svasdssvasds
เนชั่นทีวี

รักษ์โลก

Human Composting ตายแล้วกลายเป็นปุ๋ย หนทางสู่ความยั่งยืน

17 มีนาคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

รู้จัก Human Composting ปุ๋ยชีวภาพจากการสิ้นสภาพของชีวิต ทางเลือกใหม่ของการจัดการศพอย่างยั่งยืน ช่วยลดโลกร้อนและคาร์บอนฟุตพริ้นท์

การจัดการกับร่างกายมนุษย์ที่เสียชีวิตแล้วทำได้หลายวิธีตามความเชื่อและหลักทางศาสนา บ้างก็มีการใช้สารเคมีในการดองศพ การกลบฝัง และการเผาศพ ซึ่งล้วนแล้วแต่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้เกิดไอเดียใหม่ที่เปลี่ยนการตายให้มีประโยชน์กับสิ่งแวดล้อมและคนรุ่นหลังมากขึ้น ด้วยการย่อยสลายร่างกายให้เป็นปุ๋ยเพื่อบำรุงต้นไม้ ช่วยลดโลกร้อนและคาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint) ซึ่งนับว่าแนวคิดนี้ตอบโจทย์คนที่มีใจรักษ์โลกเป็นอย่างมาก เพราะแม้จะไม่มีลมหายใจแล้ว แต่ร่างกายก็ยังคงสืบทอดเจตนารมย์เพื่อช่วยโลกใบนี้ต่อไปด้วยการแปลงสภาพกลายเป็นปุ๋ยสำหรับนำไปใช้ประโยชน์

Human Composting ตายแล้วกลายเป็นปุ๋ย หนทางสู่ความยั่งยืน

แนวคิด Human Composting หรือปุ๋ยมนุษย์ นี้คือการแปลงสภาพร่างกายมนุษย์ให้กลายเป็นปุ๋ย โดยนำร่างผู้เสียชีวิตบรรจุในภาชนะแบบปิด แล้วนำเศษหญ้า ไม้ หรือฟางแห้งชิ้นเล็กๆ มากลบร่างผู้เสียชีวิตเพื่อให้จุลินทรีย์และแบคทีเรียมีประสิทธิภาพในการย่อยสลายร่างได้ดีขึ้น โดยกระบวนการนี้ใช้เวลาประมาณ 6-8 สัปดาห์ก็จะเสร็จสิ้น ภายหลังจากที่ร่างกายเริ่มย่อยสลายกลายเป็นปุ๋ยแล้ว จะหลงเหลือเพียงแต่กระดูกที่ไม่สามารถย่อยสลายได้ รวมทั้งชิ้นส่วนที่ย่อยสลายไม่ได้ เช่น ฟันปลอม โลหะ ฯลฯ จะถูกแยกไปรีไซเคิล ซึ่งญาติสามารถมารับดินปุ๋ยเหล่านี้กลับบ้านไปใช้ปลูกต้นไม้และทำสวนได้ สำหรับดินปุ๋ยจากกระบวนการดังกล่าวจะมีปริมาณอยู่ที่ 1 ลูกบาศก์เมตร

Human Composting ตายแล้วกลายเป็นปุ๋ย หนทางสู่ความยั่งยืน

จุดเริ่มต้นของการทำปุ๋ยมนุษย์ 

จุดเริ่มต้นของปุ๋ยมนุษย์นี้เริ่มมาจาก แคทรีนา สเปด ผู้ก่อตั้งและ CEO ของ Recompose เป็นบริษัทสตาร์ตอัปในแคลิฟอร์เนีย ที่ได้ให้บริการจัดการศพแบบรักษ์โลก ก่อตั้งขึ้นในปี 2020 โดยที่นี้ถือเป็นสถานที่สำหรับทำปุ๋ยมนุษย์แห่งแรกของสหรัฐอเมริกา 

ไอเดียของแคทรีนาเริ่มต้นมาจากการทำปุ๋ยจากปศุสัตว์หรือสัตว์เลี้ยงที่ตายในฟาร์ม ซึ่งมันสามารถนำมาใช้ประโยชน์หมุนเวียนต่อได้ในฟาร์ม ในทางเดียวกันเองเธอก็มองว่าถ้าหากเราสามารถเปลี่ยนร่างกายมนุษย์ให้นำกลับมาใช้ประโยชน์ได้อีกครั้งจะเป็นอีกหนทางในจัดการดูแลสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน 

