svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ต่างประเทศ

จูเลียน อัสซานจ์ ผู้ก่อตั้ง “วิกิลีกส์” สู้ยกสุดท้าย ค้านส่งตัวให้สหรัฐฯ

ศาลอังกฤษกำลังไต่สวนว่า จูเลียน อัสซานจ์ ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์วิกิลีกส์ มีสิทธิยื่นอุทธรณ์ครั้งใหม่เพื่อยับยั้งการส่งตัวข้ามแดนให้สหรัฐฯ ที่ต้องการตัวเขาในคดีเปิดเผยเอกสารลับทางทหารและการทูตที่สร้างความสั่นสะเทือนไปทั่วโลกหรือไม่

ศาลสูงในกรุงลอนดอนของอังกฤษเริ่มการไต่สวนนานสองวันเมื่อวันอังคารเพื่อตัดสินใจว่าจะให้เปิดการพิจารณาคำอุทธรณ์ที่จะเป็นโอกาสสุดท้ายของจูเลียน อัสซานจ์ ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์วิกิลีกส์ (Wikileaks) วัย 52 ปี ในการยับยั้งการส่งตัวเขาจากอังกฤษไปที่สหรัฐฯ หลังจากเขาพยายามต่อสู้คดีมานานกว่า 13 ปี และทนายความ โต้แย้งในศาลว่า สหรัฐฯ ต้องการลงโทษอัสซานจ์จากการเปิดโปงอาชญากรรมร้ายแรงที่รัฐบาลก่อไว้ และวิตกว่า อัสซานจ์อาจไม่ได้รับความยุติธรรมหากถูกส่งตัวไปสหรัฐฯ ส่วนอัสซานจ์ไม่ได้ขึ้นศาลเพราะว่าป่วย   จูเลียน อัสซานจ์ ผู้ก่อตั้ง “วิกิลีกส์” สู้ยกสุดท้าย ค้านส่งตัวให้สหรัฐฯ
สเตลลา อัสซานจ์ ภรรยาของอัสซานจ์ กล่าวต่อหน้าฝูงชนผู้สนับสนุนที่ชุมนุมด้านนอกศาลว่า ชีวิตของอัสซานจ์อยู่ในความเสี่ยง พร้อมกับเรียกร้องให้อังกฤษปล่อยตัวเขา

นอกจากนี้ยังมีการชุมนุมของผู้สนับสนุนของอัสซานจ์ในหลายเมืองใหญ่ของยุโรป ทั้งในเมืองบาร์เซโลนาของสเปน, กรุงปารีสของฝรั่งเศส และกรุงเบอร์ลินของเยอรมนี เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวเขา และอย่าส่งตัวไปสหรัฐฯ และรัฐสภาออสเตรเลียเรียกร้องเมื่อสัปดาห์ที่แล้วให้อัสซานจ์ได้รับอนุญาตกลับไปดินแดนบ้านเกิดในออสเตรเลีย 

จูเลียน อัสซานจ์ ผู้ก่อตั้ง “วิกิลีกส์” สู้ยกสุดท้าย ค้านส่งตัวให้สหรัฐฯ อัยการสหรัฐฯ ต้องการดำเนินคดีกับอัสซานจ์ในหลายข้อหารวม 17 กระทง เกี่ยวเนื่องจากการเผยแพร่เอกสารลับที่เป็นบันทึกทางการทหารและทางการทูตของสหรัฐฯ  ผ่านเวบไซต์วิกิลีกส์ในปี 2553 เอกสารเหล่านี้เผยหลักฐานที่บ่งชี้ว่า ทหารสหรัฐฯ อาจเข้าข่ายก่ออาชญากรรมสงครามในอิรักและอัฟกานิสถาน

ข้อหาเหล่านี้อาจทำให้เขาได้รับโทษจำคุกสูงสุดรวม 175 ปี แต่ภรรยาของอัสซานจ์ บอกกับผู้สนับสนุนว่า เขาอาจได้รับโทษประหารชีวิตโดยไม่ตั้งใจ เพราะสุขภาพแย่ลงทั้งกายและใจ และหากถูกส่งตัวไปสหรัฐฯ อาจเสียชีวิตได้

