svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ต่างประเทศ

‘เฮนรี คิสซิงเจอร์’ นักการทูตเพื่อสันติภาพหรืออาชญากรสงคราม

ย้อนดูประวัติและการทำงานของ เฮนรี คิสซิงเจอร์ อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ที่เพิ่งเสียชีวิตในวัย 100 ปี ซึ่งเขาถูกมองว่าเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศที่มีอิทธิพลมากที่สุด และเป็นผู้ที่สร้างทั้งสันติภาพและสร้างสงครามในเวลาเดียวกัน

เฮนรี คิสซิงเจอร์ เกิดเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม ปี 1923 ที่เมืองเฟิร์ธ ประเทศเยอรมนี ซึ่งครอบครัวของเขามีเชื้อสายยิว ได้ตัดสินใจอพยพมายังสหรัฐฯ เมื่อปี 1938 เพื่อหลบหนีการกวาดล้างของนาซี ในช่วงที่เกิดสงครามโลกครั้งที่สอง เขาถูกเกณฑ์ทหารเข้าร่วมรบ โดยประจำการอยู่ในหน่วยงานด้านข่าวกรอง เมื่อสงครามจบ เขากลับมาศึกษาต่อด้านรัฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด แต่เริ่มต้นการทำงานในฐานะนักวิชาการ และกลายเป็นนักวิชาการที่มีชื่อเสียงจากการตีพิมพ์หนังสือชื่อ ‘สงครามนิวเคลียร์และนโยบายต่างประเทศ’ ในปี 1957

 

เขาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ในช่วงปี 1973-1977 ซึ่งเขายังควบตำแหน่งที่ปรึกษาความมั่นคงในสมัยที่ ริชาร์ด นิกสัน เป็นประธานาธิบดีด้วย ทำให้เขากลายเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศที่มีอิทธิพลมากที่สุดในการกำหนดและการตัดสินใจด้านต่างๆ เกี่ยวกับนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ

‘เฮนรี คิสซิงเจอร์’ นักการทูตเพื่อสันติภาพหรืออาชญากรสงคราม

คิสซิงเจอร์เข้ามาเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ ในช่วงที่สงครามเย็นกำลังตึงเครียด และเขามีบทบาทสำคัญในการลดความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ กับสหภาพโซเวียด ด้วยการเจรจาให้ทั้งสองฝ่ายควบคุมการสะสมอาวุธ ผลงานโดดเด่นของคิสซิงเจอร์ คือการเปิดประตูเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ในปี 1972 ที่ ริชาร์ด นิกสัน เดินทางไปเยือนจีน ซึ่งคิสซิงเจอร์ มีลักษณะการทูตที่เฉพาะตัวที่เขาเรียกว่า ‘Shuttle Diplomacy’ ที่เน้นการเดินสายไปต่างประเทศเพื่อเจรจาลดความตึงเครียดกับทุกฝ่าย อย่างการสานความสัมพันธ์กับประเทศจีน เขาเดินทางไปเยือนจีนมากกว่า 100 ครั้ง จนได้รับการยอมรับว่าเป็นเพื่อนที่เก่าแก่และไว้ใจได้ของประเทศจีน

‘เฮนรี คิสซิงเจอร์’ นักการทูตเพื่อสันติภาพหรืออาชญากรสงคราม

นอกจากนี้ เขายังมีบทบาทสำคัญในการเจรจาเพื่อยุติความขัดแย้งระหว่างชาติอาหรับกับอิสราเอล ในปี 1973 และเป็นผู้นำการเจรจาสนธิสัญญาสันติภาพปารีส ที่ยุติสงครามเวียดนาม ในปีเดียวกัน จนทำให้เขาได้รับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ

คิสซิงเจอร์ดำเนินนโยบายต่างประเทศ โดยดูจากหลักความเป็นจริง เขามองว่าโลกจะเกิดสันติภาพได้ก็ต่อเมื่อ ประเทศมหาอำนาจมีผลประโยชน์ร่วมกัน มากกว่าที่จะแก่งแย่งชิงผลประโยชน์กัน นั่นคือสาเหตุที่เขามองข้ามระบอบการปกครองของสหภาพโซเวียตและจีน ที่แม้จะไม่ได้ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย แต่ก็สามารถสานความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ ได้ เพื่อรักษาผลประโยชน์ร่วมกัน

 

แต่การดำเนินนโยบายแบบนี้ ก็ทำให้เขาถูกมองว่าเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศที่ไร้ศีลธรรม เพราะหลายครั้ง เขาตัดสินใจมองข้ามเหตุการณ์นองเลือดในหลายประเทศ เพียงเพราะต้องการรักษาผลประโยชน์ของสหรัฐฯ โดยเฉพาะการสนับสนุนเผด็จการหลายคนในประเทศละตินอเมริกา ที่ทำให้มีประชาชนล้มตายจำนวนมาก จนทำให้เขาถูกมองว่าเป็นอาชญากรสงครามคนหนึ่ง

‘เฮนรี คิสซิงเจอร์’ นักการทูตเพื่อสันติภาพหรืออาชญากรสงคราม

คิสซิงเจอร์หมดวาระการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศในปี 1977 ซึ่งนโยบายต่างประเทศของเขายังมีอิทธิพลต่อนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ จนถึงทุกวันนี้ โดยเขายังคงเสนอแนะและวิพากษ์วิจารณ์นโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ อย่างต่อเนื่อง และเข้าร่วมการประชุมด้านวิชาการต่างๆ จวบจนถึงช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิต