svasdssvasds
เนชั่นทีวี

บันเทิง

รำลึก 52 ปี “มิตร ชัยบัญชา” พระเอกระดับตำนานผู้ล่วงลับ

08 ตุลาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

8 ตุลาคม วนมาครบรอบอีกครั้ง ร่วมรำลึก 52 ปี “มิตร ชัยบัญชา” พระเอกระดับตำนานเสียชีวิต "พระเอกภาพยนตร์" ในช่วง พ.ศ. 2500-2513 ซึ่งเป็นยุคเฟื่องฟูของภาพยนตร์ 16 มม. มีผลงานนับได้ขณะนั้น 266 เรื่อง จากทั้งสิ้น 300 กว่าเรื่องที่นำแสดง 

เชิญคอข่าว และคอหนังไทย ร่วมรำลึกถึงพระเอกหนังไทยตลอดกาล "มิตร ชัยบัญชา" กัน ใครที่เป็นแฟนหนังของเขาคงจะทราบดีว่าเขาคือพระเอกหนึ่งในใจคนไทยที่ชื่อไม่เคยเลือนหายไปกับกาลเวลาจริงๆ

รำลึก 52 ปี “มิตร ชัยบัญชา” พระเอกระดับตำนานผู้ล่วงลับ


เปิดประวัติพระเอกระดับตำนาน 
 

มิตร ชัยบัญชา เกิดเมื่อวันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2477 เสียชีวิตในวันนี้ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2513 มิตร ชัยบัญชา หรือชื่อจริง "พันจ่าอากาศโท พิเชษฐ์ ชัยบัญชา" (นามสกุลเดิม พุ่มเหม)

พระเอกชื่อดังคนนี้เริ่มเข้าสู่วงการบันเทิงในช่วงปลาย พ.ศ. 2499 เป็นก้าวขึ้นเป็น "พระเอกภาพยนตร์" ในช่วง พ.ศ. 2500-2513 ซึ่งเป็นยุคเฟื่องฟูของภาพยนตร์ 16 มม. มีผลงานนับได้ขณะนั้น 266 เรื่อง จากทั้งสิ้น 300 กว่าเรื่องที่นำแสดง 
 

ชีวิตช่วงแรกและการศึกษา
มิตร ชัยบัญชา เกิดที่อำเภอท่ายาง หมู่บ้านไสค้าน จังหวัดเพชรบุรี เป็นบุตรชายของพลฯ ชม ระวีแสง ตำรวจชั้นประทวน กับนางยี หรือ สงวน ระวีแสง สาวตลาดท่ายาง นางยีให้กำเนิดลูกน้อย ขณะที่สามีไม่ได้ดูแลใส่ใจเพราะต้องไปปฏิบัติหน้าที่ราชการ

มิตร ชัยบัญชา เดิมเรียกกันว่า "บุญทิ้ง" เพราะพ่อแม่แยกทางกัน เมื่อมิตร ชัยบัญชาอายุได้ 1 ขวบ นางยีก็เข้ามาเป็นแม่ค้าขายผักในกรุงเทพ โดยฝากลูกชายไว้กับนายรื่นและนางผาด ซึ่งเป็นปู่และย่าของมิตร ชัยบัญชา ที่หมู่บ้านไสค้าน เมื่อนายรื่นและนางผาด เห็นว่าตนอายุมากขึ้นทุกวัน จวนจะเป็นไม้ใกล้ฝั่งเข้าทุกที จึงฝากเลี้ยงไว้กับสามเณรแช่ม ระวีแสง ผู้เป็นอา ซึ่งบวชเป็นสามเณรอยู่ที่วัดท่ากระเทียม ชีวิตในวัยเด็กของมิตร ต้องติดสอยห้อยตามสามเณรแช่มซึ่งต่อมาบวชเป็นพระภิกษุอยู่ที่วัดสนามพราหมณ์ เป็นเด็กวัดที่อาศัยข้าวก้นบาตรกิน ในเพลง"ข้าวก้นบาตร" ที่แต่งโดย สมโภชน์ ล้ำพงษ์และ บำเทอง เชิดชูตระกูล มีเนื้อเพลงบางท่อนกล่าวถึงชีวิตของ มิตร ชัยบัญชาในช่วงนี้ 

