svasdssvasds
เนชั่นทีวี

รักษ์โลก

เช็กลิสต์ความพร้อมของที่อยู่อาศัยก่อนตัดสินใจใช้โซลาร์เซลล์

08 มิถุนายน 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

สำรวจความพร้อมของบ้านที่อยู่อาศัยก่อนตัดสินใจติดโซลาร์เซลล์ พลังงานสะอาดเพื่อโลก อีกทางเลือกของคนฉลาดเลือก

ประโยชน์หลักของโซลาร์เซลล์ คือการนำพลังงานแสงอาทิตย์ซึ่งเป็นพลังงานที่ไม่มีวันหมดมาใช้ได้อย่างเกิดประโยชน์สูงสุด นับเป็นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ช่วยประหยัดค่าไฟ มีความปลอดภัยสูง ไม่ส่งผลเสียต่อการใช้ชีวิตของทั้งคนและสัตว์ สามารถใช้งานได้ในระยะยาว และผลิตไฟฟ้าได้หลายขนาดทั้งหน่วยย่อยอย่างดวงไฟ ตลอดไปจนถึงระดับโรงงานอุตสาหกรรม

เช็กลิสต์ความพร้อมของที่อยู่อาศัยก่อนตัดสินใจใช้โซลาร์เซลล์

ในปัจจุบันจะเห็นได้ว่าหลายคนหันมาสนใจติดโซลาร์เซลล์ในที่อยู่อาศัยมากขึ้น ซึ่งใครที่กำลังจะตัดสินใจติดตั้งโซลาร์เซลล์ยังต้องศึกษาถึงปัจจัยที่ควรรู้ เพราะเป็นการติดตั้งในระยะยาวถึง 25-30 ปี หากพิจารณาไม่ดีอาจจะทำให้การติดตั้งโซลาร์เซลล์ไม่คุ้มค่า มาดูกันเลยว่ามีอะไรบ้าง

ที่อยู่อาศัยแบบไหนที่ติดตั้งโซลาร์เซลล์แล้วคุ้มค่า

เบื้องต้นต้องรู้ก่อนว่าโซลาร์เซลล์จะผลิตไฟฟ้าได้เฉพาะช่วงเวลากลางวันที่มีแสงแดด การใช้ไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ที่คุ้มค่าและลงทุนน้อยที่สุด คือเมื่อผลิตไฟฟ้าแล้วนำมาใช้ให้หมดในช่วงเวลากลางวัน เพราะไม่เปลืองค่าแบตเตอรี่สำหรับเก็บไฟฟ้าซึ่งราคาสูงจึงเหมาะกับที่อยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้ามากในช่วงกลางวัน มีการเปิดเครื่องปรับอากาศเป็นประจำ ใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่ใช้ไฟมากหลายอย่าง เช่น บ้านที่มีผู้อยู่อาศัยตลอดทั้งวัน บ้านที่มีผู้ป่วยติดเตียง โฮมออฟฟิศ ออฟฟิศ ร้านค้า และมีพื้นที่ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์เพียงพอและเหมาะสม

เช็กลิสต์ความพร้อมของที่อยู่อาศัยก่อนตัดสินใจใช้โซลาร์เซลล์

การตรวจสอบกำลังไฟที่อยู่อาศัย

การตรวจสอบกำลังไฟภายในบ้าน ทำให้รู้ว่าในแต่ละเดือนเราใช้กำลังไฟอยู่ที่เท่าไร และควรเลือกติดโซลาร์เซลล์ขนาดเท่าไรจึงจะเหมาะสม ในการตรวจสอบสามารถใช้หลักการคร่าวๆ อย่างการคำนวณด้วยค่าไฟที่ชำระในแต่ละเดือน เช่น ค่าไฟเดือนนี้ 5,000 บาท ให้แบ่งค่าไฟออกเป็นตอนกลางวัน 70% และตอนกลางคืน 30% ดังนั้น ค่าไฟตอนกลางวันที่ใช้ไปจะอยู่ที่ 3,500 บาท  (กรณีเฉลี่ยค่าไฟฟ้าจะอยู่ที่ประมาณ 4 บาทต่อหน่วย) ให้นำจำนวนค่าไฟตอนกลางวันทำการหารด้วยค่าไฟฟ้าต่อหน่วย จะได้ 3,500÷4= 875 หน่วย จากนั้นเอาเลขจำนวนหน่วยที่ได้ หารด้วยจำนวนวัน และจำนวนชั่วโมงที่มีแสงอาทิตย์เป็น (875÷30)÷9= 3.2 หน่วยต่อชั่วโมง

