svasdssvasds
เนชั่นทีวี

รักษ์โลก

ชงรัฐบาลใหม่ รับมือ “เอลนีโญ” เพิ่มงบประมาณทำฝนหลวง 4 พันล้าน 

25 สิงหาคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

อธิบดีกรมฝนหลวงฯ ชงรัฐบาลใหม่เพิ่มงบทำฝนหลวง 4 พันล้าน เสนอทางรอด สู้ศึก"เอลนีโญ" รื้อสนามบินที่ไม่ใช้แล้ว ให้ตั้งหน่วยปฏิบัติการจู่โจม พลิกวิกฤติทั่วโลกขาดแคลนอาหาร ดันไทยสู่ครัวโลก ลดค่าน้ำมัน เพิ่มงบวิจัย พร้อมประกาศร่วมรบสู้ภัยแล้ง

จากผลกระทบของ "ปรากฏการณ์เอลนีโญ" ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ รัฐบาลมีความห่วงใยประชาชนในพื้นที่ที่กำลังประสบปัญหาเป็นอย่างมาก เนื่องจากปริมาณฝนที่ตกน้อยกว่าค่าปกติในหลายพื้นที่ และแหล่งนํ้ามีปริมาณนํ้าจำกัด เสี่ยงขาดแคลนนํ้าเพื่อการอุปโภคบริโภค

“กรมฝนหลวง และการบินเกษตร” หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีภารกิจหลักในการปฏิบัติการสร้างฝนเทียม บริหารจัดการนํ้าในชั้นบรรยากาศ และสนับสนุนด้านการบินในด้านการเกษตร จะมีแผนรับมือเอลนีโญ รวมถึงจะมีข้อเสนอรัฐบาลชุดใหม่อย่างไรบ้างนั้น

ล่าสุด “ฐานเศรษฐกิจ” สื่อดังในเครือเนชั่น เปิดบทสัมภาษณ์ “นายสุพิศ พิทักษ์ธรรม” อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ดังรายละเอียด
ชงรัฐบาลใหม่ รับมือ “เอลนีโญ” เพิ่มงบประมาณทำฝนหลวง 4 พันล้าน 
นายสุพิศ พิทักษ์ธรรม​​​​​​​ อธิบดีกรมฝนหลวงฯ เปิดเผยว่า ทางกรมฯได้แผนเตรียมรับมือในเรื่องสภาวะเอลนีโญมีทั้งทางด้านวิชาการและแผนปฏิบัติการ โดยได้มีการหารือกันอย่างเข้มข้น แต่ยังมีอุปสรรคเรื่องงบประมาณ จากในแต่ละปีที่ผ่านมารัฐบาลจัดสรรงบให้กับกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เฉลี่ยปีละ 2,000 ล้านบาทเศษ ล่าสุด ปี 2567 ของบ ไป 7,000 ล้านบาท แต่ได้รับการจัดสรรเพียง 2,161 ล้านบาท ซึ่งไม่เพียงพอกับภารกิจหลักในการสร้างฝนเทียม เพราะแค่ค่าเงินเดือน ค่าจ้าง และค่าใช้จ่ายประจำ งบผูกพันก็ประมาณกว่า 1,000 ล้านบาท ส่วนงบทำฝนหลวงได้ขอไป 600 ล้านบาท แต่สำนักงบประมาณจัดมาให้ 312 ล้านบาท โดยใช้ใน 77 จังหวัด เฉลี่ยแล้วจะได้กี่บาท ทั้งที่โครงการนี้มีประโยชน์มาก

ชงรัฐบาลใหม่ รับมือ “เอลนีโญ” เพิ่มงบประมาณทำฝนหลวง 4 พันล้าน 

“ปัจจุบันค่านํ้ามันเครื่องบินหมดไปแล้วตั้งแต่ปลายเดือนมิถุนายน ต้องโยกงบอื่นมาเกลี่ย ทั้งที่มีความจำเป็นเช่นเดียวกัน ทั้งนี้เพื่อให้พอแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ อีกด้านหนึ่งก็ขอเพิ่มอีกกว่า 300 ล้านบาท แต่ยังไม่ได้รับอนุมัติทั้งที่การทำฝนหลวงเป็นภารกิจเร่งด่วน แต่ขอไปทำอย่างอื่นอนุมัติทันที ทั้งที่ผ่านมาเราได้ปฏิบัติภารกิจมากมาย ทั้งช่วยแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และภาคเหนือ ดับไฟป่า แก้ปัญหาฝนทิ้งช่วงให้เกษตรกรในจังหวัดต่าง ๆ ที่ร้องขอมา เวลานี้เครื่องบินเราบินได้แค่ 20 กว่าลำ จากทั้งหมด 40 ลำ เพราะไม่ให้งบประมาณมา ตรงนี้เราจำเป็นต้องสะท้อนปัญหา เพราะเป็นข้อเท็จจริง เพื่อให้นักบริหารได้เข้าใจ”

