svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ต่างประเทศ

ทำไมคนอเมริกันในสนามเลือกตั้งใหญ่โหยหา “เศรษฐกิจยุคทรัมป์”

โพลล์ใหม่ชี้ โดนัลด์ ทรัมป์ มีคะแนนนิยมนำ โจ ไบเดน ใน 6 สนามเลือกตั้งใหญ่จากทั้งหมด 7 แห่ง สะท้อนความกังวลต่อเศรษฐกิจและผลงานของไบเดน ทำให้น่าหาคำตอบว่า ทำไมชาวอเมริกันในรัฐใหญ่เชื่อมั่นว่า ทรัมป์จะบริหารเศรษฐกิจได้ดีกว่าไบเดน

ทำไมคนอเมริกันในสนามเลือกตั้งใหญ่โหยหา “เศรษฐกิจยุคทรัมป์”

ผลสำรวจความคิดเห็นล่าสุด ที่วอลล์สตรีทเจอร์นัลเผยแพร่ในวันที่ 3 เมษายน 2567 พบว่า อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ มีคะแนนนิยมนำหน้าประธานาธิบดีโจ ไบเดน 2-8 จุดเปอร์เซ็นต์ ในสนามเลือกตั้งใหญ่ที่มีการแข่งขันดุเดือด ได้แก่ รัฐเพนซิลเวเนีย, มิชิแกน, แอริโซนา, จอร์เจีย, เนวาดา และนอร์ธแคโรไลนา ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่มีพรรคการเมืองที่ 3 และผู้สมัครอิสระร่วมแข่งขันด้วย แต่ผลคะแนนนิยมออกมาคล้ายกัน หากเป็นการแข่งขันระหว่างทรัมป์และไบเดนตัวต่อตัว ส่วนในรัฐวิสคอนซินซึ่งเป็นรัฐที่ 7 ที่มีการแข่งขันสูสี ไบเดนมีคะแนนนิยมนำทรัมป์ 3 จุดเปอร์เซ็นต์ ทั้งในการแข่งขันตัวต่อตัวกับทรัมป์ และการแข่งขันที่มีพรรคที่ 3 และผู้สมัครอิสระด้วย

นโยบายหาเสียงของไบเดนเพื่อชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่ 2 พยายามเรียกคะแนนเสียงจากผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่กังวลเรื่องสภาพเศรษฐกิจของสหรัฐฯ แม้ว่าการจ้างงานยังเติบโต การใช้จ่ายของผู้บริโภคอยู่ในเกณฑ์ดี และมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ขยายตัวเกินคาดก็ตาม ซึ่งเป็นประเด็นที่สร้างความข้องใจให้กับนักเศรษฐศาสตร์และนักยุทธศาสตร์ของพรรคเดโมแครต

ผลสำรวจของวอลล์สตรีทเจอร์นัลพบว่า คะแนนความไม่พอใจผลงานของไบเดนมีมากกว่าคะแนนความพอใจอย่างน้อย 16 จุดเปอร์เซ็นต์ และมากกว่า 20 จุดเปอร์เซนต์ใน 4 รัฐจาก 7 รัฐดังกล่าว ขณะที่คะแนนความไม่พอใจต่อผลงานของทรัมป์ในทำเนียบขาวมีแค่เพียงในรัฐเดียว คือ รัฐแอริโซนา นอกจากนี้ผู้ตอบคำถามมากถึง 48% มองว่า ทรัมป์มีความพร้อมทั้งทางร่างกายและจิตใจมากกว่าไบเดน ขณะที่มีเพียง 28% มองว่าไบเดนมีความพร้อมมากกว่า

  ทำไมคนอเมริกันในสนามเลือกตั้งใหญ่โหยหา “เศรษฐกิจยุคทรัมป์”

ผลสำรวจนี้สอบถามความเห็นผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 4,200 คน หรือ 600 คนใน 7 รัฐ ช่วงวันที่ 17-24 มีนาคม 2567

ผลสำรวจของวอลล์สตรีทเจอร์นัลสะท้อนให้เห็นถึงการแบ่งขั้ว และความท้าทายที่ไบเดนต้องเผชิญ ในขณะที่ความทรงจำร้าย ๆ เกี่ยวกับสมัยทรัมป์เริ่มเลือนลาง โพลล์พบว่าในรัฐสวิงสเตท หรือรัฐที่ไม่ได้เป็นฐานเสียงของพรรคใด ให้ความสำคัญกับประเด็นเศรษฐกิจและเงินเฟ้อมากกว่ารัฐอื่น ๆ ทั่วประเทศ และมีความเห็นในแง่ลบต่อสถานะทางเศรษฐกิจของประเทศมากกว่า

