สมาชิกของสหภาพแรงงานยักษ์ใหญ๋ 8 แห่งของฝรั่งเศส ร่วมผละงานประท้วงในวันพฤหัสบดี (23 มี.ค.) ซึ่งเป็นการหยุดงานประท้วงทั่วประเทศครั้งแรกนับจากรัฐบาลใช้อำนาจพิเศษผ่านร่างกฎหมายบำนาญที่ขยายอายุเกษียณจาก 62 ปีเป็น 64 ปี โดยไม่มีการลงมติอนุมัติจากรัฐสภาเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว และเป็นครั้งที่ 9 นับตั้งแต่รัฐบาลเสนอร่างกฎหมายฉบับนี้เข้าสู่รัฐสภาเมื่อเดือนม.ค.
แรงงานรถไฟเดินขบวนไปบนรางรถไฟแห่งหนึ่งในกรุงปารีส พร้อมกับจุดพลุแฟลร์ ถือธงและป้ายประท้วง นอกจากนี้ยังมีผู้ประท้วงปิดกั้นสถานีจอดรถโดยสารหลายแห่ง รวมถึงปิดกั้นทางเข้าอาคารผู้โดยสารภายในสนามบินชาร์ลเดอโกล และยังมีผู้ประท้วงจุดไฟเผาขยะที่ตั้งปิดกั้นถนนในเมืองตูลูส ทำให้เกิดกลุ่มควันหนาทึบส่งผลให้การจราจรติดขัดเป็นแถวยาวนอกจากนี้มีการปะทะรุนแรงระหว่างผู้ประท้วงและตำรวจที่ต้องใช้แก๊สน้ำตาเข้าสลายในเมืองนองต์
มีรายงานว่า ระบบขนส่งสาธารณะในกรุงปารีสหยุดชะงัก โดยรถไฟความเร็วสูง TGV หยุดวิ่งเกือบ 50% และเที่ยวบินเกือบ 30% ในสนามบินออร์ลีในกรุงปารีสถูกยกเลิก โรงกลั่นน้ำที่ใหญ่ที่สุดบางแห่งถูกปิดกั้น ขณะที่ตำรวจราว 12,000 นายถูกกระจายกำลังเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยทั่วประเทศ ซึ่งเฉพาะในกรุงปารีส มีตำรวจราว 5,000 นาย
แม้แผนปฏิรูประบบำนาญถูกคัดค้านและเผชิญการประท้วงในวงกว้าง ที่ช่วงหนึ่งมีผู้ชุมนุมมากกว่า 1 ล้านคน แต่รัฐบาลของประธานาธิบดีเอ็มมานูแอล มาครง ก็ยังเดินหน้าผลักดันร่างกฎหมายบำนาญในรัฐสภา โดยไม่มีการลงมติเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ยิ่งสร้างความโกรธแค้นให้กับผู้ประท้วง ขณะนี้ร่างกฎหมายยังต้องรอการพิจารณาทบทวนโดยคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ก่อนจะลงนามบังคับใช้เป็นกฎหมายได้ ซึ่งคณะตุลาการมีอำนาจปฏิเสธบางมาตราภายในร่างกฎหมาย แต่โดยปกติแล้วมักให้การอนุมัติ
มาครงยืนยันเมื่อวันพุธว่า ร่างกฎหมายจะมีผลบังคับใช้ในสิ้นปีนี้ และปกป้องการตัดสินใจเรื่องนี้ว่า การปฏิรูปมีความจำเป็นเพื่อป้องกันไม่ให้กองทุนบำนาญล้มละลาย เขายืนยันด้วยว่า จะไม่มีการยุบสภา การปรับคณะรัฐมนตรี และการลาออกของนายกรัฐมนตรี ตามที่มีเสียงเรียกร้องจากพรรคฝ่ายค้าน
แต่เขาบอกว่า สิ่งเดียวที่เขาเสียใจ คือ ไม่สามารถทำให้ประชาชนมั่นใจว่า การปฏิรูปเป็นสิ่งจำเป็น