รำลึก 52 ปี “มิตร ชัยบัญชา” พระเอกระดับตำนานผู้ล่วงลับ

รำลึก 52 ปี “มิตร ชัยบัญชา” พระเอกระดับตำนานผู้ล่วงลับ

รำลึก 52 ปี “มิตร ชัยบัญชา” พระเอกระดับตำนานผู้ล่วงลับ

 

มิตร ชัยบัญชา สมัยเรียนอยู่โรงเรียนฝึกการบิน

ต่อมา ได้เข้าศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ที่โรงเรียนวัดไสค้าน และย้ายมาที่โรงเรียนประชาบาลวัดจันทร์ เมื่อมารดามีฐานะดีขึ้นจึงมาขอรับมิตรย้ายมาอยู่กรุงเทพ ที่บ้านย่านนางเลิ้ง เยื้องกับวัดแคนางเลิ้ง เมื่ออายุประมาณ 9 ปี เข้าเรียนที่โรงเรียนไทยประสาทวิทยา ถนนกรุงเกษม โดยเป็นบุตรบุญธรรมของน้ากับน้าเขย จากชื่อ บุญทิ้ง มาเป็น สุพิศ นิลศรีทอง (นามสกุลน้าเขย) และ สุพิศ พุ่มเหม (นามสกุลของนายเฉลิมพ่อเลี้ยง) เมื่อโอนกลับมาเป็นบุตรบุญธรรมของแม่กับพ่อเลี้ยง หลังเรียนจบมัธยม ก่อนเข้าโรงเรียนจ่าอากาศ มิตรเป็นเด็กเรียนดี เก่งศิลปะ งานช่าง และ ภาษาอังกฤษ นอกจากการเรียนและทำงานรับจ้างสารพัดแล้วมิตรก็เลี้ยงปลากัด ช้อนลูกน้ำขาย รวมถึง นำจักรยานเก่ามาซ่อมให้เช่าหัดถีบ เพื่อหาเงินใช้เองโดยไม่ต้องพึ่งครอบครัว เนื่องจากแม่มีหลานหลายคนที่ต้องดูแล

นอกจากนี้ มิตร ชัยบัญชา ยังชื่นชอบการเล่นกีฬา และฝึกหัดชกมวยไว้ป้องกันตัว ทั้งนี้ เขาสามารถคว้าเหรียญทองมวยนักเรียน 2 ปี ในรุ่นเฟเธอร์เวท และ ไลท์เวท (135 ปอนด์)  พ.ศ. 2492 และ พ.ศ. 2494 จากนั้น เขาได้ย้ายไปอยู่โรงเรียนปริยัติรังสรรค์ จังหวัดเพชรบุรี อยู่ระยะหนึ่ง แล้วเรียนต่อระดับเตรียมอุดมที่โรงเรียนพระนครวิทยาลัย และลาออกเพื่อมาสมัครสอบเข้าโรงเรียนจ่าอากาศ เพื่อรับราชการทหารอากาศ จังหวัดนครราชสีมา เพราะอยากเป็นนักบิน เริ่มการศึกษาเมื่อ พ.ศ. 2497 เป็นนักเรียนการบินรุ่นที่ ป.15 ของโรงเรียนการบินโคราช และ นักเรียนจ่าอากาศ เหล่าอากาศโยธิน รุ่นที่ 11 สำเร็จการศึกษา เดือนมีนาคม พ.ศ. 2499 ติดยศจ่าอากาศโท เมื่อ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2499 จนได้เป็นครูฝึกที่กองพันต่อสู้อากาศยาน กรมอากาศโยธิน กองทัพอากาศดอนเมือง จึงเปลี่ยนชื่อเป็น จ่าอากาศโทพิเชษฐ์ พุ่มเหม

