svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ต่างประเทศ

จับตารัฐบาลทหารเมียนมา ใกล้ถึงจุดจบ ?

กองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ที่ต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมา ประกาศ "จุดเริ่มต้นแห่งการสิ้นสุด" ของรัฐบาลทหาร ในขณะเปิดจากโจมตีทั่วประเทศ ทำให้รัฐบาลทหารเผชิญการท้าทายใหญ่หลวงที่สุด นับตั้งแต่ยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนเมื่อเกือบ 3 ปีก่อน

นับตั้งแต่ยึดอำนาจจากรัฐบาลพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ของ อองซาน ซูจี เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ปี 2564 รัฐบาลทหารโดยการนำของพลเอกอาวุโสมิน อ่องหล่าย ก็เผชิญการต่อต้านที่หนักหน่วงมากขึ้น แนวรบใหม่เกิดขึ้นหลายจุดทั่วประเทศ จากการที่กลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธที่แข็งแกร่งร่วมมือกับหลายกองกำลัง โจมตีแบบประสานงานต่อที่มั่นของทหารรัฐบาลโดยไม่ทันตั้งตัว เผยให้เห็นข้อจำกัดของขีดความสามารถของรัฐบาลทหารที่สูญเสียเมืองยุทธศาสตร์ชายแดน ที่มั่นทางทหารที่สำคัญ และเส้นทางการค้าที่สำคัญ ในระดับที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในหลายทศวรรษ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญหลายคนชี้ว่า "รัฐบาลทหารกำลังจะล่มสลาย"

จับตารัฐบาลทหารเมียนมา ใกล้ถึงจุดจบ ?

การผนึกกำลังโจมตีทหารฝ่ายรัฐบาลของกลุ่มชาติพันธุ์ที่ทรงอำนาจ 3 กลุ่ม ภายใต้ชื่อ พันธมิตรสามพี่น้อง (Three Brotherhood Alliance) ได้แก่

  • กองทัพโกก้าง (Myanmar National Democratic Alliance Army: MNDAA)
  • กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติตะอาง หรือ ปะหล่อง (Ta'ang National Liberation Army: TNLA)
  • กองทัพอาระกัน (Arakan Army: AA) หรือกองทัพยะไข่

ทั้งยังได้รับการสนับสนุนจาก กองกำลังพิทักษ์ประชาชน (People's Defense Froce : PDF) ซึ่งเป็นคนหนุ่มสาวที่ลุกขึ้นจับอาวุธหลังการรัฐประหาร โดยทั้งหมดมีเป้าหมายเดียวกันคือ "อุทิศตนเพื่อขจัดเผด็จการทหารที่กดขี่" 

จับตารัฐบาลทหารเมียนมา ใกล้ถึงจุดจบ ?

การสู้รบเริ่มที่พื้นที่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือในชื่อ "ปฏิบัติการ 1027" (Operation 1027) เมื่อเดือนตุลาคม ก่อนจะกระจายไปทั่วประเทศ และเข้าควบคุมเมืองกับพื้นที่ทางภาคเหนือ ตะวันตกและตะวันออกเฉียงเหนือ 

สหประชาชาติระบุว่า นับตั้งแต่เกิดการปะทะกันเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม ทำให้พลเรือนเสียชีวิตไปเกือบ 200 คน และอีก 335,000 คน กลายเป็นผู้พลัดถิ่นหน้าใหม่ และแม้จะทำสงครามกับกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์มานานหลายทศวรรษ แต่หลังจากเกิดรัฐประหารทำให้ประชาชนเกิดความรู้สึกต่อต้านรัฐบาลทหารทั่วประเทศ โดยเฉพาะการกวาดล้างผู้มีความเห็นต่าง ส่งผลให้ผู้คนพากันจับอาวุธขึ้นต่อสู้เพื่อปกป้องเมืองและชุมชน จากการควบคุมของรัฐบาลทหาร 

จับตารัฐบาลทหารเมียนมา ใกล้ถึงจุดจบ ?

สำนักงานเพื่อการประสานงานด้านมนุษยธรรมแห่งสหประชาชาติ (OCHA) ระบุว่า การสู้รบยังไม่ขยายไปถึงนครใหญ่ เช่น ย่างกุ้ง มัณฑะเลย์ หรือเนปิดอว์ แต่ก็ถือเป็นครั้งใหญ่ที่สุดและเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางที่สุดนับตั้งแต่รัฐประหาร ซึ่งผู้บัญชาการของกองทัพพันธมิตรประชาธิปไตยแห่งชาติเมียนมา (BNRA) ที่คุมพื้นที่ภาคกลาง มั่นใจว่านี่เป็นจุดเริ่มแห่งการสิ้นสุดของรัฐบาลทหาร

เป้าหมายของกองกำลังพันธมิตร ที่นอกจากปกป้องชีวิตพลเรือนแล้ว ยังทลายแก๊งฉ้อโกงทางออนไลน์ ทั้งการพนันและแก๊งคอลเซ็นเตอร์ โดยเฉพาะตลอดแนวพรมแดนติดกับจีนและไทย ที่เคยรุ่งเรืองสุดขีดในฐานะศูนย์กลางการฉ้อโกงออนไลน์ และการพนันที่ผิดกฎหมาย ภายใต้กองกำลังติดอาวุธของรัฐบาลทหาร กับกลุ่มทุนสีเทาจากจีน แต่หลังกองกำลังพันธมิตรเข้าไปปราบปราม ก็สามารถจับพวกลักลอยค้ามนุษย์และต้มตุ๋นทางออนไลน์หลายพันคนและส่งกลับจีน

จับตารัฐบาลทหารเมียนมา ใกล้ถึงจุดจบ ?

มินต์ ส่วย ที่รัฐบาลทหารแต่งตั้งให้เป็นประธานาธิบดี ถึงกับออกอาการร้อนรนและเตือนในระหว่างการประชุมด้านกลาโหมและความมั่นคงกับบรรดานายพล เมื่อต้นเดือนนี้ว่า

"ถ้ารัฐบาลจัดการเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ชายแดนโดยไม่มีประสิทธิภาพ ประเทศก็จะถูกแบ่งออกเป็นส่วน ๆ" 

รัฐบาลทหารทำได้เพียงประกาศกฎอัยการศึกในพื้นทางตะวันออกเฉียงเหนือ และไม่ยอมรับว่าส่งทหาร 14,000 นาย เข้าตรึงกำลังในกรุงเนปีดอว์ เมืองหลวง เพื่อปกป้องกองบัญชาการทหารหลัก และปฏิเสธว่าไม่ได้เกณฑ์ข้าราชการเข้ารับการฝึกทหาร โดยอ้างว่าเป็น "ข่าวปลอมและข้อมูลเท็จ" ท่ามกลางรายงานข่าวที่ว่า ทหารจำนวนมาพากันยอมแพ้และสูญเสียเมืองชายแดนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และโอกาสที่จะยึดคืนคือเป็นศูนย์

จับตารัฐบาลทหารเมียนมา ใกล้ถึงจุดจบ ?

นักวิเคราะห์หลายคนมองว่า กองทัพเมียนมามีขนาดเล็กกว่าที่คิด โดยเหลือบุคลากรราว 150,000 นาย แต่ทหารที่เป็นหน่วยรบมีเพียง 70,000 นาย ที่ยากจะต่อกรกับกองกำลังพันธมิตรที่แข็งแกร่งขึ้นเรื่อย ๆ ได้