svasdssvasds
เนชั่นทีวี

รักษ์โลก

UN ชู ‘รักษ์โลก ลดพลาสติก’ ชวน #BeatPlasticPollution วันสิ่งแวดล้อมโลก

05 มิถุนายน 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

5 มิถุนายน 2566 วันสิ่งแวดล้อมโลก (World Environment Day) UN ชูธีม “รักษ์โลก ลดพลาสติก” สร้างความตระหนักถึงภัยจากขยะพลาสติก ชวนลดใช้พลาสติกครั้งเดียวทิ้ง

สิ่งแวดล้อมและธรรมชาติโอบอุ้มทุกชีวิตบนโลก มีค่าเพียงไหนเราต่างรู้ดี ในทุกๆ ปี เราจึงมีวันสิ่งแวดล้อมโลก (World Environment Day) เพื่อให้ทุกคนตระหนักและเห็นคุณค่าของสิ่งแวดล้อม โดยจุดเริ่มต้นของวันสิ่งแวดล้อมโลก เกิดขึ้นเพราะความตื่นตัวในด้านวิกฤตการณ์สิ่งแวดล้อมขึ้นทั่วโลก โดยที่ประชุมสหประชาชาติ ระหว่างวันที่ 5-16 มิถุนายน ในปี พ.ศ. 2515 ครั้งที่รัฐบาลของสวีเดนเป็นเจ้าภาพ  ได้มีการกำหนดวันสำคัญดังกล่าวนี้ขึ้น ซึ่งเรียกการประชุมนี้ว่า การประชุมสหประชาชาติเรื่องสิ่งแวดล้อมของมนุษย์ หรือ UN Conference on the Human Environment มีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 1,200 คน จาก 113 ประเทศ รวมถึงมีผู้สังเกตการณ์อีกกว่า 1,500 คนจากหน่วยงานของรัฐ องค์การสหประชาชาติ และสื่อมวลชนแขนงต่างๆ

UN ชู ‘รักษ์โลก ลดพลาสติก’ ชวน #BeatPlasticPollution วันสิ่งแวดล้อมโลก

ผลจากการประชุมครั้งนั้นได้มีข้อตกลงร่วมกันหลายประเด็น อาทิ การจัดตั้งโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP : United Nations Environment Programme) ที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงไนโรบี ประเทศเคนยา และรัฐบาลประเทศต่างๆ ก็ได้รับข้อตกลงจากการประชุมคราวนั้นไปจัดตั้งหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมขึ้นในประเทศของตน ดังนั้น เพื่อเป็นการระลึกถึงจุดเริ่มต้นของการร่วมมือจากหลากหลายชาติในด้านสิ่งแวดล้อม องค์การสหประชาชาติจึงได้ประกาศให้วันที่ 5 มิถุนายนของทุกปีเป็นวันสิ่งแวดล้อมโลก (World Environment Day) พร้อมจัดให้มีคําขวัญ และหัวข้อเพื่อการรณรงค์แต่ละปีต่างๆ กัน

สำหรับปีนี้ธีมวันสิ่งแวดล้อมโลกปี 2023 โฟกัสหลักของ UN ก็คือการหาวิธีแก้ไขปัญหามลพิษพลาสติก (Plastic Pollution) ภายใต้แคมเปญ #BeatPlasticPollution ซึ่งประเทศโกตดิวัวร์ หรือไอวอรีโคสต์ เป็นเจ้าภาพจัดงานวันสิ่งแวดล้อมโลก 2566 (World Environment Day 2023) ด้วยความร่วมมือจากประเทศเนเธอร์แลนด์ ปีนี้ยังถือเป็นโอกาสครบรอบ 50 ปีของวันสิ่งแวดล้อมโลกอีกด้วยซึ่งเป็นการเตือนใจว่าการกระทำของผู้คนเกี่ยวกับพลาสติกนั้นกำลังค่อยๆ ซึมลงสู่มหาสมุทร ดิน และป่าไม้ของเรา และก่อให้เกิดความเสียหายที่ไม่อาจแก้ไขได้

 

วันสิ่งแวดล้อมโลกในปีนี้ โลกคงอยู่ในช่วงเวลาที่ระดับอุณหภูมิสูงกว่าที่เคยเป็น พายุและไซโคลนผิดปกติ และกลายเป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติที่รุนแรงขึ้นซึ่งเตือนเราทุกวันเกี่ยวกับความเสียหายที่ไม่อาจแก้ไขได้ วันสิ่งแวดล้อมโลกจึงให้ความหวังและโอกาสแก่เราทุกคนในการทำความดี เพื่อการปกป้องสิ่งแวดล้อมและความเป็นอยู่ที่ดีของโลกมากขึ้น