รัฐบาลสหรัฐฯ กล่าวหาว่า การปล่อยข้อมูลดังกล่าวรั่วไหลสู่สาธารณชนสร้างความเสี่ยงอันตรายต่อชีวิตสายลับของสหรัฐฯ ขณะที่ผู้สนับสนุนยกย่องอัสซานจ์เป็นวีรบุรุษและสื่อมวลชน ที่ถูกดำเนินคดีจากการเปิดเผยการกระทำผิดของสหรัฐฯ

จูเลียน อัสซานจ์ ผู้ก่อตั้ง “วิกิลีกส์” สู้ยกสุดท้าย ค้านส่งตัวให้สหรัฐฯ อัสซานจ์เริ่มเผชิญปัญหาทางกฎหมายในปี 2553 เมื่อถูกจับตัวในกรุงลอนดอนตามคำร้องขอของสวีเดน ที่ต้องการสอบปากคำเขาในข้อหาข่มขืนและล่วงละเมิดทางเพศผู้หญิง 2 คน และในปี 2555 เขาหนีประกันตัว และเข้าไปหลบซ่อนตัวในสถานทูตเอกวาดอร์ในกรุงลอนดอนนาน 7 ปี ก่อนถูกขับออกจากสถานทูตในปี 2562 และตำรวจอังกฤษเข้าจับกุมและส่งตัวไปเรือนจำเนื่องจากละเมิดเงื่อนไขการประกันตัว และนับจากนั้นเขาถูกควบคุมตัวในเรือนจำที่มีการรักษาความปลอดภัยสูงสุดในแถบชานเมืองกรุงลอนดอน ขณะที่สวีเดนยุติการสอบสวนคดีทางเพศกับอัสซานจ์ในปี 2562

และในปี 2564  ศาลแขวงอังกฤษคัดค้านการส่งตัวข้ามแดนให้สหรัฐฯ เพราะกังวลเกี่ยวกับสุขภาพจิต ที่ทำให้มีความเสี่ยงอัสซานจ์อาจฆ่าตัวตาย เมื่อถูกคุมขังในเรือนจำสหรัฐฯ แต่ต่อมาศาลในระดับสูงกว่าพลิกคำตัดสิน  และรัฐบาลอังกฤษลงนามคำสั่งส่งตัวเขาให้สหรัฐฯ ในเดือนมิถุนายน 2565

หากการอุทธรณ์คดีล่าสุดในครั้งนี้ล้มเหลว อัสซานจ์ยังอาจฟ้องร้องต่อศาลยุโรปเพื่อสิทธิมนุษยชนเพื่อยับยั้งการส่งตัวข้ามแดน แต่ผู้สนับสนุนกังวลว่า เขาอาจถูกส่งตัวไปสหรัฐฯ แล้วกว่าจะมีคำตัดสินออกมา เพราะรัฐบาลอังกฤษเซ็นคำสั่งส่งตัวไปแล้ว

ที่ผ่านมาข้อโต้แย้งของทนายฝ่ายอัสซานจ์ถูกปฏิเสธจากศาลอังกฤษ และในการต่อสู้ครั้งสุดท้ายนี้ทนายพยายามเสนอประเด็นใหม่ โดยโต้แย้งว่า การดำเนินคดีกับอัสซานจ์เป็นคดีที่มีเหตุจูงใจทางการเมืองสืบเนื่องจากวิกิลีกส์เปิดเผยการก่ออาชญากรรมโดยบางหน่วยงานของรัฐบาลสหรัฐฯ ในระดับที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน และต้องการให้ผู้พิพากษาพิจารณาข้อกล่าวหาว่า สำนักงานข่าวกรองกลางสหรัฐฯ (CIA) วางแผนลักพาตัวหรือฆาตกรรมอัสซานจ์ ขณะเขาอยู่ในสถานทูตเอกวาดอร์ โดยมีหลักฐานใหม่ว่า แผนนี้เป็นเรื่องจริง