svasdssvasds
เนชั่นทีวี

รักษ์โลก

"ดร.ธรณ์" ส่งคำเตือน จะเกิดอะไรขึ้น หากเกิด "ดับเบิลเอลนีโญ"

05 กรกฎาคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ชวนสายรักษ์โลก สายสิ่งแวดล้อม สายเที่ยว และทุกคนบนโลก มาร่วมเกาะติดโพสต์ "ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์" ล่าสุดได้อัปเดตสถานการณ์ "เอลนีโญ" เตือนจะเกิดอะไรขึ้นหากเกิด "ดับเบิลเอลนีโญ" ทะเลเดือดร้อนหนักแน่ๆ

กระแสร้อนๆ ประเด็นโลกร้อน โลกร้อง โลกรวน เที่ยวล่าสุด!!

ทางด้าน ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้พูดถึงสถานการณ์ "เอลนีโญ" ผ่านทางเฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat ใจความที่น่าสนใจ ระบุไว้ว่า

\"ดร.ธรณ์\" ส่งคำเตือน จะเกิดอะไรขึ้น หากเกิด \"ดับเบิลเอลนีโญ\" ผมเพิ่งมีโอกาสคุยกับ ดร.ชวลิต และ ดร.วิษณุ สองผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ในรายการของคุณสุทธิชัย หยุ่น จึงอยากสรุปสถานการณ์ให้เพื่อนธรณ์ครับ

\"ดร.ธรณ์\" ส่งคำเตือน จะเกิดอะไรขึ้น หากเกิด \"ดับเบิลเอลนีโญ\"

เอลนีโญเริ่มต้นแล้ว

และจะลากยาวไปอย่างน้อยถึงต้นปีหน้า แต่แบบจำลองทำนายให้แม่นยำได้ประมาณนั้น หลังจากนั้นยังบอกไม่ได้

หน้าฝนของเหนือกลางอีสานมี 2 ช่วง เราผ่านช่วงแรกไปแล้ว ฝนน้อยกว่าปรกติประมาณ 20%

ฝนจะทิ้งช่วง กลับมาอีกทีกลางสิงหาคม

ต้นทุนน้ำก่อนเข้าหน้าฝน มีน้ำในเขื่อน/ระบบชลประทาน 35%

เนื่องจากฝนช่วงแรกน้อย การเก็บน้ำจึงไม่ได้มาก ต้นทุนน้ำตอนนี้จึงน่าเป็นห่วง ขึ้นกับฝนช่วงสองว่าเราจะทำได้แค่ไหน

ยังขึ้นกับการปรับตัวของภาคเกษตร เราใช้น้ำแบบเดิมไม่ได้ อย่าให้ความเคยชินใน 2-3 ปีก่อนมาลวงตาเรา

พื้นที่เกษตรของเราค่อนหนึ่งอยู่นอกพื้นที่ชลประทาน อันนั้นยิ่งมีน้ำน้อยเข้าไปใหญ่

ผลผลิตการเกษตรจะลดลง เช่น ข้าว อ้อย ทุกฝ่ายออกมาเตือนเรื่องการใช้น้ำในภาคการเกษตร

\"ดร.ธรณ์\" ส่งคำเตือน จะเกิดอะไรขึ้น หากเกิด \"ดับเบิลเอลนีโญ\"

ผลกระทบทั่วอาเซียน อินโดอาจโดนหนัก เวียดนามก็ลำบาก เพราะน้ำเค็มหนุนส่งผลเยอะมากในพื้นที่ปลูกข้าวปากน้ำโขง

คาดการณ์จากเอลนีโญในอดีตว่า รายได้เกษตรกรไทยอาจลดลง 5% (เปลี่ยนแปลงได้ขึ้นกับว่าแรงแค่ไหนและการรับมือว่าทำแค่ไหน)

