svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ต่างประเทศ

ยูเอ็นมีมติพึ่งศาลโลก วินิจฉัยข้อผูกมัดให้ทุกชาติร่วมต่อสู้โลกร้อน

30 มีนาคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

วานูอาตู ชาติแปซิฟิกที่ได้รับผลกระทบจากโลกร้อน ประสบชัยชนะครั้งสำคัญ เมื่อสมัชชาใหญ่ยูเอ็นมีมติครั้งประวัติศาสตร์ ขอให้ศาลโลกวินิจฉัยครั้งแรกเกี่ยวกับข้อผูกมัดที่ประเทศต่าง ๆ ต้องปฏิบัติเพื่อแก้ไขวิกฤตสภาพภูมิอากาศ

ยูเอ็นมีมติพึ่งศาลโลก วินิจฉัยข้อผูกมัดให้ทุกชาติร่วมต่อสู้โลกร้อน สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ผ่านข้อมติเมื่อวันพุธเพื่อร้องขอให้ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือ ศาลโลก (ICJ) ออกความเห็นแนะนำเกี่ยวกับข้อผูกมัดที่ประเทศต่าง ๆ ต้องปฏิบัติเพื่อแก้ไขวิกฤตการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นความเห็นทางกฎหมาย ที่จะขับเคลื่อนให้ประเทศต่าง ๆ ออกมาตรการต่อสู้ปัญหาโลกร้อนเข้มงวดขึ้น แต่สหรัฐฯ และจีน ซึ่งเป็นชาติที่ก่อมลพิษมากที่สุดในโลก ไม่ได้ออกเสียงสนับสนุนและไม่คัดค้าน ทำให้ข้อมติผ่านการเห็นชอบด้วยฉันทามติ โดยไม่มีการลงคะแนน

ข้อมติครั้งประวัติศาสตร์นี้เป็นชัยชนะครั้งใหญ่ของวานูอาตู ประเทศเล็ก ๆ ในมหาสมุทรแปซิฟิก ที่ผลักดันเรื่องนี้ โดยได้แรงบันดาลใจจากนักศึกษากฎหมายของประเทศ ที่ต้องการให้ระบบกฎหมายระหว่างประเทศ มีคำพิพากษาเกี่ยวกับปัญหาสภาพภูมิอากาศ

ยูเอ็นมีมติพึ่งศาลโลก วินิจฉัยข้อผูกมัดให้ทุกชาติร่วมต่อสู้โลกร้อน วานูอาตูเผชิญผลกระทบจากน้ำทะเลหนุนสูงและพายุรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ ทุกปี โดยขณะนี้ยังอยู่ภายใต้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่กำหนดบังคับใช้นาน 6 เดือน หลังประสบพายุไซโคลนรุนแรงระดับ 4 ติดต่อกัน 2 ลูกภายใน 48 ชม. ช่วงสัปดาห์แรกของเดือน มี.ค.

นายกรัฐมนตรี อลาโทอิ อิชมาเอล คาลซาเกา ของวานูอาตู กล่าวต่อที่ประชุมสมัชชาใหญ่ยูเอ็นว่า แม้ความเห็นแนะนำของศาล ICJ ไม่มีผลผูกมัดทางกฎหมาย แต่มีน้ำหนักในแง่กฎหมายและอำนาจทางศีลธรรม นอกจากนี้ข้อมติของยูเอ็น และความเห็นจากศาล ICJ จะส่งผลในเชิงบวกและมีพลังต่อแนวทางแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และปกป้องมนุษยชาติในปัจจุบันและในอนาคต 

นอกจากนี้เขาแถลงภายหลังด้วยว่า ข้อมติครั้งนี้เป็นชัยชนะครั้งมโหฬารสำหรับความยุติธรรมด้านสภาพภูมิอากาศ

ศาล ICJ อาจต้องใช้เวลา 18 เดือนเพื่อพิจารณาออกความเห็นแนะนำ โดยเปิดให้ประเทศต่าง ๆ นำเสนอข้อมูลต่อศาล ความเห็นแนะนำจะอธิบายเกี่ยวกับข้อผูกมัดทางการเงินที่ประเทศต่าง ๆ ต้องรับผิดชอบเพื่อแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ช่วยทบทวนและเพิ่มประสิทธิภาพของแผนต่อสู้โลกร้อนของแต่ละชาติ ที่ประกาศไว้ในข้อตกลงปารีส และเสริมนโยบายและกฎหมายในประเทศให้เข้มแข็งขึ้น

นายกรัฐมนตรี อิชมาเอล คาลซาเคา ของวานูอาตู

ความเห็นแนะนำดังกล่าวจะมีผลสำคัญต่อคดีฟ้องร้องสืบเนื่องจากสภาพภูมิอากาศทั่วโลกในขณะนี้ ซึ่งมีมากถึงราว 2,000 คดี

เบื้องหลังของข้อมติประวัติศาสตร์ของยูเอ็นมีจุดเริ่มต้นจากห้องเรียนวิชากฎหมายสิ่งแวดล้อมในฟิจิในปี 2562  โดยความริเริ่มของนักศึกษา 28 คนจาก 8 ประเทศหมู่เกาะแปซิฟิก ที่รวมถึง ซินเทีย ฮูนิวฮี นักศึกษาชาววานูอาตูและประธานกลุ่มนักศึกษาชาติหมู่เกาะแปซิฟิกต่อสู้การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เธอและเพื่อนสรุปตรงกันว่า ควรพึ่งอำนาจของศาล ICJ ในการแก้ไขปัญหาโลกร้อน และเธอเสนอความคิดนี้แก่ทางการวานูอาตู หลังจากนั้นรัฐบาลวานูอาตู ยื่นข้อมติต่อยูเอ็นในปี 2564 โดยมีอีก 17 ประเทศร่วมสนับสนุน

logoline