เป็นเรื่องจริงที่ประเทศไทยมีความหลากหลายทางชีวภาพติด 1 ใน 10 ของโลก แต่ความสมบูรณ์ทางธรรมชาติของประเทศไทยกำลังหมดลงไปอย่างรวดเร็วจากสภาวะโลกรวน ภูมิอากาศโลก พื้นที่ป่าที่ลดลง ระบบนิเวศอยู่ในภาวะขาดความสมดุล ทำให้สิ่งมีชีวิตหลายชนิดเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์จากการขาดแหล่งอาหาร ที่อยู่ และอาจนำไปสู่การสูญเสียความมั่นคงทางทรัพยากรชีวภาพที่เคยมีมา
เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับปัญหาดังกล่าว สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จึงจัดตั้ง ‘ธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ’ หรือ National Biobank of Thailand (NBT) ขึ้นในปี พ.ศ. 2562 สำหรับเป็นโครงสร้างพื้นฐานของประเทศในการสนับสนุนการดำเนินงานอนุรักษ์ทรัพยากรชีวภาพแบบระยะยาว เป็นคลังสำรองให้แก่ประเทศ รวมถึงสนับสนุนการใช้ข้อมูลชีวภาพให้เกิดประโยชน์สูงสุด ผ่านการดำเนินงานร่วมกันของนักวิจัยจาก 3 ธนาคาร คือ ธนาคารพืช (Plant bank) ธนาคารจุลินทรีย์ (Microbe bank) และธนาคารข้อมูลชีวภาพ (Data bank) โดยมีพันธกิจหลักในการจัดเก็บรักษาทรัพยากรชีวภาพไว้นอกสภาพธรรมชาติ ที่สามารถควบคุมคุณภาพ ป้องกันการปนเปื้อน และบำรุงรักษาให้คงสภาพแบบระยะยาว ประกอบด้วย วัสดุชีวภาพ (Biomaterial) และข้อมูลทางชีวภาพ (Biodata) มีกระบวนการจัดเก็บที่เป็นไปตามมาตรฐานสากลและมีประสิทธิภาพ โดยอาศัยเทคโนโลยีสารสนเทศมาบริหารจัดการ
หัวใจสำคัญในการอนุรักษ์พันธุกรรมสิ่งมีชีวิตแต่ละชนิด คือ “ความสามารถในการมีชีวิตรอดหลังการจัดเก็บในธนาคาร” เพื่อให้มั่นใจว่าจะนำสิ่งมีชีวิตเหล่านี้กลับมาใช้ฟื้นฟูทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศให้คงความสมบูรณ์ต่อไปได้ในอนาคต
เตรียมพร้อมยามวิกฤต
การดำเนินงานด้านการอนุรักษ์ของ NBT คือการสนับสนุนการจัดเก็บสิ่งมีชีวิตนอกสภาพธรรมชาติแบบระยะยาว ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อเตรียมพร้อมฟื้นคืนทรัพยากรชีวภาพให้แก่ประเทศในยามที่เกิดความสูญเสียจากภัยธรรมชาติหรือการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่มากเกินพอดี
NBT ดำเนินงานจัดเก็บทรัพยากรชีวภาพผ่าน 2 ธนาคาร คือ ธนาคารพืชและธนาคารจุลินทรีย์ ธนาคารพืชมีภารกิจด้านการเก็บอนุรักษ์พันธุกรรมพืชของประเทศไทย โดยให้ความสำคัญกับพืชถิ่นเดียว พืชที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ และพืชที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจ ส่วนธนาคารจุลินทรีย์มีภารกิจด้านการเก็บสำรองจุลินทรีย์ที่มีศักยภาพในการนำไปใช้ประโยชน์และเป็นแหล่งอ้างอิงที่เชื่อถือได้ทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ
ทั้งนี้ NBT มีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานในการวิจัยและการจัดเก็บทรัพยากร โดยมีเครื่องมือสำหรับจัดเก็บตัวอย่างทรัพยากรชีวภาพในรูปแบบคงสภาพหรือคงความมีชีวิตที่อุณหภูมิเยือกแข็งถึง 3 ระดับ ระดับ -20 องศาเซลเซียส ใช้สำหรับจัดเก็บเมล็ดพันธุ์พืชที่บรรจุในหลอดขนาด 25 มิลลิลิตร จัดเก็บได้ 100,000 หลอด ส่วนอุณหภูมิระดับ -80 องศาเซลเซียส ใช้สำหรับจัดเก็บจุลินทรีย์และตัวอย่างชีววัสดุอื่น ๆ ที่บรรจุในหลอดขนาด 2.5 มิลลิลิตร จัดเก็บได้ 300,000 หลอด นอกจากนี้ยังมีถังไนโตรเจนเหลวขนาด 1,770 ลิตร สำหรับจัดเก็บตัวอย่างเซลล์สิ่งมีชีวิตในสภาวะเย็นยิ่งยวดที่อุณหภูมิ -196 องศาเซลเซียส