ผลกระทบในด้านอื่นๆ ยังมีอีกมาก เช่น ไฟป่า/ฝุ่น ฤดูฝุ่นปีนี้จะยาวนานและแรงกว่าปีก่อน

ยังรวมถึงฝุ่นจากไฟป่าข้ามพรมแดนจากอินโดที่ต้องตามดูในภาคใต้ ปีนี้อาจรุนแรง สิงคโปร์เริ่มเตือนพลเมืองแล้ว (ไฟอินโดจะเริ่มช่วงกลางปี)

เอลนีโญแรงตั้งแต่กันยายนไปจนถึงต้นปีหน้า เป็นช่วงหน้าฝนภาคใต้ หลายคนจึงออกมาเตือนว่าภาคใต้ต้องระวังเรื่องน้ำให้ดีเพราะฝนปีนี้อาจน้อย

 

 

เพื่อนธรณ์ที่ทำงานโรงแรม/ภาคบริการหรือกิจการอื่นๆ ที่ต้องการน้ำมาก มองทางหนีทีไล่ไว้ล่วงหน้าด้วยนะครับ น้ำอาจหายาก/แพง

กรณีแย่สุดคือเจอดับเบิ้ลเอลนีโญ ต่อเนื่องจากปีนี้ถึงปี 68

อันนั้นแย่จริงเพราะปีนี้เรายังมีต้นทุนน้ำจากปีที่แล้ว (ลานีญา) แต่ปีนี้เราแล้ง ปีหน้าเราแล้งซ้ำ


\"ดร.ธรณ์\" ส่งคำเตือน จะเกิดอะไรขึ้น หากเกิด \"ดับเบิลเอลนีโญ\"

อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีใครยืนยันสถานการณ์นั้นในตอนนี้ได้ เพราะไกลไปเกินทำนาย

ในทะเลเริ่มเห็นชัดแล้ว จากปะการังฟอกขาว น้ำเปลี่ยนสีต่อเนื่องถึงช่วงนี้ ที่น่าเป็นห่วงคือปีหน้าจะเป็นอย่างไร

หากเกิดดับเบิ้ลเอลนีโญ ทะเลเดือดร้อนหนักแน่ๆ

คำแนะนำสำหรับเพื่อนธรณ์คือติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด น้ำน้อย/น้ำเค็มหนุน/ฝุ่นเยอะ/อากาศร้อน/ทะเลร้อน คือสิ่งที่ต้องเตรียมตัวรับมือไว้

การเยียวยาจากภาครัฐอาจมีบ้าง แต่ผลกระทบจากเอลนีโญคือเหนือจรดใต้ไปถึงทะเล จะเยียวยาไหวไหม ?

สิ่งที่เรากำลังจะเจอ ไม่เหมือนที่เคยเกิดมา เพราะเรามีโลกร้อนมาหนุน

WMO เรียกปรากฏการณ์แบบนี้ว่า Double Whammy เป็นสิ่งที่เราจะเผชิญต่อไป ทั้งเอลนีโญและลานีญา ในภาวะโลกร้อนเพิ่มขึ้น

ทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่ารัฐบาลต้องเร่งยกระดับประเด็นนี้ และหาทางรับมืออย่างจริงจัง ใช้งบประมาณให้ถูกจุดเพื่อการวางแผนรับมือในระยะต่างๆ

นอกจากรับมือกับปีนี้ จะได้ปรับตัวเตรียมรับมือกับระยะต่อๆ ไปที่ในอนาคตเราจะเจออีก

ปีนี้หรือปีหน้า อุณหภูมิโลกจะร้อนทำลายสถิติเดิม

เศร้าแต่ก็ไม่รู้จะทำยังไง ถึงตอนนี้สิ่งที่ทำได้นอกจากลด GHG เพื่อลูกหลาน เราคงต้องหาทางดีที่สุดเพื่อตัวเอง

