ศูนย์บริการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโคเปอร์นิคัสของสหภาพยุโรป เผยแพร่รายงานประจำเดือนในวันอังคาร (9 มีนาคม 2567) ระบุว่า เดือนมีนาคม 2567 มีอุณหภูมิสูงขึ้นอีก 1.68 องศาเซลเซียส เกินกว่าระดับช่วงก่อนยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ทำสถิติเป็นอุณหภูมิสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ และเป็นเดือนที่ 10 ที่โลกทำสถิติอุณหภูมิสุดสุดครั้งใหม่ในแต่ละเดือนติดต่อกัน
อุณหภูมิเกินค่าเฉลี่ยวัดได้ในหลายพื้นที่ของแอฟริกา, อเมริกาใต้, กรีนแลนด์ และแอนตาร์กติกา และอุณหภูมิบนพื้นผิวทะเลยิ่งทำสถิติสูงสุดครั้งใหม่ที่น่าตกใจ
รายงานระบุด้วยว่า ตลอด 12 เดือนที่สิ้นสุดในเดือนมีนาคมปีนี้ยังจัดเป็นช่วงเวลาหนึ่งปีที่มีอุณหภูมิสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ของโลกอีกด้วย โดยนับจากเดือนเมษายน 2566จนถึงมีนาคม 2567 อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มสูงขึ้นอีก 1.58 องศาเซลเซียสจากค่าเฉลี่ยระหว่างช่วงปี ค.ศ. 1850-1900
แม้สถิติใหม่นี้อาจยังไม่ได้หมายถึงว่า โลกร้อนขึ้นเกินลิมิตที่ 1.5 องศาเซลเซียสจากอุณหภูมิช่วงยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหรรม ที่ผู้นำทั่วโลกกำหนดไว้ในข้อตกลงปารีสปี 2558 เพื่อแก้ไขปัญหาโลกร้อนแล้ว แต่ก็สะท้อนแนวโน้มสู่ทิศทางดังกล่าว
การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและผลกระทบปรากฏเด่นชัดในทั่วโลก โดยเฉพาะในปีนี้เวเนซุเอลาเผชิญไฟป่ามากที่สุดเป็นประวัติการณ์ และภูมิภาคแอฟริกาใต้เผชิญภัยแล้งที่ทำลายพืชผลทางการเกษตร และอุณหภูมิในทะเลในซีกโลกใต้ทำให้เกิดปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวครั้งใหญ่
ปรากฏการณ์เอลนีโญเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้โลกมีอุณหภูมิสูงขึ้น โดยพุ่งสูงสุดช่วงเดือนธันวาคม-มกราคม และเริ่มบรรเทาลง แต่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นสาเหตุหลักของอุณหภูมิที่สูงขึ้น
เกวิน ชมิดต์ ผู้อำนวยการสถาบันก็อดดอาร์ดเพื่อการศึกษาอวกาศ ขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐฯ (นาซา) กล่าวว่า ภายในสิ้นฤดูร้อนนี้ หากเรายังเห็นอุณหภูมิทุบสถิติในแอตแลนติกเหนือ หรือ ที่อื่นอีก แสดงว่า เราก้าวสู่ดินแดนที่ไม่คุ้นเคยแล้วจริง ๆ