"ดัชนีความทุกข์เข็ญประจำปีแฮงกี" (Hanke Annual Misery Index )หรือ HAMI ซึ่งตั้งชื่อตาม "สตีฟ แฮงกี" (Steve Hanke) นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ ซึ่งรวบรวมเมื่อปีที่แล้ว (2022) และเผยแพร่ในปีนี้ พบว่า ประเทศที่ทุกข์เข็ญที่สุด 10 อันดับ ได้แก่ ซิมบับเว (1) เวเนซุเอลา (2) ซีเรีย (3) เลบานอน (4) ซูดาน (5) อาร์เจนตินา (6) เยเมน (7) ยูเครน (8) คิวบา (9) และตุรกี (10) ในจำนวนนี้ 8 ประเทศ มีปัจจัยมาจากภาวะเงินเฟ้อ มีเพียงซีเรียกับยูเครนที่มีปัจจัยมาจากการว่างงาน
ใน 3 อันดับแรก ได้แก่
ซิมบับเว ประเทศในแอฟริกาที่มีประชากร 16 ล้านคน ต้องจมปลักอยู่กับการปกครองที่ยาวนานถึง 37 ปี ของโรเบิร์ต มูกาเบ ที่เต็มไปด้วยคอร์รัปชัน ความรุนแรงทางการเมืองและความล้มเหลวทางเศรษฐกิจอย่างสาหัส จนเงินเฟ้อพุ่งจนถึงสูงอย่างที่โลกไม่เคยเห็นมาก่อน จนกระทั่งทหารเข้ายึดอำนาจในปี 2560
ส่วนอันดับ 2 คือ เวเนซุเอลา เกิดจากการจัดการเศรษฐกิจที่ผิดพลาด
และอันดับ 3 ซีเรีย เป็นผลมาจากการตกเป็นสมรภูมิสงครามกลางเมืองที่ยาวนานมากกว่า 1 ทศวรรษ
ส่วน 10 ประเทศและดินแดนในกลุ่มที่ทุกข์เข็ญน้อยที่สุด ได้แก่ มอลตา (148) โตโก (149) ไทย (150) ไนเจอร์ (151) ไต้หวัน (152) มาเลเซีย (153) ญี่ปุ่น (154) ไอร์แลนด์ (155) คูเวต (156) และสวิตเซอร์แลนด์ (157)
จะเห็นว่าประเทศและเขตแดนในกลุ่มที่เผชิญความทุกข์เข็ญน้อยที่สุด ส่วนใหญ่มีปัจจัยมาจากการว่างงาน เช่น ไต้หวัน มาเลเซีย ญี่ปุ่นและสวิตเซอร์แลนด์ ส่วนไทยมีปัจจัยมาจากเงินเฟ้อ
ตามแนวคิดของแฮงกี สิ่งที่สร้างความทุกข์ให้กับผู้คนในระบบเศรษฐกิจประกอบด้วย ค่าครองชีพสูง (สะท้อนด้วยค่าอัตราเงินเฟ้อ) การเผชิญต้นทุนการกู้ยืมที่แพง (สะท้อนด้วยอัตราดอกเบี้ย) และการที่ คนไม่มีงานทำ ขาดรายได้ (ชี้วัดด้วยอัตราการว่างงาน)
แต่ปัจจัยการขยายตัวทางเศรษฐกิจถือว่าช่วยบรรเทาความลำบากทางเศรษฐกิจได้ ดังนั้นดัชนีความทุกข์เข็ญของแฮงกี (HAMI) จึงเป็นการนำตราเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ย และอัตราว่างงานมารวมเข้าด้วยกัน แล้วลบด้วยอัตราการขยายตัวของ GDP (สูตรคำนวณ คือ อัตราเงินเฟ้อ + อัตราดอกเบี้ย + อัตราว่างงาน - อัตราขยายตัวของ GDP