บททดสอบแรกมาถึงแล้วครับ

ขอบคุณข้อมูลจาก ดร.ชวลิต จันทรรัตน์ และ ดร.วิษณุ อรรถวานิช ครับ

รายละเอียดต่างๆ อยู่ในรายการของคุณสุทธิชัยครับ

\"ดร.ธรณ์\" ส่งคำเตือน จะเกิดอะไรขึ้น หากเกิด \"ดับเบิลเอลนีโญ\"

ขอขอบคุณที่มาภาพกราฟประกอบข่าวจาก : the guardian

สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานจากเมืองเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 5 ก.ค. ว่า องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (ดับเบิลยูเอ็มโอ) ประกาศว่า ปรากฏการณ์เอลนีโญเกิดขึ้นแล้ว และมีโอกาส 90% ที่จะดำเนินต่อไปในช่วงครึ่งหลังของปีนี้

 
“การเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ จะเพิ่มความเป็นไปได้อย่างมาก ในการทำให้อุณหภูมิสูงเป็นประวัติการณ์ และเกิดความร้อนรุนแรงยิ่งขึ้นในพื้นที่หลายส่วนของโลก รวมถึงในมหาสมุทร” นายเพตเตอรี ทาลาส เลขาธิการดับเบิลยูเอ็มโอ กล่าวอีกว่า

การประกาศดังกล่าว เป็นการส่งสัญญาณให้รัฐบาลทั่วโลกเตรียมการ และดำเนินการล่วงหน้าในการรับมือกับเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้ว เพื่อจำกัดผลกระทบต่อสุขภาพ, ระบบนิเวศ และเศรษฐกิจ

เอลนีโญ เป็นรูปแบบภูมิอากาศที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ซึ่งมักเกี่ยวข้องกับความร้อนที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก เช่นเดียวกับความแห้งแล้งในพื้นที่บางส่วนของโลก และฝนตกหนักในพื้นที่อื่น โดยปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นโดยเฉลี่ยทุก ๆ 2-7 ปี และคงอยู่นาน 9-12 เดือน ซึ่งดับเบิลยูเอ็มโอระบุว่า เอลนีโญครั้งล่าสุดเกิดขึ้น ระหว่างปี 2558-2559

นายวิลฟราน มูฟูมา โอเคีย หัวหน้าฝ่ายบริการพยากรณ์อากาศระดับภูมิภาคของดับเบิลยูเอ็มโอ กล่าวว่า ในช่วง 6 เดือนต่อจากนี้ มีโอกาสเพียง 10% เท่านั้น ที่เอลนีโญจะอ่อนกำลังลง นั่นหมายความว่า ปรากฏการณ์ลานีญาจะไม่เกิดขึ้นในปีนี้

จากปีที่ร้อนสุดเป็นประวัติการณ์คือ ปี 2559 ซึ่งในเวลานั้นเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญรุนแรงเป็นพิเศษ รวมเข้ากับความร้อนที่เกิดจากฝีมือของมนุษย์ จากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ขณะที่ องค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ) กล่าวว่า กำลังช่วยเหลือประเทศต่าง ๆ ให้พร้อมรับมือกับผลกระทบของเอลนีโญ ด้วยการจัดเตรียมสิ่งของหลายอย่างล่วงหน้า

ขณะที่ มาเรีย เนย์รา ผู้อำนวยการด้านสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ และสุขภาพของดับเบิลยูเอชโอ กล่าวเตือนว่า ในหลายประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากปรากฏการณ์เอลนีโญ เผชิญกับวิกฤติอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น ความร้อนสูง, ไฟป่า และความไม่มั่นคงทางอาหาร ที่นำไปสู่ภาวะขาดสารอาหารรุนแรง ซึ่งดับเบิลยูเอชโอเอง ก็แสดงความกังวลเป็นพิเศษเกี่ยวกับการเพิ่มขึ้นของอหิวาตกโรค, โรคที่มียุงเป็นพาหะ และโรคติดเชื้อต่าง ๆ เช่นกัน