ดังนั้น การติดตั้งโซลาร์เซลล์ที่เหมาะสมคือ ขนาดที่ 3-5 กิโลวัตต์ (3KW) แต่วิธีนี้จะเป็นการคำนวณในเบื้องต้นเท่านั้น แนะนำว่าก่อนการติดตั้งสามารถขอคำปรึกษาเพิ่มเติมได้จากผู้ให้บริการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์

เช็กความแข็งแรงของหลังคา

มาตราฐานของแผ่นโซลาร์เซลล์จะมีขนาดอยู่ที่ 1x2 เมตร และ 1 แผ่น จะมีน้ำหนักประมาณ 22 กิโลกรัม ดังนั้น ควรทำการตรวจสอบหลังคาบ้านและวัสดุที่ใช้ปูหลังคา หากเกิดรอยแตก รอยร้าว รอยรั่ว หรือตรวจสอบดูแล้วว่าเป็นวัสดุที่ไม่แข็งแรง ไม่มั่นคง ควรทำการรีโนเวทใหม่ เพราะการติดโซลาร์เซลล์บ้านเป็นการติดตั้งในระยะยาวหลายสิบปี หากไม่ตรวจสอบจุดนี้อาจจะเกิดผลกระทบจากการรับน้ำหนักเกินได้

รูปทรงของหลังคานี่เหมาะสมกับการติดตั้งโซลาร์เซลล์

หลังคาทรงจั่ว เป็นที่นิยมอย่างมากในประเทศไทย เพราะสามารถระบายความร้อนได้ดี ลักษณะของทรงหลังคาจะสูง ลาดชัน ทำให้สามารถติดโซลาร์เซลล์ได้ง่ายที่สุด

หลังคาทรงปั้นหยา จะมีลักษณะลาดเอียงเล็กน้อย และเป็นทรงที่นิยมใช้กันทั่วโลก ข้อดีของหลังคาประเภทนี้ที่สามารถปะทะลม กันแดด กันฝนได้ดี แต่การระบายความร้อนทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร ในการติดโซลาร์เซลล์บ้านสามารถติดตั้งได้ทุกทิศของหลังคา

หลังคาทรงราบ หรือเพิงแหงน สามารถติดตั้งโซลาร์เซลล์ได้ง่ายเช่นเดียวกับหลังคาทรงจั่ว เพราะมีพื้นที่หลังคาเยอะและกว้าง แต่ต้องระวังในเรื่องของการรั่วซึมเมื่อฝนตก เนื่องจากความลาดเอียงของหลังคาประเภทนี้น้อยมาก ส่งผลให้ระบายน้ำฝนได้ไม่ดีเท่าที่ควร

จะเห็นได้ว่าการติดตั้งโซลาร์เซลล์สามารถทำการติดตั้งได้กับหลังคาทุกๆ ประเภท แต่จะมีบางประเภทที่ทำการติดตั้งได้ง่ายกว่าประเภทอื่นๆ และบางประเภทมีข้อจำกัดในเรื่องของการระบายน้ำที่จะส่งผลต่อการรั่วซึม

เช็กลิสต์ความพร้อมของที่อยู่อาศัยก่อนตัดสินใจใช้โซลาร์เซลล์

ทิศทางการรับแสงที่เหมาะสมกับการติดตั้งโซลาร์เซลล์

ทิศเหนือ เป็นทิศที่ได้รับแสงแดดน้อยที่สุด เพราะในประเทศไทยนั้นดวงอาทิตย์จะขึ้นทางด้านทิศตะวันออกและอ้อมไปทางทิศใต้ แนะนำว่าไม่ควรติดโซลาร์เซลล์บ้านหันแผงไปทางทิศเหนือ

