svasdssvasds
เนชั่นทีวี

รักษ์โลก

7 มาตรการทางกฎหมายช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมในต่างประเทศที่ใช้ได้จริง

26 พฤษภาคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

รวมโมเดลกฎหมายและข้อตกลงร่วมกันระหว่างประเทศ ความพยายามของนานาประเทศในการต่อกรกับมลพิษที่ส่งผลต่อสุขภาพของประชาชนและสิ่งแวดล้อม

ในต่างประเทศมีหลายกรณีที่กิจการของบริษัทอุตสาหกรรมก่อให้เกิดมลพิษทางสิ่งแวดล้อม สุขภาพของประชาชน และถูกดำเนินการทางกฎหมายตามกรอบกฎหมายที่ประเทศวางไว้ โดยข้อมูลจาก กรีนพีซ องค์กรรณรงค์อิสระระดับโลกที่ลงมือทำเพื่อเปลี่ยนแปลงทัศนคติและพฤติกรรม ปกป้องสิ่งแวดล้อมและส่งเสริมสันติภาพ รวมไว้มีดังนี้

7 มาตรการทางกฎหมายช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมในต่างประเทศที่ใช้ได้จริง

Clean Air Act (CAA) ประเทศสหรัฐอเมริกา

Clean Air Act  เป็นกฎหมายรัฐบาลกลางของสหรัฐฯ ที่ประเมินค่ามลพิษทางอากาศที่ถูกปลดปล่อยออกจากอุตสาหกรรมหรือแหล่งผลิตที่เคลื่อนที่ได้ เช่น รถยนต์ โดยกฎหมายนี้อนุมัติให้สำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมสหรัฐฯ (Environmental Protection Agency: EPA) กำกับดูแลค่ามาตรฐานคุณภาพอากาศ National Ambient Air Quality Standards (NAAQS) เพื่อปกป้องสุขภาพและคุณภาพชีวิตของประชาชน และสามารถเอาผิดผู้ก่อมลพิษได้ 

ตัวอย่างการดำเนินการเอาผิดทางกฎหมายของ Clean Air Act เช่น การเอาผิด Matador Production Company โดยสำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมสหรัฐฯ กรณีที่ละเมิด Clean Air Act  ปล่อยมลพิษ 16,000 ตันจากก๊าซ และน้ำมันที่รัฐนิวเม็กซิโก  และต้องจ่ายค่าเสียหายจำนวน 610,000 เหรียญสหรัฐ ประกอบกับปรับปรุงอุปกรณ์ให้สอดคล้องกับค่าการปล่อยที่กฎหมายกำหนด อีกกรณีหนึ่งซึ่งถือเป็นบทลงโทษค่าปรับสูงสุดของสำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมสหรัฐฯ คือ การปรับบริษัท Toyota Motor Company เป็นจำนวน 180 ล้านเหรียญสหรัฐ กรณีที่ละเมิด Clean Air Act มายาวนานกว่า 10 ปี ในการไม่รายงานข้อมูลขั้นพื้นฐานว่ามีการตรวจพบแนวโน้มในการก่อมลพิษอย่างไรบ้างในรถยนต์สายการผลิตของตน โดย Clean Air Act กำหนดไว้ว่าบริษัทอุตสาหกรรมจะต้องรายงานสำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมสหรัฐฯ ผ่านรายงาน Emissions Defect Information Report (EDIR) 

7 มาตรการทางกฎหมายช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมในต่างประเทศที่ใช้ได้จริง

Transboundary Haze Pollution Act 2014 ประเทศสิงคโปร์

กฎหมายฉบับใหม่ของสิงคโปร์ที่เริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 25 กันยายน 2514 ครอบคลุมภาระรับผิดของการเผาที่ก่อมลพิษข้ามพรมแดนมายังประเทศสิงคโปร์ ซึ่งกฎหมายสามารถย้อนเอาผิดกับบริษัทอุตสาหกรรมในปี 2556 ได้ โดยกฎหมายนี้มุ่งเน้นเอาผิดบริษัท ไม่ใช่รัฐประเทศ ซึ่งรวมถึงการกระทำที่อยู่ภายในหรือภายนอกประเทศสิงคโปร์ที่ก่อหรือมีส่วนในการก่อมลพิษข้ามพรมแดนมายังสิงคโปร์ หรือ กรณีเมื่อเกิดมลพิษทางอากาศที่สิงคโปร์ในเวลาเดียวกับการที่มีธุรกิจหรือกิจการที่ดำเนินการโดยบริษัทดังกล่าว