 

ส่องโพสต์ล่าสุด ดร.ธรณ์ ในวันนี้ 

ช่วงนี้น้ำลงต่ำทั่วทะเลตะวันออก วันนี้จึงพาเพื่อนธรณ์ไปดูการสำรวจแนวปะการังด้วย LiDAR เป็นครั้งแรกของทะเลไทยครับ

LiDAR มาจาก Light Detection and Ranging ใช้การส่งแสงไปวัดระยะหรือความสูงของพื้นผิว ใช้สร้างแผนที่ต่างๆ เช่น แผนที่สามมิติ

ไลดาร์อยู่รอบตัวเรา เช่น รถยนต์เดี๋ยวนี้ใช้ไลดาร์ทำการขับขี่อัตโนมัติ แจ้งเตือนรถมาด้านข้าง ฯลฯ

ในมือถือรุ่นใหม่ๆ ก็มีฟีเจอร์นี้ หรือแม้กระทั่งการสร้างโลกเสมือนจริง Metaverse

แต่ไลดาร์แทบไม่ลงน้ำ เพราะแสงกระเจิง ลงน้ำไม่ได้

บังเอิญทะเลมีน้ำขึ้นน้ำลง เมื่อถึงเวลาน้ำลงต่ำสุดในรอบปี แนวปะการังบางแห่งโผล่พ้นน้ำ

แนวปะการังเป็นโลก 3 มิติ ก้อนปะการังไม่ได้แบนราบเรียบ แต่มีความสูงเข้ามาเกี่ยวข้อง ปัญหาคือเราสำรวจภาคสนามได้ยากมาก ใช้เวลานาน

แต่วันนี้ LiDAR มาแนวปะการังไทยเป็นครั้งแรกแล้วครับ เราทำที่เกาะมันใน จังหวัดระยอง เพื่อนธรณ์คงคุ้นเคยดีเพราะผมพาไปประจำ ถือเป็นจุดสำรวจติดตามโลกร้อนระยะยาว

งานนี้เป็นความร่วมมือระหว่าง กระทรวงทรัพยากรฯ และกองทุนดิจิตัล เพื่อใช้เทคโนโลยีล่าสุดมาบุกเบิกการสำรวจติดตามปะการังยุคใหม่

มีคณะประมง ม.เกษตรศาสตร์และม.บูรพา วิทยาเขตจันทบุรี เป็นหน่วยวิจัยร่วมกับทีมจากองค์กรเอกชน

การนำ LiDAR มาใช้ในแนวปะการังครั้งนี้ถือเป็นหนแรกของทะเลไทย น่าจะเป็นประเทศแรกในอาเซียนด้วยซ้ำ หรือแม้กระทั่งในต่างประเทศก็ยังมีน้อยมาก

ประโยชน์ที่จะได้รับมหาศาล เพราะเป็นการเปิดประตูบานใหม่เข้าไปในโลกที่เราไม่เคยเข้าถึงมาก่อน

ด้วยเทคโนโลยี LiDAR เราจะเข้าใจแนวปะการังมากขึ้น วางแผนในการอนุรักษ์ วางทุ่น ฟื้นฟู ฯลฯ หรือแม้กระทั่งการกำหนดเขตดำน้ำ กิจกรรมต่างๆ ในแนวปะการัง

เรากำลังก้าวเข้าไปสู่โลกยุคใหม่ที่อาจต้องใช้เวลาเรียนรู้และประยุกต์ใช้ แต่สำคัญสุดคือเรากำลังเปิดประตูแล้ว

จึงเป็นความดีใจสุดๆ ในวันนี้ ขอบคุณทุกท่านที่ช่วยกันมาตลอดครับ

\"ดร.ธรณ์\" ส่งคำเตือน จะเกิดอะไรขึ้น หากเกิด \"ดับเบิลเอลนีโญ\"

logoline