ชงรัฐบาลใหม่ รับมือ “เอลนีโญ” เพิ่มงบประมาณทำฝนหลวง 4 พันล้าน 
นายสุพิศ กล่าวอีกว่า การเกิด “เอลนีโญ” สำหรับประเทศไทยมองว่าไม่ใช่ปัญหาเพราะเรามีฝนหลวง ซึ่งเป็นตำราพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ที่สามารถแก้ปัญหาจากเอลนีโญ ฝนตกน้อยได้ โดยการ "ทำฝนหลวง" ไม่จำเป็นเริ่มตั้งแต่ก่อเมฆ แต่สามารถโจมตีเมฆให้ควบแน่นและตกเป็นฝนลงบนพื้นที่เป้าหมายได้เลย ตนไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์ แต่เมื่อได้รับมอบหมายแล้ว ก็มาเรียนรู้โดยเชิญนักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญมานั่งติวให้ทุกวัน ตั้งแต่นั่งเป็นรองอธิบดี กระทั่งก้าวขึ้นสู่อธิบดี

ทั้งนี้ “เอลนีโญ” ที่ทำให้เกิดภัยแล้ง จากฝนตกน้อย กรมฝนหลวงฯ ช่วยได้ ซึ่งหากพูดภาพใหญ่ของการบริหารเพื่อรับมือเอลนีโญ และการน้อมนำพระบรมราโชบายของในหลวงรัชกาลที่ 10 เรื่องการสืบสานและต่อยอด เช่นเครื่องบิน สนามบิน สารฝนหลวง ต้องพัฒนา และต้องใช้งบเพิ่มในส่วนนี้ ไม่ใช่ให้งบแบบงบประจำ เพราะต้องใช้งบในการสร้างนักวิทยาศาสตร์ สร้างงานวิจัย ต้องพัฒนา จะใช้วิธีโปรยเกลือเหมือนเดิมไม่ได้ ต้องคิดแบบแนวอื่น ซึ่งจะต้องให้งบวิจัยมาด้วย ในส่วนนี้ของบไป 10 ล้านบาท แต่ได้มาเพียง 5 แสนบาท

ชงรัฐบาลใหม่ รับมือ “เอลนีโญ” เพิ่มงบประมาณทำฝนหลวง 4 พันล้าน 

อธิบดีกรมฝนหลวงฯ ได้ยกตัวอย่าง ปัจจุบันกรมฯ มีสนามบินฝนหลวง ที่จังหวัดนครสวรรค์ เพื่อปฏิบัติภารกิจในพื้นที่ภาคเหนือ (อีกแห่งมีสนามบินฝนหลวงที่ อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี) ซึ่งยังไม่เพียงพอ ดังนั้นควรจะมีพัฒนาสนามบินอื่น ๆ เพิ่มเติม โดยกระทรวงคมนาคมควรยกสนามบินที่ไม่ใช้แล้ว 10-20 ปี ที่รกร้าง และไม่ได้ใช้ทำอะไรแล้ว โอนให้กรมฝนหลวงฯ มาพัฒนา เพื่อเป็นที่ฐานปฏิบัติการฝนหลวงให้ครบวงจร และให้มีทั่วทุกภาค ตรงนี้คือความหมายของการต่อยอด ส่วนค่าทำฝนเทียม เป็นงบดำเนินงานเป็นค่านํ้ามัน เครื่องบิน ค่าล่วงเวลาเจ้าหน้าที่ ค่าสารฝนหลวง และค่าอุปกรณ์ต่าง ๆ โดยปี 2566 ของบไปกว่า 600 ล้านบาท แต่ได้มาเพียง 312 ล้านบาท