ในปี 2558 หน่วยงาน National Environment Agency (NEA) ของสิงคโปร์ได้นำกฎหมายฉบับนี้ของสิงคโปร์มาใช้กับบริษัทที่ประเทศอินโดนีเซียสี่บริษัทด้วยกัน ได้แก่ PT Bumi Andalas Permai, PT Bumi Mekar Hijau, PT Sebangun Bumi Andalas Woods Industries และ PT Rimba Hutani Mas และมีการเรียกขอข้อมูลบริษัทรายย่อยที่เกี่ยวข้องและประกอบกิจการในประเทศสิงคโปร์และอินโดนีเซีย

การตรวจสอบสถานะของกิจการด้านกฎหมาย (Legal Due Diligence) โดยคณะกรรมาธิการยุโรป(European Commission)

เมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2565 คณะกรรมาธิการยุโรปรับข้อเสนอทางกฎหมายในเรื่องการตรวจสอบสถานะของกิจการด้านกฎหมาย (Legal Due Diligence) เพื่อส่งเสริมให้บริษัทผู้ประกอบการนำข้อปฏิบัติที่เคารพสิทธิมนุษยชนและคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมาใช้ในการดำเนินกิจการ โดยจะต้องมีการระบุหาการกระทำที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการก่อผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมตลอดห่วงโซ่อุปทานและบริษัทย่อย เพื่อตรวจสอบและยุติสิ่งเหล่านั้น พร้อมทั้งระบุแนวทางปฏิบัติเพื่อป้องกันและหลีกเลี่ยงสิ่งเหล่านั้น ข้อเสนอทางกฎหมายนี้จึงหมายความว่าบริษัทยักษ์ใหญ่ต่าง ๆ จะต้องมียุทธศาสตร์ทางด้านสิ่งแวดล้อมที่สอดคล้องกับเป้าหมายหลักของความตกลงปารีสต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจก คือควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เพิ่มเกิน 1.5 องศา หากบริษัทฝ่าฝืนอาจส่งผลต่อความรับผิดในทางแพ่งหรือทางอาญา และจะต้องมีการชดเชยค่าเสียหายให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบอันเนื่องมาจากความล้มเหลวของบริษัทในการปฏิบัติตามข้อเสนอทางกฏหมาย กฎหมายใหม่ของคณะกรรมาธิการยุโรปนี้จะเป็นอีกก้าวสำคัญในการเปลี่ยนผ่านไปสู่สิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น และปกป้องสิทธิมนุษยชนทั้งในยุโรปและประเทศที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่อุปทาน

 

กฏหมายตรวจสอบสถานะของกิจการในห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chainl Due Diligence Act – SCDDA)

เมื่อ 1 มกราคม 2566 ประเทศเยอรมนีได้ผ่านกฎหมายตรวจสอบสถานะของกิจการในห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chainl Due Diligence Act – SCDDA) ซึ่งเป็นหมุดหมายสำคัญด้านการขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อความยั่งยืน หรือ ESG (Environmental, Social and Governance) และกำหนดภาระรับผิดทางกฎหมายของอุตสาหรรมหากมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนและคุกคามสิ่งแวดล้อมในห่วงโซ่อุปทานของตน การทำลายสิ่งแวดล้อมในที่นี้รวมถึง การทำให้ดิน น้ำ และอากาศปนเปื้อน รวมถึงมลพิษทางเสียงและการใช้น้ำเกินความจำเป็น 

ตามกฎหมายนี้ อุตสาหกรรมใดที่มีการคุกคามสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้นแต่ไม่มีการแก้ไข จะต้องรับโทษปรับด้วยเงิน 50,000 ยูโรและรับโทษปรับทางปกครอง (administrative fines) จำนวนร้อยละ 2 ของรายได้สุทธิหากได้รับรายได้เกิน 400 ล้านยูโร

