svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ต่างประเทศ

Hate Speech ท่วมโซเชียลมาเลเซียช่วงเลือกตั้ง

ผลการศึกษาความเคลื่อนไหวในโซเชียลมีเดียของมาเลเซีย พบว่า มีการใช้ Hate Speech เพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าในช่วงการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนพฤศจิกายน 2565 และอาจเพิ่มขึ้นอีกในช่วงก่อนการเลือกตั้งท้องถิ่นระดับรัฐที่จะจัดขึ้นในเดือนสิงหาคมนี้

ผลการศึกษาที่จัดทำร่วมกันโดยมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์แห่งมาเลเซีย, มหาวิทยาลัยมาเลเซีย ซาบาห์ และมหาวิทยาลัยนอตติงแฮม มาเลเซีย และเผยแพร่โดยศูนย์เพื่อสื่อมวลชนอิสระ (CIJ) ระบุว่า พรรคปาร์ตี อิสลาม เซมาเลเซีย (PAS) และฮาดี อาวัง หัวหน้าพรรค เป็นตัวการสำคัญของการใช้วาทกรรมสร้างความเกลียดชังด้านเชื้อชาติในช่วงก่อนการเลือกตั้งทั่วไป ที่จัดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2565 และบางโพสต์เกี่ยวกับเชื้อชาติยังเป็นข้อมูลเท็จอีกด้วย

ผลการศึกษาติดตามบัญชีผู้ใช้ของนักการเมืองและผู้นำในรัฐบาลกว่า 90 รายในทวิตเตอร์, เฟซบุ๊ก, ยูทูบ และติ๊กต็อก และพบว่า จำนวนวาทกรรมสร้างความเกลียดชัง หรือ เฮท สปีช เพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าเป็น 99,563 เรื่องในช่วงวันที่ 20 ตุลาคม 2565-26 พฤศจิกายน 2565 เมื่อเทียบกับ 55,000 เรื่องจากผลการศึกษาช่วงวันที่ 16 สิงหาคม-30 กันยายน

หลังจากการยุบสภาในวันที่ 10 ตุลาคม นำไปสู่การเริ่มต้นหาเสียงอย่างไม่เป็นทางการสำหรับการเลือกตั้งที่กำหนดจัดขึ้นในวันที่ 19 พฤศจิกายน

แม้พรรค PAS เป็นพรรคฝ่ายค้าน โดยเป็นส่วนหนึ่งของพันธมิตร เปริกาตัน นาซิอองนาล (PN) แต่เป็นพรรคใหญ่ที่สุดในรัฐสภาเป็นครั้งแรก โดยสามารถคว้าที่นั่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้มากถึง 43 ที่นั่งจากทั้งหมด 222 ที่นั่ง

Hate Speech ท่วมโซเชียลมาเลเซียช่วงเลือกตั้ง ผู้อำนวยการ CIJ กล่าวในการเผยแพร่รายงานผลการศึกษาเมื่อวันอังคารว่า การใช้เรื่องเชื้อชาติและศาสนาเป็นอาวุธทางการเมือง คาดว่า จะยังเกิดขึ้นต่อเนื่องในการเลือกตั้งรัฐบาลท้องถิ่นใน 6 รัฐจากทั้งหมด 13 รัฐที่จะจัดขึ้นในเดือนสิงหาคม เพราะว่า ประเด็นนี้ถูกปล่อยผ่านโดยไม่ได้รับการแก้ไขนับตั้งแต่การเลือกตั้งทั่วไป

รายงานผลการศึกษา ระบุว่า เนื่องจากขาดคำนิยามที่ตกลงร่วมกันของคำว่า Hate Speech จึงกำหนดระดับความรุนแรงขึ้นเอง แบ่งเป็น intolerant (ไม่อาจอดกลั้น), discriminatory (เลือกปฏิบัติ) และ dehumanizing (ลดทอนความเป็นมนุษย์) และ Hate Speech ที่ปลุกปั่นให้เกิดความรุนแรงและการทำร้ายร่างกาย

ผลการศึกษาพบว่า ฮาดี หัวหน้าพรรค PAS เป็นนักการเมืองหรืออินฟลูเอนเซอร์เพียงคนเดียว ที่มีโพสต์ 2 ชิ้น ถูกจัดความรุนแรงอยู่ในระดับ 3 ซึ่งหมายถึง มีภาษาที่ลดทอนความเป็นมนุษย์และมุ่งร้าย

Hate Speech ท่วมโซเชียลมาเลเซียช่วงเลือกตั้ง นอกจากนี้ข้อความกว่า 80% ที่มีการวิเคราะห์ถูกจัดความรุนแรงในระดับ 1 ซึ่งใช้ภาษาที่แสดงความเห็นขัดแย้งหรือไม่สร้างความไม่พอใจ ขณะที่ 18% อยู่ในระดับ 2 ใช้ภาษาที่สร้างความไม่พอใจหรือเลือกปฏิบัติ และมีเพียง 105 โพสต์อยู่ในระดับ 3 และ 39 โพสต์มีความรุนแรงระดับสูงสุด ที่ยุยงปลุกปั่นหรือกระตุ้นให้ใช้ความรุนแรง  

ขณะที่เกือบ 2 ใน 3 ของโพสต์ทั้งหมดที่มีการวิเคราะห์เป็นเรื่องเกี่ยวกับเชื้อชาติ และเกือบ 1 ใน 4 เป็นเรื่องศาสนา แต่โพสต์จำนวนมากมักมีทั้งสองเรื่องอยู่ด้วยกัน หรือ ประเด็นอื่น ๆ

และโพสต์เกือบ 14% เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์  ส่วนโพสต์เกี่ยวกับเพศ และกลุ่มคน LGBTIQ มีสัดส่วนเกือบ 7% และโพสต์ไม่ถึง 4% พุ่งเป้าเรื่องผู้อพยพและผู้ลี้ภัย