Human Composting ช่วยเรื่องสิ่งแวดล้อมได้อย่างไรบ้าง 

แคทรีนา ระบุว่า การจัดการศพให้เป็นปุ๋ยนั้นจะสามารถลดการปล่อยคาร์บอนได้ถึงหนึ่งตัน เมื่อเทียบกับการเผาศพหรือการฝังศพแบบเดิม โดยการจัดการศพแบบเดิมนั้นสร้างคาร์บอนฟุตพริ๊นต์ให้กับโลกเรามหาศาล กล่าวคือ การจัดการศพแบบเดิมทำให้เกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของปัญหาก๊าซเรือนกระจก และยังสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติเกินจำเป็น เช่น ไม้ ที่ดิน ฯลฯ 

Human Composting ตายแล้วกลายเป็นปุ๋ย หนทางสู่ความยั่งยืน

บริษัทได้ตั้งเป้าหมายในกระบวนการดังกล่าวไว้ว่า มันจะช่วยปลูกต้นไม้ให้แก่โลกเราได้ถึง 1.2 ล้านต้นทั่วโลก และมันจะช่วยลดผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศได้ แคทรีนาคาดหวังว่าการจัดการศพด้วยวิธีนี้จะกลายเป็นอีกหนึ่งทางเลือกใหม่ของคนในสังคมมากขึ้น 

นอกจากเรื่องสิ่งแวดล้อมแล้ว Human Composting ยังช่วยลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนด้วย โดยมันจะช่วยประหยัดค่าฝังศพแบบได้ถึง 48% และที่สำคัญในเมืองใหญ่ที่ไร้สุสานหรือไม่มีพื้นที่มากพอที่จะฝังศพ การจัดการศพด้วยวิธีนี้ก็เห็นจะเป็นอีกวิธีที่เข้ามาแก้ไขปัญหาตรงนี้ได้ในอนาคต 

 

"นิวยอร์ก" ประกาศเป็นรัฐอันดับ 6 ของสหรัฐอเมริกาที่อนุญาตให้นำศพมนุษย์มาทำปุ๋ยได้อย่างถูกกฎหมาย

การจัดการศพด้วยวิธี Human Composting เกิดขึ้นครั้งแรกอย่างถูกกฎหมายในปี 2020 โดยบริษัท Recompose ในสหรัฐอเมริกา หลังจากนั้นธุรกิจดังกล่าวก็ถูกจัดตั้งขึ้นอย่างถูกกฎหมายในอีกหลายๆ พื้นที่ในสหรัฐอเมริกา ไม่ว่าจะเป็น โคโลราโด เวอร์มอนต์ และแคลิฟอร์เนีย

ขณะที่การจัดการร่างผู้ตายด้วยวิธีการย่อยสลายดังกล่าว ก็ได้รับการยอมรับและเป็นกระบวนการถูกกฎหมายในประเทศสวีเดนเช่นกัน ส่วนในสหราชอาณาจักร พบว่าทางการอนุญาตให้จัดการศพด้วยการฝังศพตามธรรมชาติโดยไม่มีโลงศพหรือใช้โลงศพที่ย่อยสลายได้ ซึ่งในช่วงต้นปีที่ผ่านมา มีรายงานข่าวจากสื่อนอกหลายสำนักระบุว่า “นครนิวยอร์ก” เป็นเมืองล่าสุดอันดับที่ 6 ในสหรัฐอเมริกา ที่ผ่านกฎหมายอนุญาตให้จัดการร่างผู้เสียชีวิตด้วยการย่อยสลายเป็นปุ๋ยได้ เพื่อเป็นทางเลือกในการจัดการศพที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

หากกล่าวโดยสรุป Human Composting เป็นกระบวนการจัดการศพที่สามารถลดการปลดปล่อยคาร์บอนได้ถึงพันตัน เมื่อเทียบกับการจัดการศพด้วยวิธีเผาหรือฝังแบบดั้งเดิม วิธีนี้ไม่เพียงแต่เป็นทางเลือกด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้นเท่านั้น แต่ยังเป็นทางเลือกที่ใช้งานได้จริงมากกว่าในเมืองที่มีสุสานอย่างจำกัดอีกด้วย

logoline