7 มาตรการทางกฎหมายช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมในต่างประเทศที่ใช้ได้จริง

อนุสัญญาเจนีวา (Geneva Conventions) ว่าด้วยมลภาวะทางอากาศข้ามพรมแดน

ในระดับสากลมีการทำข้อตกลงระหว่างประเทศฉบับหนึ่งที่เกิดขึ้นมายาวนานแล้วตั้งแต่ปี 2522 (ค.ศ. 1979) คือ อนุสัญญาเจนีวาว่าด้วยมลพิษทางอากาศข้ามพรมแดนระยะยาว (Geneva Convention on Long-Range Transboundary Air Pollution) เพื่อแก้ไขปัญหาการก่อมลพิษข้ามเขตแดน โดยมีเป้าหมายคือ ประเทศในยุโรปที่เข้าร่วมในอนุสัญญานี้ จะต้องทำงานร่วมกันในการลด จำกัด และป้องกันการปล่อยมลพิษทางอากาศเพื่อต่อกรกับมลพิษข้ามพรมแดนจากจุดกำเนิด อนุสัญญาเจนีวานี้เป็นข้อกำหนดทางกฎหมายทางสิ่งแวดล้อมสากลฉบับแรกที่ถูกนำมาใช้แพร่หลายในหลายประเทศทั่วโลก มีพันธสัญญาใน 51 ประเทศรวมถึงสหภาพยุโรป นอกเหนือจากเป็นความตกลงทางการเมืองด้านมลพิษทางอากาศข้ามพรมแดนแล้ว ยังเป็นแพลตฟอร์มสำหรับการร่วมมือระหว่างนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย และผู้กำหนดนโยบายอีกด้วย ที่ผ่านมาอนุสัญญาเจนีวาเป็นเครื่องมือสำคัญในการช่วยลดค่ามลพิษในยุโรปตั้งแต่ปี 2533 ได้ราวร้อยละ 40-80 เมื่อเทียบค่ามลพิษระหว่างปี 2533 กับปี 2555 อัตราการลดมลพิษทางอากาศสูงสุดอยู่ที่ปีแรก ๆ ที่เริ่มต้นนำความตกลงนี้มาใช้ โดยสามารถลดมลพิษโดยรวมได้ร้อยละ 15-18 ต่อปีในหลายประเทศ เช่น ฟินแลนด์ เดนมาร์ก เยอรมนี สเปน นอร์เวย์ และอื่นๆ  นอกจากนี้ยังสามารถลดฝนกรดได้ร้อยละ 30 

 

โมเดลการทำงาน  U.S.-Mexico Border Environmental Program: Border 2025

หลายเมืองในเขตพรมแดนประเทศสหรัฐอเมริกา-เม็กซิโกประสบกับปัญหามลพิษทางอากาศข้ามพรมแดน และกิจกรรมการก่อมลพิษจากพื้นที่ประเทศหนึ่งสามารถส่งผลกระทบต่ออีกประเทศได้โดยตรง ดังนั้นจึงเกิดกรอบการทำงาน  U.S.-Mexico Border Environmental Program: Border 2025 ขึ้น โมเดลนี้เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างสํานักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมสหรัฐอเมริกา (U.S. Environmental Protection Agency : EPA) และกระทรวงสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติของเม็กซิโก (SEMARNAT) เพื่อปกป้องสุขภาพของประชาชนในเขตพรมแดนและเพื่อสุขภาวะที่ดีขึ้นในระยะยาวในแง่เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และสังคมสำหรับคนรุ่นหลัง โมเดลนี้ออกแบบการทำงานในช่วงระยะ 5 ปี ตั้งแต่ปี 2021-2025 (พ.ศ. 2564-2568) โดยใช้กรอบกฎหมายที่มีทั้งในสหรัฐอเมริกาและเม็กซิโก รวมถึงรับฟังความคิดเห็นจากกลุ่มชนพื้นเมือง และและชาวแอฟโฟรเม็กซิกันเพื่อให้มีความเป็นธรรมทางสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง ไม่เพียงแค่นั้น กรอบการทำงานนี้ยังระบุถึงแผนการเพื่อต่อกรกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ

