svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ต่างประเทศ

"ฮุนเซน" ไม่แคร์ EU โต้เลี้ยงตัวเองได้

23 มีนาคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

นายกรัฐมนตรีฮุน เซน ที่กำลังจะปกครองกัมพูชาเป็นปีที่ 38 ประกาศกร้าวว่าประเทศของเขาแข็งแกร่งพอที่จะอยู่รอดด้วยตนเอง ไม่ต้องพึ่งสิทธิพิเศษทางการค้า หลังถูกสหภาพยุโรปกดดันให้ปล่อยตัวผู้นำฝ่ายค้านและเคารพสิทธิมนุษยชน

นายกรัฐมนตรีฮุน เซน ของกัมพูชา ที่ได้ชื่อว่าเป็นนายกรัฐมนตรีที่อยู่ในอำนาจยาวนานที่สุดในโลก (ตั้งแต่ปี 2528) ได้ประกาศกร้าวว่ากัมพูชาไม่ต้องการรับความช่วยเหลือจากต่างประเทศ หรือข้อตกลงพิเศษทางการค้า เพราะว่า เศรษฐกิจของกัมพูชาแข็งแกร่งพอที่จะอยู่รอดได้ด้วยตัวเอง  

คำประกาศของผู้นำกัมพูชา มีขึ้นในระหว่างเป็นประธานเปิดโครงการปฏิรูปการบริหารการเงินเฟส 4 ที่จะมีอายุระหว่างปี 2566-2570 เพื่อตอบโต้สหภาพยุโรป (EU) ที่เรียกร้องให้กัมพูชาปล่อยตัว เกิ้ม สกคา อดีตประธานพรรคสงเคราะห์ชาติกัมพูชา (CNRP), ปรับปรุงสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชน และจัดการเลือกตั้งที่เสรีและยุติธรรมในปีนี้ 

ทั้งยังขู่ด้วยว่า กัมพูชาอาจเสี่ยงที่ถูกระงับการเข้าร่วมในโครงการ "Everything But Arms" (EBA) ของกลุ่มในภูมิภาคยุโรป ที่อนุญาตให้กัมพูชาเข้าถึงตลาดยุโรปโดยไม่เก็บภาษี เนื่องจากโครงการนี้ให้สิทธิพิเศษด้วยการยกเว้นการเก็บภาษีนำเข้าและยกเลิกการกำหนดโควตานำเข้า ให้แก่สินค้าที่มีแหล่งกำเนิดจากกลุ่มประเทศพัฒนาน้อยที่สุด

"ฮุนเซน" ไม่แคร์ EU โต้เลี้ยงตัวเองได้

ที่จริงกัมพูชาถูก EU เพิกถอนสิทธิบางส่วนราว 20% คิดเป็นมูลค่าราว 1,100 ล้านดอลลาร์ ของการส่งออกไปยังยุโรปเมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2563 เนื่องจากปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข 

การส่งออกสินค้าจากกัมพูชาไป EU กว่า 95%  เป็นการส่งออกที่ใช้สถานะ EBA ซึ่ง มู โซชัว รองประธานพรรค CNRP ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านหลัก และกลายเป็นพรรคต้องห้ามไปแล้วในกัมพูชา หลังถูกศาลสูงสั่งยุบพรรคไปเมื่อปี 2560 ให้ความเห็นว่า การที่ ฮุน เซน ย้ำนักย้ำหนาว่าประเทศของเขาสามารถเอาตัวรอดได้โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพา EBA มันบ่งชี้ว่าเขาไม่จำเป็นต้องให้ความเคารพทั้งต่อแรงงาน, สิทธิมนุษยชน หรือสิทธิสตรี 

มู โซชัว บอกด้วยว่าการสูญเสีย EBA โดยสมบูรณ์ จะส่งผลให้เกิดอัตราการว่างงานสูงจนน่ากลัวในกัมพูชา และส่งผลกระทบต่อผู้หญิงที่เป็นแรงานส่วนใหญ่ตามโรงงานต่าง ๆ เธอบอกด้วยว่าไม่ใช่แค่พนักงานโรงงานเท่านั้นที่จะต้องตกงาน แต่ครอบครัวเกษตรกร, พ่อค้าอาหารรายย่อย และร้านขายของชำที่อยู่รอบ ๆ โรงงาน ก็จะพลอยได้รับผลกระทบไปด้วย และอาจจะทำให้สาวโรงงานหลายคน อาจต้องขนขวายด้วยการไปหางานตามสถานบันเทิง หรือเสี่ยงชีวิตไปหางานในต่างประเทศ 

