svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ต่างประเทศ

ผลเลือกตั้งรัฐสภายุโรปสู่จุดเปลี่ยนสำคัญ

การเลือกตั้งรัฐสภายุโรป อาจนำไปสู่จุดเปลี่ยน เมื่อพรรคขวาจัดช่วงชิงที่นั่งได้มากขึ้น ที่อาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงด้านนโยบายที่สำคัญของสหภาพยุโรป รวมทั้ง สงครามและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

การเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภายุโรปที่ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในการใช้สิทธิ์เลือกตั้งตามครรลองประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดในโลก อาจเดินทางมาถึงจุดเปลี่ยน เมื่อพรรคการเมืองขวาจัดในหลายประเทศ พากันคว้าชัยชนะ ทำให้ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ผู้นำวัย 46 ปี ของฝรั่งเศส เสี่ยงเอาอนาคตทางการเมืองเป็นเดิมพัน ด้วยการประกาศยุบสภาฯ จัดการเลือกตั้งใหม่ 2 รอบ คือ วันที่ 30 มิถุนายน กับวันที่ 7 กรกฎาคม

การประกาศยุบสภาฯ แบบเซอร์ไพรซ์ของมาครง และผลการเลือกตั้งใหม่ 2 รอบ จะมีผลอย่างยิ่งต่อการเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศส 2027 (2570) ที่มาครงไม่สามารถลงสมัครชิงตำแหน่งได้อีกแล้ว เพราะอยู่ครบ 2 สมัย เปิดโอกาสให้มารีน เลอเพน ผู้นำพรรคฝ่ายค้านขวาจัด "เนชั่นแนล แรลลี่" (National Rally) ในการลงชิงชัย ที่อาจทำให้การเมืองฝรั่งเศสเปลี่ยนขั้ว และส่งผลต่อทิศทางของนโยบายสหภาพยุโรป ในขณะที่กำลังเผชิญวิกฤตสงครามยูเครน ที่ยังคงเป็นปัญหาคาราคาซัง ตลอดจนนโยบายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ 

มารีน เลอเพน หัวหน้าพรรคแนวขวาจัดของฝรั่งเศส

ผลเลือกตั้งยังส่งผลให้นายกรัฐมนตรีอเล็กซานเดอร์ เดอ โกร วัย 48 ปี ของเบลเยียม ประกาศลาออก และขอทำหน้าที่รักษาการตั้งแต่วันนี้ (10 มิถุนายน) หลังจากพรรค "โอเพ่น วีแอลดี" (Open VLD) ของเขา แพ้ยับทั้งการเลือกตั้งระดับชาติและการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภายุโรปด้วย

การเลือกตั้งรัฐสภายุโรป เป็นการชิงชัยที่นั่ง 720 ที่นั่ง ของประเทศภาคีสมาชิก 27 ประเทศ โดยลดลงจาก 751 ที่นั่ง เนื่องจากอังกฤษถอนตัวออกไป หรือ เบร็กซิท (Brexit)  ส่วนผลเลือกตั้งที่ออกมา แสดงให้เห็นว่า บรรดาพรรคการเมืองขวาจัด ได้ที่นั่งราว 150 ที่นั่ง ที่ทำให้ยากต่อการที่พรรคสายกลาง ในการฟอร์มเสียงส่วนใหญ่ที่จำเป็นต่อการผ่านกฎหมายต่างๆ ได้

ผลเลือกตั้งรัฐสภายุโรปสู่จุดเปลี่ยนสำคัญ

เมื่อยึดตามมาตรา 138 ของสนธิสัญญาจัดตั้งประชาคมยุโรป (The Maastricht Treaty) ที่จัดทำขึ้นเมื่อปี 2535 กำหนดให้รัฐสภายุโรป มีสมาชิกที่ได้รับเลือกตั้งโดยตรงจากพลเมืองของประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป แต่จำนวนสมาชิกของสภาฯ ที่มาจากแต่ละประเทศ อาจจะไม่ได้สอดคล้องกับขนาดของประเทศ หรือจำนวนประชากร แต่ยึดหลักความได้สัดส่วนแบบถดถอย (degressive proportionality) ที่หมายความว่าสมาชิกสภายุโรปจากประเทศที่มีคนมาก จะเป็นตัวแทนของคนจำนวนมากกว่าสมาชิกสภายุโรปจากประเทศที่มีประชากรน้อย เช่น สมาชิกสภายุโรปของเยอรมนี 1 คน เป็นตัวแทนของประชากร 8.5 แสนคน แต่สมาชิกสภายุโรปจากลักเซมเบิร์ก 1 คน เป็นตัวแทนของพลเมือง 9 หมื่นคน แต่สมาชิกสภายุโรป จะมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 5 ปี

ผลเลือกตั้งรัฐสภายุโรปสู่จุดเปลี่ยนสำคัญ

การเลือกตั้งสมาชิกสภายุโรป ยังเป็นการเลือกตั้งโดยสมัครใจในหลายประเทศ แต่ในบางประเทศ กำหนดให้การเลือกตั้งนี้ เป็นการเลือกตั้งโดยหน้าที่ ได้แก่ เบลเยียม ไซปรัส กรีซ และลักเซมเบิร์ก โดยแต่ละประเทศสมาชิกของสหภาพยุโรป จะเป็นผู้กำหนดวันเลือกตั้งเองในช่วงเวลาที่กำหนด

รัฐสภายุโรป มีอำนาจจำกัดในการบัญญัติกฎหมายของสหภาพยุโรป ไม่มีอำนาจในการจัดตั้งรัฐบาล หรือคอยตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลเหมือนรัฐสภาทั่วไป แต่จะมีหน้าที่หลักในการบัญญัติกฎหมายของสหภาพยุโรป ในระดับต่างๆ ตั้งแต่เรื่องการให้ความยินยอม เช่น เรื่องสิทธิของพลเมือง และการทำข้อตกลงกับต่างประเทศ ไปจนถึงการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ เช่น นโยบายด้านการคุ้มครองผู้บริโภค มาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม การอนุมัติร่างงบประมาณของสหภาพยุโรป รวมทั้งทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมโยงกับประชาชน และยังมีอิทธิพลต่อการกำหนดนโยบายต่างประเทศของสหภาพยุโรปและประเทศสมาชิกด้วย