ (38 องศา)
ต้องอธิบายให้เข้าใจว่า จุดที่เราวัดลึก 3-5 เมตร มิใช่น้ำแค่เข่าแค่เอวริมชายฝั่ง แถวนั้นน้ำจะร้อนยิ่งกว่า ถ้าวันไหนแดดแรงๆ จะร้อนจัด อาบแดดแช่ออนเซ็นอาจเเป็นสโลแกนใหม่เที่ยวทะเลไทยในไม่ช้า
ปะการังฟอกขาว
เรื่องนั้นแน่นอน หากร้อนระดับนี้ต่อไปอีก 2-3 สัปดาห์ ผมว่าเราจะเริ่มเห็นในบางพื้นที่ เช่น ภาคตะวันออก
NOAA ประกาศเตือนอีก 4-8 สัปดาห์ อาจเกิดปะการังฟอกขาวครั้งใหญ่ในแถบบ้านเรา
ปะการังฟอกขาวทำให้เราต้องปิดจุดท่องเที่ยว ถ้าต้องปิดเยอะ ส่งผลกระทบแน่ โดยเฉพาะช่วงเที่ยวทะเล
สัตว์น้ำชายฝั่งลดลง
เมื่อน้ำร้อนจัด ออกซิเจนในน้ำลดลง ปลายังต้องใช้ออกซิเจนเพิ่มขึ้นตามเมตาโบลิซึมร่างกาย สัตว์เล็กอยู่ไม่ได้ ปลาไม่มีอาหารเพียงพอ
สัตว์ล้วนมีลิมิตของสภาพแวดล้อมที่ตัวเองอยู่ได้ ปลาไม่มีแอร์ ปลาต้องว่ายหนีไปที่ลึก แต่ชาวประมงพื้นบ้านตามไปจับไม่ได้ เพราะออกไปไกลเกิน
เราไปเที่ยวทะเล หวังอยากกินอาหารทะเลสดๆ ซีฟู้ดราคารับได้ อาจไม่ได้กินอย่างที่คาดไว้
การเพาะเลี้ยงเดือดร้อน
ปลาในทะเลยังว่ายหนีได้ แต่ปลาในกระชังไปไม่ได้ น้ำร้อนจัดอาจเสี่ยงกับสัตว์ตายยกกระชัง หนี้สินมหาศาลในชั่วข้ามคืน
หอยหรือสัตว์น้ำอื่นๆ ก็เกิดผลกระทบ โตช้า ตัวเล็ก หรือไม่ก็ตายไปเลย
น้ำเขียวมาถี่
น้ำร้อนทำให้แพลงก์ตอนบลูมง่าย เป็นเหตุการณ์ที่เตือนกันไว้ทั่วโลก
ปีที่แล้วทะเลไทยเกิดแพลงก์ตอนบลูม 70+ ครั้ง มากกว่าเมื่อ 15-20 ปีก่อน ประมาณ 5 เท่า
ชายฝั่งตะวันออกคือเขตน้ำร้อนจัดในไทย (น้ำทะเลร้อนไม่เท่ากัน) แถวนั้นเป็นเขตฮอตสปอตของน้ำเขียวอยู่แล้ว น้ำร้อนขนาดนี้ยิ่งน่าห่วง
พายุฤดูร้อนที่มาปุ๊บ ฝนถล่มน้ำท่วมฉับพลันเป็นจุดๆ ตามที่เคยเกิดเมื่อ 3 สัปดาห์ก่อน ยังกวาดเอาธาตุอาหารลงทะเล ช่วยกระตุ้นให้เกิดน้ำเขียวง่าย
ระบบนิเวศเปลี่ยนแปลง
เท่าที่เห็นอยู่ทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นแนวปะการังหลายแห่ง แหล่งหญ้าทะเล มันก็เปลี่ยนไปเยอะแล้ว
เปรียบเสมือนคนป่วยที่โดนโรครุมเร้า น้ำร้อนจัดในครั้งนี้อาจเป็นตัวปิดจ๊อปสำหรับแนวปะการังหรือแหล่งหญ้าทะเลบางแห่ง
ทั้งหมดนั้น เราทำอะไรกับน้ำร้อนไม่ได้ แต่เราช่วยลดโลกร้อนทุกทางได้ ช่วยบรรเทาผลกระทบอื่นๆ เช่น ขยะทะเล น้ำทิ้ง เที่ยวทำลายล้าง ฯลฯ
“เรายังต้องป้อมเตรียมรับมือและปรับตัวกับเหตุการณ์น้ำร้อนเป็นประวัติการณ์เช่นนี้ได้ เตรียมตัวไว้ให้ดี ทะเลเดือดของจริงมาถึงแล้ว แม่เจ้าโว้ย จะมารายงานสถานการณ์ให้เพื่อนธรณ์เรื่อยๆ ครับ”
เรื่องนี้นับเป็นหนึ่งในผลกระทบที่เข้าใกล้คนไทยมากขึ้น ในขณะที่สถานการณ์ฝุ่นพิษ PM2.5 ยังไม่มีทีท่าว่าจะหายไป หวังว่าเรื่องราวเหล่านี้จะกระตุ้นต่อมรักษ์โลก เตือนใจให้คนไทยเร่งมือในการปกป้องโลก และร่วมกันแก้ไขให้สถานกาณ์ต่างๆ คลี่คลายลง