ทิศใต้ เป็นทิศที่ควรหันแผงโซลาร์เซลล์ไปทิศทางนี้ เพราะจะได้รับแสงแดดตลอดทั้งวัน ในการติดตั้งสามารถเอียงแผงเล็กน้อยประมาณ 13.5 องศา เพื่อให้แผงสามารถรับแสงได้อย่างเต็มที่

ทิศตะวันออก จะได้รับแสงแดดปานกลาง แต่ข้อจำกัดการรับแสงจะอยู่ในช่วงเช้า-เที่ยงเท่านั้น ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับทางทิศใต้ การรับแสงของทิศตะวันออกจะได้รับแสงน้อยกว่า 2-16% จะส่งผลให้แผงโซลาร์เซลล์ทำงานได้ไม่เต็มที่

ทิศตะวันตก ประสิทธิภาพการรับแสงจะเท่ากับทางด้านทิศตะวันออก

งบประมาณการติดตั้งโซลาร์เซลล์

ข้อมูลจากกองพัฒนาพลังงานแสงอาทิตย์ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน หรือ พพ. กระทรวงพลังงาน แนะนำว่า ประชาชนที่จะติดตั้งแผงโซลาร์บนหลังคา ขอให้เลือกติดตั้งกับบริษัทที่มีความน่าเชื่อถือ ให้ตรวจสอบผลงานที่ผ่านมาเป็นอย่างไร ตรวจสอบการใช้วัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ได้มาตรฐานหรือไม่ เช่น สายไฟ ตัวอินเวอร์เตอร์ หรือตัวแปลงกระแสไฟฟ้ายี่ห้อน่าเชื่อถือ ไม่อยากให้ดูแค่ราคาถูกเป็นหลักเท่านั้น เพราะการติดตั้งไม่ได้ซื้อแค่แผงโซลาร์ แต่จะมีอุปกรณ์ต่างๆ พ่วงมาอีกด้วย ซึ่งบริษัทติดตั้งที่น่าเชื่อถือ ส่วนใหญ่จะมีบริการรับตรวจสอบความพร้อมของหลังคา สายไฟต่างๆ ก่อนเข้าไปติดตั้ง

ทางด้านราคาค่าติดตั้งขึ้นอยู่กับขนาดความต้องการใช้ เริ่มต้นตั้งแต่ 70,000-500,000 บาท เป็นระบบออนกริด หรือระบบโซลาร์เซลล์แบบต่อตรงกับระบบสายส่งจากการไฟฟ้า เช่น

  • บ้านขนาดเล็กใช้แอร์ 1 ตัว ส่วนใหญ่ใช้แผงโซลาร์ 1.5 กิโลวัตต์ ราคาติดตั้งประมาณ 70,000-100,000 บาท
  • บ้านขนาดกลาง ใช้แอร์ 2-3 ตัว ส่วนใหญ่ใช้แผงโซลาร์ 3-5 กิโลวัตต์ ราคาติดตั้งประมาณ 150,000-200,000 บาท
  • บ้านขนาดใหญ่ ใช้แอร์ 4-5 ตัว ส่วนใหญ่ใช้แผงโซลาร์ 7-10 กิโลวัตต์ ราคาติดตั้งประมาณ 300,000 -500,000 บาท

หากเป็นระบบไฮบริด หรือการติดตั้งทั้งต่อสายตรงกับการไฟฟ้า และระบบแบตเตอรี่ เผื่อไว้ใช้ไฟตอนกลางคืน จะต้องลงทุนเสียค่าใช้จ่ายซื้อแบตเตอรี่มากักเก็บพลังงาน เพิ่มมากกว่า 100,000 บาทขึ้นไป ทั้งนี้ อาจมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น ค่าธรรมเนียมการขออนุญาต ค่าปรับปรุงโครงสร้างหากโครงสร้างบ้านไม่สามารถติดตั้งได้

 

logoline