ชงรัฐบาลใหม่ รับมือ “เอลนีโญ” เพิ่มงบประมาณทำฝนหลวง 4 พันล้าน  ผ่าวิสัยทัศน์ 7 มิติ วิสัยทัศน์ สุพิศ พิทักษ์ธรรม อธิบดี "กรมฝนหลวงฯ" คนใหม่ พร้อมนำเทคโนโลยีพัฒนาระบบ ใช้ทรัพยากรณ์อย่างคุ้มค่า 

โดยวิสัยทัศน์ ของอธิบดี "กรมฝนหลวงฯ" คนใหม่ทั้ง 7 มิติ มีรายละเอียดดังต่อไปนี้ 

มิติที่ 1  การปฏิบัติการฝนหลวงหรือการทำฝนหลวงต้องแบบ "เต็มอิ่ม"  หมายถึง การระดมทรัพยากรทั้งเครื่องบิน บุคลากร และอุปกรณ์อื่นๆที่เกี่ยวข้อง ขึ้นทำฝนในพื้นที่เป้าหมายทันทีที่สภาวะอากาศพร้อม  ให้เพียงพอในเชิงปริมาณน้ำ ความชุ่มชื้น ภายในระยะเวลาอันสั้น  ซึ่งจะทำให้ฝนตกได้ในปริมาณที่มากขึ้นสำเร็จตามวัตถุประสงค์ จากเดิมเวลาที่ขึ้นปฏิบัติการทำฝนหลวง จะใช้เครื่องบินชุดละ 2 ลำเท่านั้น และจะปฏิบัติการทำฝนหลวงกระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาค ทำให้ได้ประสิทธิภาพไม่เต็มที่ หลังจากนี้กรมฝนหลวงฯจะปรับเปลี่ยนแนวทางขึ้นปฏิบัติการฝนหลวงใหม่ หากพื้นที่ใดมีสภาวะอากาศเหมาะสม สามารถขึ้นทำฝนได้ตามตำราฝนหลวงพระราชทาน ก็จะขึ้นปฏิบัติการโจมตี ก่อกวน ทำฝน หลวงเป็นทีมพร้อมกันหลายๆชุดทันที   โดยจะใช้เครื่องบินหลายลำ  ไม่ใช่แค่ 2 ลำ  ซึ่งขณะนี้มีเครื่องบินพร้อมขึ้นปฏิบัติการกว่า  30  ลำ  เมื่อปฏิบัติภารกิจทำฝนหลวงในพื้นที่แล้วเสร็จ  หากมีพื้นที่เป้าหมายอื่นๆมีสภาวะอากาศเหมาะสมก็ย้ายไปปฏิบัติการทำฝนหลวงในพื้นที่นั้นๆ พร้อมกันเป็นทีมจำนวนหลายๆชุดทันที  

"การเดินทางจากพื้นที่หนึ่งเพื่อไปปฏิบัติการทำฝนหลวงในอีกพื้นที่หนึ่ง จะใช้เวลาเดินทางไม่นาน ซึ่งการขึ้นปฏิบัติการทำฝนหลวงในลักษณะเช่นนี้ เป็นการพัฒนาต่อยอดยอดศาสตร์การทำฝนหลวงให้เกิดผลเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น  โดยมีตำราฝนหลวงพระราชทานเป็นแนวทางหลักหรือแนวทางตั้งต้น" นายสุพิศกล่าว

มิติที่ 2   นำเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพมาใช้เป็นเครื่องมือในการปฏิบัติงาน เช่น การนำอากาศยานไร้นักบิน(UAV)หรือโดรนมาใช้ในการทำฝนและการตรวจสภาพอากาศแทนการยิงบอลลูน    พัฒนาเทคโนโลยีในการโปรยสารทำฝนแบบอัตโนมัติแทนการใช้คนโปรย  ปรับวิธีการบดสารฝนหลวงโดยใช้เครื่องจักร พร้อมวิธีจัดเก็บสารฝนหลวงที่คงสภาพเพื่อยืดอายุการใช้งาน  ปรับเทคโนโลยีการลำเลียงสารทำฝนหลวงจากการใช้แรงงานคน มาเป็นการใช้รถโฟล์คลิฟท์ และใช้สายพานลำเลียงสินค้า (Conveyor) แทน เป็นต้น  ซึ่งจะช่วยเพิ่มความรวดเร็วในการทำงาน  ในขณะที่ต้นทุนในเรื่องบุคลากรและแรงงานลดลง   ซึ่งจะทำให้เพิ่มประสิทธิภาพในการทำฝนหลวงมากยิ่งขึ้น โดยต้นทุนการปฏิบัติการลดลงอย่างยั่งยืน และมั่นคง

