ผู้สร้างก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่
รู้ไหมว่า กิจกรรมทางทหารทั่วโลก สร้างก๊าซเรือนกระจกมากถึง 6 เปอร์เซ็น จากก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดที่มนุษย์สร้างขึ้นในแต่ละปี เรียกได้ว่าถ้าจะมีหน่วยงานไหนสร้างปัญหาสิ่งแวดล้อมได้เทียบเท่ากับอุตสหากรรมขนาดใหญ่ทั่วโลก ก็ต้องเป็นหน่วยงาน 'ทหาร' นี่แหละ นับแค่กองทัพสหรัฐอย่างเดียวก็สร้างก๊าซเรือนกระจกมากกว่าอุตสาหกรรมทั้งหมดของโปรตุเกส และเดนมาร์ก ด้วยซ้ำ
ทำไมต้องปิดบังข้อมูล
โดยปกติแล้วหน่วยงานทหารแต่ละประเทศไม่เคยต้องออกมาชี้แจงว่า ในแต่ละปี พวกเขาทำลายสิ่งแวดล้มอย่างไรบ้าง ภายใต้ข้ออ้างด้านความมั่นคงว่า หากมีการชี้แจง อาจทำให้มีข้อมูลความลับทางการทหารรั่วไหลไปถึงฝ่ายตรงข้ามได้ นี่จึงเป็นข้อยกเว้นที่กลายเป็นหลุมดำขนาดใหญ่ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นเรื่อยๆทุกปีโดยไม่ได้รับการเยียวยา โดยเฉพาะปัญหาที่เกิดจากการก่อสงคราม
ทุกครั้งที่รบกัน โลกต้องสูญเสียไปเท่าไหร่
รถถัง
ยานพาหนะทางทหารที่เผาผลาญน้ำมันเชื้อเพลิงทีละ 200 - 600 ลิตร ทุกๆการขับเคลื่อนในระยะทาง 100 กิโลเมตร เทียบเท่ากับรถกระบะส่วนบุคคลตั้งแต่ 20 - 75 คัน
เครื่องบินรบ
ส่วนใหญ่แต่ละลำจะกินน้ำมันเชื้อเพลงราว 100 - 400 แกลลอนต่อชั่วโมง แต่ถ้าเป็นเครื่องบินรบระดับความเร็วเหนือเสียง หรือ Supersonic จะเผาผลาญเชื้อเพลงไปถึง 25,750 แกลลอนใน 1 ชั่วโมง เทียบเท่าการใช้นำมันของรถยนต์กว่า 42000 คัน
เรือรบ
ที่นอกจากจะผลาญเชื้อเพลิงทีกว่า 10000-14000 แกลลอนต่อชั่วโมงแล้ว ในระหว่างปฏิบัติการเรือรบปล่อยของเสียจำนวนมากลงสู่แหล่งน้ำ ซึ่งไปทำลายแหล่งที่อยู่อาศัยทางทะเลและแนวชายฝั่งด้วย
การยิงปืนหรือทิ้งระเบิด
นอกจากจะเป็นการสังหารมนุษย์ด้วยกันแล้ว ยังมีสารเคมีต่างๆ เช่น ยูเรเนียม ที่มักจะหลงเหลืออยู่ในพื้นที่ จนปนเปื้อนในพื้นดิน ในน้ำ และในอากาศ ซึ่งยากมากที่จะฟื้นฟูกลับมา แม้ว่าวันหนึ่งสงครามจบลง แต่สารเคมีเหล่านี้จะยังบ่อนทำลายสุขภาพของผู้คนในบริเวณนั้นไปอีกหลายสิบปี
ยังไม่นับรวมอาวุธนิวเคลียร์ ที่จะปล่อยสารเคมีอันตรายร้ายแรง ภายในชั่วพริบตาสามารถคร่าชีวิตในพื้นที่ ทั้งพืช สัตว์ และมนุษย์ ได้ถึง 90%
นอกจากนี้ยังมีการซ้อมรบทางทหารที่จัดขึ้นทุกปีๆ ซึ่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นปริมาณมหาศาลแล้ว ไปจนถึงการซ่อมบำรุงยุทโธปกรณ์ต่างๆให้พร้อมใช้งานตลอดเวลา
ที่ผ่านมามีหลายองค์กรรวมถึงภาคประชาชนจากหลายประเทศที่เริ่มออกมาเรียกร้องให้กองทัพมีการเปิดเผยข้อมูลผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ไปจนถึงการมีมาตรการเยียวยา ชดเชย หรือหาวิธีลดผลกระทบให้ได้มากที่สุด ซึ่งก่อนหน้านี้กองทัพหลายๆประเทศในยุโรปก็ออกมาตอบรับคำเรียกร้อง แต่เมื่อเข้าสู่ช่วงสงครามระหว่างอิสราเอลกับฮามาส ก็เหมือนจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ปัญหาสิ่งแวดล้อมจากสงครามจะถูกละเลยอีกครั้ง ตอนนี้ก็คงทำได้แค่คาดหวังว่าสงครามที่เกิดขึ้นในหลายประเทศจะจบลงเร็วที่สุดเท่านั้น