ในการดำเนินงาน ทีมวิจัยให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการศึกษาและพัฒนากระบวนการจัดเก็บให้เหมาะสมต่อสิ่งมีชีวิตแต่ละชนิด เพื่อคงความหลากหลายทางชีวภาพให้ได้มากที่สุด เพราะความหลากหลายทางพันธุกรรมอาจส่งผลถึงความสามารถในการทนต่อสภาพแวดล้อมในกระบวนการจัดเก็บที่แตกต่างกัน นอกจากนี้อีกประเด็นที่ NBT ให้ความสำคัญไม่แพ้กัน คือ การศึกษาระบบนิเวศที่เหมาะสมต่อการดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิต ทั้งในขณะเก็บตัวอย่างเพื่อการอนุรักษ์และการคืนสู่ธรรมชาติ เนื่องจากถิ่นอาศัยเดิมอาจเปลี่ยนแปลงไปจนไม่เหมาะสมต่อการมีชีวิตรอด และการนำกลับคืนถิ่นจะต้องคืนให้ตรงกับถิ่นที่อยู่หรือแหล่งที่มา เพื่อป้องกันการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติอันเกิดจากมนุษย์ ที่นำสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์แปลกปลอมเข้าสู่พื้นที่ และส่งผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพในอนาคต
วิจัย พัฒนา และสร้างแพลตฟอร์มเพื่อการดำเนินงานร่วมกันอย่างยั่งยืน
ในการดำเนินงานด้านการอนุรักษ์ทั้งในห้องปฏิบัติการและในพื้นที่ศึกษา หนึ่งในความลำบากที่ผู้ปฏิบัติงานต่างหลีกหนีไม่พ้น คือ การต้องเผชิญหน้ากับข้อมูลจำนวนมาก ความยากในการประมวลผล และความท้าทายในการหาความเชื่อมโยงของข้อมูลเพื่อสังเคราะห์องค์ความรู้ใหม่
ธนาคารข้อมูลชีวภาพจึงเป็นส่วนงานที่มีบทบาทสำคัญในการผลิตเครื่องมือทางด้านชีวสารสนเทศ (bioinformatics) ให้ตอบโจทย์การทำงานของนักวิจัย หน่วยงานภาครัฐและเอกชน รวมถึงทำหน้าที่เชื่อมโยงองค์ความรู้และงานวิจัยให้เกิดการดำเนินงานร่วมกันอย่างยั่งยืน ตัวอย่างภารกิจที่สำคัญของธนาคาร เช่น การพัฒนาแพลตฟอร์มสารสนเทศเพื่อสนับสนุนการวิเคราะห์และจัดการข้อมูลทรัพยากรชีวภาพในไทย การจัดทำฐานข้อมูลด้านพันธุกรรมเพื่อเป็นแหล่งอ้างอิงในระดับประเทศ และการดำเนินงานวิจัยด้านชีวสารสนเทศโดยอาศัยความเชี่ยวชาญเฉพาะทางในการดำเนินงานวิเคราะห์ชุดข้อมูลขนาดใหญ่ (big data) ผ่านระบบคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูง (high performance computing: HPC)
ปัจจุบัน NBT อยู่ระหว่างการพัฒนาแพลตฟอร์มสำหรับใช้ในภารกิจการบริหารจัดการและจัดเก็บข้อมูลให้ได้มาตรฐาน สะดวกต่อการใช้ประโยชน์ข้อมูลร่วมกัน เพื่อให้บริการแก่ผู้ดำเนินงานด้านทรัพยากรชีวภาพในไทยทั้งในเชิงการอนุรักษ์และการวิจัย แพลตฟอร์มนี้จะช่วยเชื่อมโยงการดำเนินงานด้านการอนุรักษ์ระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลดความซ้ำซ้อนและเพิ่มความร่วมมือในการจัดการทรัพยากรชีวภาพของชาติ รวมถึงอำนวยความสะดวกด้านการสืบค้นบนฐานข้อมูล เพื่อใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงในกิจกรรมด้านการอนุรักษ์และการนำทรัพยากรชีวภาพไปใช้ประโยชน์เพื่อเพิ่มมูลค่า เช่น การใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมการเกษตร อาหาร เวชสำอาง การแพทย์
ด้วยความพร้อมทางด้านบุคลากร งานวิจัย และโครงสร้างพื้นฐานที่ครบครัน NBT พร้อมดำเนินงานส่งเสริมหน่วยงานที่มีบทบาทด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรชีวภาพทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ เพื่อร่วมกันดูแลรักษาทรัพยากรที่มีค่าและยกระดับเศรษฐกิจชีวภาพของไทยให้เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน
source : ธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ / นิตยสารสาระวิทย์ โดย สวทช.