มิติที่ 3 ใช้ทรัพยากรให้มีความคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด  โดยการกระจายต้นทุนคงที่ (Fixed Cost) เช่น การใช้เครื่องบินแต่ละลำต้องปรับปรุงให้สามารถใช้งานได้อย่างเอนกประสงค์  คุ้มค่า  และใช้ประโยชน์ได้ทุกช่วงเวลา   ในช่วงเวลาพักการทำฝนหลวง ก็สามารถนำไปใช้ในภารกิจหรือกิจกรรมอื่นๆได้  ไม่ว่าจะเป็นการบินเพื่อปฏิบัติราชการของผู้บริหารในพื้นที่ห่างไกล การบินสำรวจพื้นที่การบริหารจัดการน้ำเพื่อการป้องกัน แก้ปัญหาน้ำท่วม ภัยแล้ง การบินสำรวจทางอากาศเพื่อการเกษตร เป็นต้น

ชงรัฐบาลใหม่ รับมือ “เอลนีโญ” เพิ่มงบประมาณทำฝนหลวง 4 พันล้าน  มิติที่ 4 มุ่งเน้นการเกิดงานวิจัย   กรมฝนหลวงฯจะให้ความสำคัญกับงานวิจัย เพราะงานวิจัยจะสามารถตอบข้อสงสัย แก้ปัญหาต่างๆ ได้อย่างมีเหตุผลเป็นรูปธรรม   พร้อมทั้งจะนำมาพัฒนาต่อยอดให้สามารถนำมาใช้งานได้จริง  ทั้งที่เป็นงานวิจัยที่เกี่ยวกับภารกิจโดยตรง เช่น การวิจัยเพื่อเพิ่มหรือปรับสูตรสารฝนหลวง การวิจัยปรับวิธีการทำฝนหรือดัดแปรสภาพอากาศ หรืองานวิจัยเพื่อนำไปใช้ในกระบวนงานสนับสนุน เช่น วิจัยเพื่อลดการใช้กำลังคนในการบด และโปรยสารทำฝนหลวง กระบวนงานพื้นฐานในการบริหาร เพื่อลดขั้นตอน ระยะเวลาดำเนินการ  เป็นต้น

มิติที่ 5 ขยายเครือข่ายอาสาฝนหลวง   อาสาสมัครฝนหลวงจะเป็นตัวแทนของกรมฝนหลวงฯได้ดีที่สุด   ในการประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารจากกรมฝนหลวงฯไปสู่ประชาชนในพื้นที่  และสะท้อนปัญหาในพื้นที่ย้อนกลับมายังกรมฝนหลวงฯ  จะทำให้สามารถแก้ไขปัญหาของประชาชนได้อย่างถูกต้องและตรงกับเป้าประสงค์มากที่สุด รวมทั้งเป็นการขยายการรับรู้  สร้างการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย  ให้เกิดพฤติการณ์ "รู้เขา รู้เรา"  ทั้งนี้กรมฝนหลวงฯ พิจารณาแนวทางให้ค่าตอบแทนแก่อาสาสมัครฝนหลวง จากเดิมที่ไม่มีค่าตอบแทน  เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการทำงานเป็นอาสาสมัครฝนหลวง  โดยขณะนี้มีอาสาสมัครฝนหลวงอยู่ประมาณ 4,000 คน วางเป้าหมายที่จะขยายเพิ่มขึ้นให้ได้กว่า 10,000 คนทั่วประเทศ 

มิติที่ 6 ปรับวัฒนธรรมองค์กร เป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องปรับเปลี่ยนใหม่ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของกรมฝนหลวงฯ โดยสร้างวัฒนธรรมการทำงานเป็นทีมภายใต้เป้าหมายเดียวกัน   ไม่ใช่ต่างคนต่างอยู่  ต่างคนต่างทำหน้าที่ สร้างความสัมพันธ์ระหว่างกันอย่างต่อเนื่อง เน้นการเรียนรู้  ตลอดจนพัฒนาบุคลากรให้มีประสิทธิภาพในการทำงาน และมีความยืดหยุ่นในการทำงาน  ในขณะเดียวกันผู้บริหารจะต้อง รับรู้ถึงความสำเร็จและให้ความสำคัญของพนักงานทุกคน รับฟังความคิดเห็น และสร้างการเป็นผู้นำตัวอย่างที่ดี