"ฮุนเซน" ไม่แคร์ EU โต้เลี้ยงตัวเองได้

ไม่ว่าใครจะว่าอะไรก็ตาม แต่ ฮุน เซน ยังคงหนักแน่น โดยบอกว่าหลังการล่มสลายของระบอบเขมรแดงในปี 2522 กัมพูชาภายใต้การนำของเขาได้ดำเนินการปฏิรูปการเมืองและเศรษฐกิจครั้งใหญ่ เพื่อฟื้นฟูประเทศโดยไม่ต้องรอความช่วยเหลือจากต่างประเทศ และนั่นคือเหตุผลที่เอาตัวรอดมาจนถึงปัจจุบัน

"ในชีวิตของผม ผมเผชิญความเสี่ยงนับครั้งไม่ถ้วนมาโดยตลอด ไม่ใช่แค่ตอนที่เอาคอเข้าไปเสี่ยงเพื่อช่วยชีวิตประชาชนให้รอดออกจากระบอบเขมรแดง และไม่ใช่แค่ตอนที่ผมเอาคอเข้าไปเสี่ยงเพื่อสันติภาพที่องค์การบริหารชั่วคราวแห่งสหประชาชาติในกัมพูชา (UNTAC) ก็ยังทำไม่สำเร็จ แต่ผมเอาคอเข้าไปเสี่ยงเพื่อการปฏิรูป เมื่อได้รับตำแหน่งอย่างเป็นทางการในฐานะนายกรัฐมนตรี" 

การพูดถึง UNTAC คือการโยงไปถึงปฏิบัติการรักษาสันติภาพของสหประชาชาติในกัมพูชาระหว่าง พ.ศ. 2535-2536 โดยก่อตั้งเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2535 ตามมติของสภาความมั่นคงแห่งสหประชาชาติที่ 745 ซึ่งเป็นข้อตกลงระหว่างรัฐบาลโดยพฤตินัยของกัมพูชาในขณะนั้น กับ UNTAC เพื่อให้ทหาร 15,900 นาย, ตำรวจ 3,600 นาย, เจ้าหน้าที่พลเรือน 2,000 คน และอาสาสมัครจากสหประชาชาติ 450 คน เข้าไปปฏิบัติภารกิจในกัมพูชาโดยใช้งบประมาณ 1,500 ล้านดอลลาร์ 

"ฮุนเซน" ไม่แคร์ EU โต้เลี้ยงตัวเองได้

เป้าหมายของภารกิจของ UNTAC คือ ฟื้นฟูสันติภาพและรัฐบาลพลเรือนในประเทศ ที่ได้รับผลกระทบจากสงครามกลางเมืองและสงครามเย็น จัดการเลือกตั้งที่เป็นอิสระและเป็นธรรมเพื่อสร้างรัฐธรรมนูญใหม่ สมาชิก UNTAC มีหลายประเทศ รวมทั้งสมาชิกอาเซียน เช่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซียและไทย

ตอนที่มีการเลือกตั้งเมื่อปี 2536 และพรรคฟุนซินเปคของราชวงศ์นโรดม ได้คะแนนเหนือพรรคประชาชนกัมพูชาของ ฮุน เซน เขาก็ขู่ว่าจะแยก 7 จังหวัด ออกไปปกครองเอง ส่งผลให้ UNTAC และพรรคอื่นต้องยอมให้เขาเป็นนายกรัฐมนตรีร่วม โดยเจ้านโรดม รณฤทธิ์ เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 1 และเขานายกรัฐมนตรีคนที่ 2 ซึ่งเป็นสิ่งที่พิสูจน์คำพูดของ ฮุน เซน ด้วยว่า เมื่อเขาแข็งขืนขึ้นมาแม้แต่ UNTAC ซึ่งเป็นสาขาย่อยขององค์การระดับโลกอย่างสหประชาชาติก็ยังยอมให้เขา 

"ฮุนเซน" ไม่แคร์ EU โต้เลี้ยงตัวเองได้

logoline