svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ต่างประเทศ

ไทยติดโผประเทศกักขังสัตว์ป่าเพื่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยว

เผยรายงานที่น่าตกตะลึง มีสัตว์ป่าจำนวนมากถึง 5,500 ล้านตัว ถูกกักขังในสภาพที่โหดร้ายอยู่ทั่วโลก ก่อให้เกิดความวิตกว่าอาจนำไปสู่การระบาดของโรคที่เกิดจากสัตว์ในระดับเดียวกับโควิด-19 และในรายชื่อประเทศที่กักขังในสภาพที่เลวร้ายมีประเทศไทยรวมอยู่ด้วย

รายงานที่น่าตกตะลึงขององค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก (World Animal Protection) หรือ WAP ที่เผยแพร่โดยสื่ออังกฤษ "DailyMail" ระบุว่า สัตว์ป่า 5,500 ล้านตัว จาก 487 สายพันธุ์ ได้รับการเลี้ยงดูในสภาพที่โหดร้าย ก่อให้เกิดความเสี่ยงมหาศาลต่อมนุษย์และสัตว์ โดยนักวิจัยชี้ว่าด้วยจำนวนสัตว์ 50,000 ตัว ที่แออัดในฟาร์มแห่งเดียว เป็นความเสี่ยงที่จะเกิดโรคระบาดที่มีสัตว์เป็นพาหะในระดับเดียวกับโควิด แค่เพียงรอว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใด 

ไทยติดโผประเทศกักขังสัตว์ป่าเพื่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยว

ตั้งแต่ฟาร์มหมีในแอฟริกาใต้ไปจนถึง "เขตรักษาพันธุ์ช้าง" ของประเทศไทย ถูกระบุในรายงานว่าได้เน้นย้ำถึงความโหดร้ายที่อยู่เบื้องหลังอุตสาหกรรมมูลค่าหลายพันล้านปอนด์ ข้อมูลที่เผยแพร่ทางออนไลน์ระบุว่า มีสัตว์ป่าจำนวนมากกว่า 936,000 ล้านตัว (936,321,047- 963,711,547 ตัว) ที่ถูกเลี้ยงอยู่ในฟาร์มระหว่างปี 2543-2563 

ไทยติดโผประเทศกักขังสัตว์ป่าเพื่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยว

นักวิจัยของ WAP ได้ใช้การประมาณการตัวเลขในประเทศที่มีข้อมูลน้อยหรือไม่มีเลย และแม้จะเน้นย้ำว่าเป็นการคำนวณขั้นพื้นฐานมาก แต่เชื่อว่าตัวเลขที่แท้จริงจะอยู่ที่ราว 5,500 ล้านตัว แต่นักวิจัยได้เน้นย้ำ 3 สายพันธุ์เป็นพิเศษ คือ หมี ช้างและสิงโต 

หมีดำ, หมีหมาและหมีกริซลีย์ ต่างถูกเลี้ยงในฟาร์มที่มีสภาพโหดร้าย เพียงเพื่อจะเอาดีของพวกมันไปใช้วงการแพทย์แผนโบราณของจีน (Traditional Chinese Medicine) หรือ TCM โดยพบว่ามีหมีมากกว่า 24,000 ตัว อยู่ในฟาร์มในจีน เวียดนาม เมียนมา ลาวและเกาหลีใต้ แต่มีรายงานว่าเฉพาะที่จีนมีหมีราว 20,000 ตัว อยู่ในฟาร์ม 40 แห่ง ของบริษัทยาขนาดใหญ่ในอุตสาหกรรมมูลค่ามากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์ 

ภาพ : worldanimalprotection

ในการสกัดน้ำดี หมีจะถูกผ่าตัดเผื่อสร้างช่องสำหรับสอดสายสวนเข้าไปในถุงน้ำดี เพื่อให้สามารถระบายออกได้ทุกวัน สร้างความเจ็บปวดและเสี่ยงติดเชื้อ ทั้งยังสวม "เครื่องรัดตัวเหล็ก" (iron corsets) ป้องกันไม่ให้พวกมันเกาหรือกัดบาดแผล ส่งผลให้หมีตายเป็นจำนวนมาก สภาพที่น่าเวทนาของพวกมันคือมีแผล ขนร่วง มีพยาธิ ท้องเสีย ถูกถอดเล็บและถอนฟัน กระดูกผิดรูป และมีปัญหาด้านระบบการหายใจ

