svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ต่างประเทศ

ยูนิโคล่พร้อมแบรนด์เสื้อผ้าอื่นๆ เผ่นหนีออกจากเมียนมา

30 มีนาคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

อุตสาหกรรมแฟชั่น รวมถึงแบรนด์ชื่อดังอย่าง ยูนิโคล่ พากันถอยห่างจากเมียนมา ประเทศที่ให้ทหารขึ้นมาเป็นใหญ่ในตอนนี้ จากเดิมที่เคยจ้างคนงานพม่าตัดเย็บเสื้อผ้าให้ เพราะมีค่าแรงถูก

ร้านค้าปลีกเสื้อผ้ารายใหญ่ของโลก อย่างเช่น ฟาสต์ รีเทลลิ่ง ของญี่ปุ่น เจ้าของแบรนด์ ยูนิโคล่ และมาร์ค แอนด์ สเปนเซอร์ ยักษ์ใหญ่ด้านเสื้อผ้าและของกินของใช้นานาชนิดจากประเทศอังกฤษ ตัดสินใจยุติการจ้างงานที่เมียนมา  เนื่องจากความวิตกในปัญหาสิทธิมนุษยชนและแรงงาน รวมถึงความยุ่งยากในการทำธุรกิจที่นั่น 

กองทัพเมียนมาเข้ายึดอำนาจเมื่อต้นปี 2021 ส่งผลให้บริษัทต่างชาติพากันหนีออกจากประเทศนี้ โดยเฉพาะบริษัทที่ร่วมลงทุนกับหุ้นส่วนซึ่งเป็นคนในพื้นที่และมีสายสัมพันธ์กับกองทัพ   นับจากทหารขึ้นมาเป็นใหญ่ ก็เกิดเหตุบดขยี้กลุ่มผู้ประท้วง และถูกกล่าวหาว่า มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวางในเมียนมา

ยูนิโคล่ถอยหนีจากเมียนมา หลังจากก่อนหน้านี้ หลายบริษัทยักษ์ใหญ่ในญี่ปุ่น ทั้ง มิตซูบิชิอิเล็กทริก  โตชิบา  ยามาฮ่า และคิริน  ได้ลงนามในนโยบายให้บริษัทในญี่ปุ่นสามารถถูกฟ้องร้องทางออนไลน์ได้ ในข้อกล่าวหาละเมิดสิทธิมนุษยชน  ซึ่งก็ครอบคลุมไปถึงบริษัทญี่ปุ่นที่เข้าไปทำธุรกิจที่จีน 

นโยบายนี้ได้รับการร่างขึ้นเมื่อปีที่แล้วโดยศูนย์เพื่อการมีส่วนร่วมและเยียวยาทางธุรกิจและสิทธิมนุษยชนในญี่ปุ่น เพราะแม้กฎของสหประชาชาติว่าด้วยเรื่องธุรกิจและสิทธิมนุษยชนจะเน้นย้ำถึงการปกป้องคนงานและปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน  แต่มีบริษัทในญี่ปุ่นไม่กี่แห่งที่คำนึงถึงเรื่องนี้ 

ยูนิโคล่พร้อมแบรนด์เสื้อผ้าอื่นๆ เผ่นหนีออกจากเมียนมา ยูนิโคล่พร้อมแบรนด์เสื้อผ้าอื่นๆ เผ่นหนีออกจากเมียนมา

ก่อนหน้านี้ บริษัท ฟาสต์ รีเทลลิ่ง เจ้าของแบรนด์ยูนิโคล่ เคยถูกนานาชาติรุมตรวจสอบกรณีมีความเชื่อมโยงกับฝ้ายที่มาจากเขตปกครองตนเองซินเจียงของจีน ซึ่งสหรัฐเคยออกกฎห้ามนำเข้าสินค้าที่ผลิตโดยการบังคับใช้แรงงาน พุ่งเป้าไปยังฝ้ายที่มาจากซินเจียง  ในขณะที่ธุรกิจของคิริน ซึ่งเชื่อมโยงกับรัฐบาลทหารเมียนมาก็ถูกวิจารณ์ในแบบเดียวกัน ส่งผลให้คิริน ผู้ผลิตเครื่องดื่มชื่อดัง ต้องถอยห่างจากตลาดเมียนมานับจากนั้น 

รายงานที่ตีพิมพ์โดยศูนย์ธุรกิจและสิทธิมนุษยชน เป็นหน่วยงาน NGO ซึ่งมีสำนักงานในลอนดอน และนิวยอร์ก ระบุว่า คนงานเมียนมาในเวลานี้ กำลังถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนและกฎหมายแรงงานอย่างหนัก นับจากรัฐบาลทหารเมียนมายึดอำนาจมาสองปีกว่า  

ส่วนใหญ่คือปัญหาถูกลดค่าแรง และขโมยค่าแรง   การบังคับให้ทำงานล่วงเวลาเกินขนาด  ทั้งยังมีเหตุรุนแรงและการทำให้อับอายด้วยเรื่องเพศ  การจับกุมและคุมขังคนงาน  พบคนงานสิ่งทอถูกล่วงละเมิดในแบบนี้กว่า 6 หมื่นคนในเมียนมา  

รายงานจึงเรียกร้องให้แบรนด์ต่างๆ ต้องตระหนักในเรื่องนี้ คนงานสิ่งทอในเมียนมา 90% เป็นผู้หญิง  พวกเธอยังเป็นแนวหน้าของปฏิบัติการอารยะขัดขืนต่อรัฐบาลอีกด้วย  ส่วนแกนนำสหภาพแรงงานเกือบทั้งหมดต้องซ่อนตัว เพื่อหนีการจับกุม

ปัจจุบัน มีโรงงาน 70 แห่งในเมียนมา ที่ผลิตสินค้าป้อนแบรนด์แฟชั่นชื่อดังอย่างน้อย 32 แบรนด์ ซึ่งก็มีทั้ง อาดิดาส  มอสชิโน่  เกสส์  ฟาสต์รีเทลลิ่งเจ้าของแบรนด์ยูนิโคล่ เอชแอนด์เอ็ม และอินดิเท็กซ์


ยูนิโคล่พร้อมแบรนด์เสื้อผ้าอื่นๆ เผ่นหนีออกจากเมียนมา ยูนิโคล่พร้อมแบรนด์เสื้อผ้าอื่นๆ เผ่นหนีออกจากเมียนมา

logoline