“ในการยกระดับคุณภาพชีวิตนั้น  จะมีการปรับปรุงสถานที่ปฏิบัติงาน ให้น่าอยู่ น่าอาศัย  จัดให้มีสวัสดิการที่พักข้าราชการ ซึ่งปัจจุบันกรมฝนหลวงฯในส่วนกลางยังไม่มีที่พักให้ข้าราชการ นอกจากนี้จะผลักดันให้มีสถานที่ออกกำลังกาย สวัสดิการร้านค้า เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานอยู่อย่างมีความสุข โดยมีแนวคิดเบื้องต้น ที่จะขอตั้งงบประมาณเพื่อจัดสร้างอาคารรวมแบบ Government Complex ซึ่งประกอบด้วยที่ทำงาน ห้องชุด ที่จอดรถ ร้านค้า ที่อบรมสัมมนา  โซนกีฬา ในอาคารเดียว  โดยจะสร้างที่กรมฝนหลวงฯ  รวมทั้งยังจะมีการสร้างศูนย์ฝึกอบรมการบินกรมฝนหลวงและการบินเกษตร  ที่จ.ตาก  เพื่อใช้เป็นศูนย์ฝึกอบรม เพิ่มทักษะการบิน เพราะการบินเพื่อทำฝนหลวงนั้นจะบินไม่เหมือนการบินทั่วไป ต้องฝีกบินก่อน ต้องรู้หลักการโจมตี การก่อกวน และการเลี้ยงเมฆ ว่าจะดำเนินการบินอย่างไร ถึงจะประสบผลสำเร็จและปลอดภัย ไม่มีอันตราย  รวมทั้งอาจจะต้องซื้อ เครื่องฝึกจำลองการบิน (Flight Simulator) มาใช้ในการฝึกบินด้วย" นายสุพิศกล่าว

มิติที่ 7 ยกระดับธรรมาภิบาลในภาครัฐ เน้นความโปร่งใสตรวจสอบได้ โดยเฉพาะการจัดซื้อจัดจ้าง จะต้องถูกต้องตามกฎระเบียบ ข้าราชการของกรมฝนหลวงฯทุกคนจะต้องไม่ถูกสอบสวนในเรื่องทุจริต  การบริหารงบประมาณให้เป็นไปตามระเบียบ กฎหมาย เป็นธรรม มีการวิเคราะห์ข้อดี ข้อเสีย เพื่อชั่งน้ำหนักเพื่อประโยชน์สูงสุดของราชการ ด้วย 6 หลักการคือ หลักคุณธรรม หลักนิติธรรม หลักความโปร่งใส หลักความมีส่วนร่วม หลักความรับผิดชอบ หลักความคุ้มค่า เช่น ซื้อเครื่องบิน  เครื่องจักรต่างๆ จะ ต้องใช้งานได้จริง มีอายุยาวนาน คุ้มค่ากับงบประมาณ   เป็นต้น

ความยิ่งใหญ่ของผู้นำนั้น  จะต้องปราศจากข้อครหาเรื่องการคอรัปชั่น 

ชงรัฐบาลใหม่ รับมือ “เอลนีโญ” เพิ่มงบประมาณทำฝนหลวง 4 พันล้าน 

“ผมเหลือเวลา 2 ปีในตำแหน่งอธิบดี ดังนั้นจึงขอพูดเพื่อให้คนรุ่นหลัง และผู้ใหญ่ระดับบริหารได้รับทราบความจริง ทั้งนี้แม้รัฐบาลได้เห็นชอบงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567  (วงเงิน 3.35 ล้านล้านบาทไปแล้วเมื่อเดือนมีนาคม) แต่ก็คาดหวังรัฐบาลใหม่จะรื้องบประมาณใหม่ และคาดหวังงบทำฝนหลวงจะได้เพิ่มปีละ 4,000 ล้านบาท สามารถสู้ภัยเอลนีโญได้อย่างแน่นอน และจะส่งผลให้ประเทศไทยสามารถพลิกวิกฤตเป็นโอกาสในการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารที่อยู่ในช่วงขาขึ้น จากหลายภูมิภาคของโลกขาดแคลนอาหาร” นายสุพิศ กล่าวตอนท้าย

ชงรัฐบาลใหม่ รับมือ “เอลนีโญ” เพิ่มงบประมาณทำฝนหลวง 4 พันล้าน 
 

logoline