 

ข้อตกลงด้านคุณภาพอากาศระหว่างประเทศสหรัฐอเมริกาและแคนาดา

ประเทศสหรัฐอเมริกาและแคนาดาได้ร่วมมือแก้ไขปัญหาด้านมลพิษข้ามพรมแดนที่เป็นต้นเหตุของฝนกรดในพื้นที่ด้วยการลงนามในข้อตกลงด้านคุณภาพอากาศระหว่างประเทศสหรัฐอเมริกาและแคนาดา

เมื่อปี 1991 ทั้งสองประเทศตกลงร่วมกันที่จะทำงานทั้งทางวิทยาศาสตร์และเชิงเทคนิคเพื่อลดมลพิษซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) และไนโตรเจนไดออกไซด์ (NOx) ซึ่งเป็นมลพิษหลักในองค์ประกอบของฝนกรด หลักการโดยคร่าวของข้อตกลงนี้คือ ทั้งสองประเทศจะต้องลดผลกระทบที่มาจากการปล่อยสารพิษดังกล่าว และต้องปฏิบัติเพื่อรักษามาตรฐานคุณภาพอากาศของประเทศซึ่งรวมถึงมลพิษจากโอโซน และ PM2.5 เพื่อปกป้องสุขภาพของคนละสิ่งแวดล้อม  จากรายงานความคืบหน้าปี 2563-2565 ของข้อตกลงนี้ พบว่ามลพิษซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในแคนาดาลดลงร้อยละ 78 และในสหรัฐอเมริกาลดลงร้อยละ 92 เมื่อเทียบระหว่างปี 2534 และปี 2563 ในปัจจุบันทั้งสองประเทศยังคงติดตามค่ามลพิษเหล่านี้และยึดการปฏิบัติตามข้อตกลง

กรอบกฎหมายและข้อตกลงร่วมกันระหว่างประเทศเหล่านี้ คือความพยายามและความร่วมมือของประเทศต่างๆ ในการต่อกรกับมลพิษทางอากาศข้ามพรมแดนที่ส่งผลต่อสุขภาพของประชาชนและสิ่งแวดล้อม ในประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียนมีข้อตกลงอาเซียนว่าด้วยมลพิษจากหมอกควันข้ามแดน หรือ ASEAN Agreement on Transboundary Haze Pollution อันเป็นความตกลงทางด้านสิ่งแวดล้อมที่ชาติสมาชิกในกลุ่มสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ลงนามในปี 2545 โดยมีวัตถุประสงค์ในการลดมลพิษในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พร้อมกับแผนความร่วมมือมลพิษข้ามพรมแดน เพื่อขับเคลื่อนบรรลุเป้าหมายอาเซียนปลอดฝุ่นควัน ในปี 2563 หรือ Haze-Free Roadmap 2020

อย่างไรก็ตาม เห็นได้ชัดว่าแผนการทำงานนี้ไม่บรรลุผลและภูมิภาคอาเซียนยังคงเผชิญกับฝุ่นพิษโดยไม่มีการแก้ไขปัญหาระดับชาติและระดับภูมิภาคเพื่อขับเคลื่อนต่อเนื่องอย่างใดให้บรรลุเป้าหมาย นี่คือปัญหาที่ต้องอาศัยเจตจำนงทางการเมืองของผู้นำประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทยที่เกิดวิกฤตฝุ่นควันข้ามพรมแดนมายาวนานกว่า 15 ปี และเชื่อมโยงกับการขยายตัวของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในไทยและเขตประเทศเพื่อนบ้านอย่างต่อเนื่องเพื่อป้อนให้กับอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ แต่ตราบใดที่ยังไม่มีกรอบกฎหมายใดรองรับเพื่อกำหนดให้มีภาระรับผิดของบริษัทผู้ก่อมลพิษ อุตสาหกรรมก็ยังหลุดพ้นจากความผิดทางกฎหมายและความรับผิดชอบใดๆ ต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตของผู้ได้รับผลกระทบจากการทำธุรกิจของตน

 

 

logoline