UN ชู ‘รักษ์โลก ลดพลาสติก’ ชวน #BeatPlasticPollution วันสิ่งแวดล้อมโลก

สถานการณ์สิ่งแวดล้อมในปีนี้ หลายประเทศให้ความสำคัญกับเรื่องขยะพลาสติกต่อเนื่องมากจากปีที่ผ่านมา เช่นเดียวกับสถานการณ์สภาพอากาศ โดยเฉพาะในประเทศไทยซึ่งปีนี้มีอุณหภูมิสูงขึ้นในหลายพื้นที่ และยังมีรายงานว่าสถานการณ์อุณหภูมิในเดือนเมษายนที่ผ่านมาของหลายประเทศในทวีปเอเชีย จัดว่าทำลายสถิติสูงสุดเท่าที่เคยมีการบันทึกกันมา สำหรับประเทศไทยหน้าร้อนที่ผ่านมานี้เราเผชิญกับสภาพอากาศที่ร้อนจัดทะลุ 40 องศาเซลเซียสในหลายจังหวัดอันเป็นผลกระทบจากหย่อมความกดอากาศต่ำที่ปกคลุมประเทศไทยในระดับท้องถิ่น อีกทั้งในปีนี้เรายังคุ้นเคยกับโรคที่มากับความร้อนอย่าง”ฮีทสโตรก” หรือโรคลมแดด ที่คร่าชีวิตคนมีชื่อเสียงไป ซึ่งโรคนี้เกิดจากภาวะที่ร่างกายมีอุณหภูมิสูงมากจนทำให้เกิดภาวะที่ร่างกายไม่สามารถปรับตัวได้ และมีอุณหภูมิกายมากกว่า 40 องศาเซลเซียส ร่วมกับภาวะที่มีความรู้สึกตัวที่ผิดปกติไป เช่น อาจจะหมดสติหรือมีภาวะชักได้

นอกจากประกฏการณ์เรื่องความร้อนและคลื่นความร้อนแล้ว ในปีนี้หลายหน่วยยังจับตาปรากฏการณ์เอลนีโญที่ส่งสัญญาณว่าประเทศไทยในปีนี้อาจจะเผชิญกับสภาพอากาศที่ร้อนและแห้งแล้งมากขึ้น ประกอบกับ กรมอุตุนิยมวิทยา ได้คาดการณ์ว่า สถานการณ์ดังกล่าว อาจส่งผลให้เกิดฝนตกน้อยกว่าปกติ และกรมชลประทาน ได้เตรียมแผนรับมือ สั่งเร่งเก็บกักน้ำทั่วประเทศ ควบคู่ไปกับการเตรียมพร้อมรับมือฤดูฝนที่กำลังจะมาถึง ข้อมูลจากกรมชลประทาน ระบุว่า คาดการณ์ได้ว่าปรากฎการณ์เอลนีโญ ในช่วงเดือนมิถุนายน-กันยายนนี้ จะส่งผลให้ทั้งประเทศไทยเกิดฝนตกน้อยกว่าปกติ นั่นทำให้กรมชลประทาน จึงได้เตรียมแผนรับมือตั้งแต่ช่วงฤดูฝนปี 2566 นี้เป็นต้นไป เพื่อลดผลกระทบต่อสถานการณ์ภัยแล้งที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต โดยได้กำชับให้โครงการชลประทานทั่วประเทศ เฝ้าระวัง ติดตาม และประเมินสถานการณ์อย่างรอบคอบ เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์และปรับแผนบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์ในแต่ละพื้นที่ ที่สำคัญให้เร่งเก็บกักน้ำให้ได้มากที่สุด ส่วนพื้นที่ลุ่มต่ำที่กรมชลประทานได้ปรับปฏิทินเพาะปลูกให้เกษตรกรได้เพาะปลูกและเก็บเกี่ยวผลผลิตก่อนฤดูน้ำหลากจะมาถึง

 

“รักษ์โลก ลดพลาสติก”

ธีมในปีนี้ที่เน้นสร้างความตระหนักถึงปัญหาใหญ่ "ขยะพลาสติก" ซึ่งใช้เวลาย่อยสลายนานถึง 450 ปี ถ้ามองให้เห็นภาพ ถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว 1 กิโลกรัม จะปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึง 8.3 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า หรือเทียบได้กับขนาดลูกบอล 1 ลูก เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2 เมตร

เป้าหมายประเทศไทยในแผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติกระยะที่ 2 (พ.ศ.2566-2570)

  • เป้าหมายที่ 1 ลดพลาสติกเป้าหมายที่จะเข้าสู่ระบบฝังกลบลดลง 100% ในปี พ.ศ.2570
  • เป้าหมายที่ 2 เพิ่มพลาสติกเป้าหมายให้เข้าสู่ระบบรีไซเคิล 100% ในปี พ.ศ.2570
  • เป้าหมายที่ 3 ลดขยะพลาสติกที่มีโอกาสหลุดรอดลงสู่ทะเลลง 50% ในปี พ.ศ.2570
  • เป้าหมายที่ 4 มีเครื่องมือในการบริหารจัดการขยะพลาสติก 10 เครื่องมือ

ซึ่งทุกฝ่ายหวังว่าทุกความร่วมมือจะก่อให้เกิดประโยชน์โดยตรงต่อสิ่งแวดล้อม

 

logoline