นอกจากหมี สิงโตในฟาร์มที่แอฟริกาใต้ก็มีวงจรชีวิตที่น่าเวทนา เพราะถูกแสวงหาประโยชน์ทั้งในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและ TCM โดย WAP ระบุว่า มีสิงโต 7,979 ตัว อยู่ในฟาร์ม 266 แห่งในแอฟริกาใต้ โดยลูกสิงโตจะถูกเลี้ยงเหมือนสัตว์เลี้ยงเพื่อให้นักท่องเที่ยวได้เดินและจับต้องพวกมันได้ จนกว่าพวกมันจะแก่เกินไปหรืออันตรายเกินกว่าจะให้มนุษย์เข้าใกล้ได้ และกลายเป็นสัตว์ที่ถูกล่าโดยนักท่องเที่ยวกระเป๋าหนัก (canned hunts) จากนั้นกระดูกและอวัยวะของพวกมันจะถูกขายเข้าไปในอุตสาหกรรม TCM

ภาพ : worldanimalprotection

สิงโตพวกนี้ถูกเลี้ยงในพื้นที่คับแคบ แทบไม่เคยได้รับความเอาใจใส่เกี่ยวกับอาหารหรือการดูแลทางการแพทย์ ยิ่งในช่วงที่ขาดแคลนนักท่องเที่ยว สภาพความเป็นอยู่ของพวกมันยิ่งเลวร้าย อาหารไม่เพียงพอเพราะทางฟาร์มต้องประหยัดเงิน ยังมีการผสมพันธุ์กันโดยสายเลือดและการตั้งท้องมากเกินไปกลายเป็นเรื่องปกติ ทำให้ลูกที่เกิดมามีความพิการแต่กำเนิดและมีปัญหาสุขภาพ หลายตัวไม่แข็งแรงและอายุสั้น 

ส่วนช้าง ซึ่งไม่ได้ถูกเลี้ยงมาเพื่อใช้ส่วนต่าง ๆ ในร่างกายเพื่ออุตสาหกรรมยาเป็นหลักเหมือนกับหมีหรือสิงโต แต่มันมีบทบาทอย่างมากในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ช้างเป็นสัตว์ฉลาดและอายุยืน นักท่องเที่ยวจำนวนมากยอมจ่ายเงินเพื่อเข้าร่วมประสบการณ์ขี่ช้างหรืออาบน้ำช้างในสถานที่ต่าง ๆ ทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเชื่อว่ามีช้างราว 2,798 ตัว ถูกเลี้ยงอยู่ในไทย ทำรายได้ปีละ 581-770 ล้านดอลลาร์ (20,805-27,575 บาท) และการที่ช้างมีราคาตัวลด 50,000 ดอลลาร์ (ราว 1,700,000 บาท) ทำให้การล่าและการลักลอบนำช้างป่าข้ามพรมแดนเป็นสิ่งจูงใจ

ภาพ : worldanimalprotection

มีรายงานช้างถูกเลี้ยงในประเทศไทยเพิ่มขึ้น 134% ระหว่างปี 2553-2563 และแม้สภาพความเป็นอยู่จะต่างจากสัตว์ที่ถูกเลี้ยงเพื่อแสวงประโยชน์อื่น ๆ แต่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวก็ซ่อนความทุกข์ทรมานของพวกมันเอาไว้ มีคลิปวิดีโอที่ถ่ายระหว่างปี 2561-2563 แสดงการฝึกลูกช้างเพื่อตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ช้างน้อยหลายตัวถูกล่ามโซ่และผูกด้วยเชือกเพื่อเรียนรู้คำสั่งของมนุษย์ ถ้าดื้อจะถูกลงโทษให้เจ็บด้วยขอ ไม้หรือแม้กระทั่งตะปู ในระหว่างการฝึกวันละ 2 ครั้ง

นักวิจัยชี้ว่าการฝึกของควาญไทยทำให้ช้างเครียด แต่ไม่ควรโทษแต่ควาญ ต้องโทษอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่ต้องการช้างที่ผ่านการฝึกเพื่อให้ปลอดภัยสำหรับการขี่ การแสดงและดึงดูดนักท่องเที่ยว ข้อมูลของ WAP ระบุด้วยว่า ในสถานที่ท่องเที่ยว 34 แห่งของไทย มีช้างป่ามากกว่า 1,300 ตัว ถูกเอามาฝึกเพื่อให้นักท่องเที่ยวขี่และเล่นน้ำ และนอกจากช้างยังมีฟาร์มจระเข้และอัลลิเกเตอร์ ที่มีมูลค่าสูงในอุตสาหกรรมแฟชั่น โดยฟาร์มแห่งหนึ่งพบว่าพวกมันอยู่กันอย่างแออัดมากกว่า 50,000 ตัว