  • ความเข้าใจกับข้อมูลจริง

ผู้มีสิทธิออกเสียงที่ลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งเพียงประมาณ 1 ใน 4 ใน ทั้ง 7 รัฐตามผลสำรวจ มองว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ดีขึ้นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ทั้ง ๆ ที่ข้อมูลทางเศรษฐกิจบ่งชี้ว่าเงินเฟ้อเริ่มบรรเทาลง สหรัฐฯ ส่อเค้าหลีกเลี่ยงภาวะถดถอยที่คาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้น และเศรษฐกิจยังชะลอตัวลงแบบนุ่มนวล โดยไม่ทำให้อัตราว่างงานพุ่งสูงขึ้นอย่างที่กังวลอีกด้วย

  • เศรษฐกิจสหรัฐฯ กับ เศรษฐกิจในรัฐของตัวเอง

การไม่สัมพันธ์กันระหว่างความเห็นของผู้มีสิทธิเลือกตั้งกับข้อมูลเศรษฐกิจที่แท้จริง ปรากฏชัดใน 7 รัฐที่มีการสำรวจ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเกือบครึ่งคิดว่า สถานการณ์เศรษฐกิจของตัวเองอยู่ในระดับที่ดี และมองเศรษฐกิจในรัฐของตัวเองในแง่บวก แต่กับมองเศรษฐกิจภาพรวมของทั้งประเทศในแง่ลบ ปัจจัยหนึ่งที่อาจเป็นสาเหตุของการไม่สัมพันธ์กันดังกล่าวคือ ความเห็นที่แบ่งฝักแบ่งฝ่าย ซึ่งอาจเป็นเพราะต้องการสะท้อนความเห็นสนับสนุนหรือคัดค้านฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

ทำไมคนอเมริกันในสนามเลือกตั้งใหญ่โหยหา “เศรษฐกิจยุคทรัมป์”

  • ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไว้ใจ “ทรัมป์” มากกว่า “ไบเดน”

งานหนักของไบเดนเวลานี้คือ จะทำอย่างไรเพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้มิสิทธิเลือกตั้ง ว่าเมื่อฐานะการเงินของตัวเองและสถานะเศรษฐกิจของรัฐดี ก็สะท้อนภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศดีด้วยเช่นกัน ขณะที่โพลล์ของวอลลสตรีทเจอร์นัลพบว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเกือบครึ่งหรือมากกว่าครึ่งในรัฐสวิงสเตททั้ง 7 รัฐ บอกว่าทรัมป์เป็นผู้สมัครเลือกตั้งประธานาธิบดีที่ดีที่สุด ที่จะสามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ และผู้ลักลอบเข้าเมืองได้

  • สภาพเศรษฐกิจยุคทรัมป์และไบเดน

ชาวอเมริกันยังคงจดจำได้ดีถึงสภาพเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งในช่วงปี 2560-2562 ในช่วง 3 ปีแรกของสมัยทรัมป์ ก่อนที่จะเกิดการระบาดของโควิด-19 ในปี 2563 เมื่อเทียบกับเศรษฐกิจยุคไบเดนช่วงหลังการระบาดเศรษฐกิจยุคทรัมป์ช่วง 3 ปีแรก ตัวเลขการจ้างงานสูง อัตราว่างงานต่ำสุดใน 50 ปี การเติบโตทางเศรษฐกิจขยายตัวไม่มากนักแต่ก็เติบโตต่อเนื่อง และในช่วงนั้นอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่เกือบ 2% แต่โควิด-19 ทำให้เงินเฟ้อทำสถิติสูงสุดในรอบ 40 ปี ที่ 9.1% ในเดือนมิถุนายน 2565 ยิ่งกว่านั้นค่าจ้างในช่วง 3 ปีแรกสมัยทรัมป์ มีอัตราเพิ่มขึ้นเกือบ 3% ต่อปี แตกต่างจากยุคหลังโควิด ที่ทำให้เงินค่าจ้างเติบโตไม่ทันเงินเฟ้อ ส่งผลให้กำลังซื้อลดลงแต่ราคาสินค้ากลับพุ่งสูงขึ้นราวติดจรวด

แต่แท้จริงแล้วสภาพเศรษฐกิจมักเป็นเรื่องของวัฏจักรที่มีทั้งขาขึ้นและขาลง ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องมากนักว่าใครจะนั่งบริหารในทำเนียบขาว แต่ประธานาธิบดีก็มักได้เครดิตเมื่อเศรษฐกิจดี และถูกโจมตีเมื่อเศรษฐกิจแย่ แม้ว่ามีอำนาจอย่างจำกัดที่จะควบคุมระบบเศรษฐกิจที่ซับซ้อนได้