รำลึก 52 ปี “มิตร ชัยบัญชา” พระเอกระดับตำนานผู้ล่วงลับ

เมื่อ พ.ศ. 2499 จ่าโทสมจ้อยได้ส่งรูปและแนะนำ มิตร ชัยบัญชา หรือ จ่าเชษฐ์ ในขณะนั้น ให้รู้จักกับ ก. แก้วประเสริฐ เพื่อให้เล่นหนังเพราะเห็นท่าทาง รูปร่างหน้าตาที่หล่อและสูงสง่าของมิตร ประกอบกับบุคลิกภาพที่สุภาพอ่อนโยน กระทั่งได้พบกับ ภราดร ศักดา นักเขียนนวนิยายชื่อดัง ภราดรได้เสนอกับผู้สร้างหนังหลายราย จ่าสมจ้อยและจ่าเชษฐ์ก็ไปถ่ายรูปและส่งไปตามโรงพิมพ์ โดย กิ่ง แก้วประเสริฐเป็นผู้พลักดันพาไปพบผู้สร้างหนังรายต่างๆ ตามกองถ่าย

 

เพราะเห็นความตั้งใจจริงของ จ่าเชษฐ์ รวมถึงส่งภาพให้ผู้สร้าง และ ถ่ายภาพลงประกอบนวนิยายในนิตยสารด้วย จนกระทั่งได้รับการตอบรับให้เป็นพระเอกในภาพยนตร์เรื่องหนึ่ง แต่ต้องทำใจปฏิเสธไปเพราะติดราชการสำคัญ ไม่สามารถไปพบผู้สร้างได้ หลังจากนั้นก็มักได้รับการปฏิเสธ ติจมูก ติโหนกแก้ม โดยเฉพาะเรื่องความสูง ที่จะหานางเอกมาเล่นด้วยลำบาก และจ่าเชษฐ์เองก็ไม่รับเล่นบทอื่นด้วย นอกจากพระเอก

ต่อมาได้พบกับ สุรัตน์ พุกกะเวส จนกระทั่งนัดให้ กิ่ง แก้วประเสริฐ พาจ่าเชษฐ์ ไปพบทีมงานผู้สร้าง ชาติเสือ ซึ่งวางตัวเอกไว้แต่แรก หลายคนรวมทั้ง ชนะ ศรีอุบล แต่ ประทีป โกมลภิส ไม่ถูกใจเลยสักคน ต้องการดาราหน้าใหม่ ซึ่งเมื่อพบแล้วทั้งผู้สร้าง ผู้กำกับ ก็พอใจบุคลิก ลักษณะ ของจ่าเชษฐ์ จึงได้รับจ่าเชษฐ์เข้าสู่วงการหนังไทย และตั้งชื่อให้ใหม่ โดยเมื่อประทีปตั้งคำถามให้ตอบ

ข้อ 1 ในชีวิตสิ่งใดสำคัญที่สุด มิตรตอบว่า "เพื่อนครับ" ประทีปบอกว่า "เพื่อน คือ มิตร เมื่อรักเพื่อนก็เก็บเพื่อนไว้กับตัว งั้นดีให้ใช้ชื่อใหม่ว่า 'มิตร' ก็แล้วกัน" (เป็นที่มาของชื่อ มิตร)
ข้อ 2 ในชีวิตเกิดมาภูมิใจสิ่งใดมากที่สุด มิตรตอบอย่างไม่ลังเลว่า "ได้อัญเชิญธงชัยเฉลิมพลในพิธีสวนสนามวันปิยมหาราชครับ" เพราะมิตรได้อัญเชิญธงชัยเฉลิมพล ซึ่งถือว่าเป็นเกียรติยศสูงสุด และเขาได้ทำหน้าที่นี้ทุกปีตลอดการเป็นทหารของเขา (เป็นที่มาของนามสกุล "ชัยบัญชา") 

ลาออกจากอาชีพทหารอากาศ
เมื่อ พ.ศ. 2506 จำต้องลาออกจากอาชีพทหารอากาศ ขณะมียศพันจ่าอากาศโท[6] เมื่อ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2506 เนื่องจากการสร้างภาพยนตร์เรื่อง ครุฑดำ โดย ชัยบัญชาภาพยนตร์ จากบทประพันธ์ของ เศก ดุสิต ที่เขาถูกกล่าวหาว่านำสัญลักษณ์ตราครุฑมาใช้อย่างไม่เหมาะสม ครุฑดำ จึงต้องเปลี่ยนชื่อเป็น เหยี่ยวดำ และผู้บังคับบัญชาระดับสูงในกองทัพอากาศขณะนั้นเห็นควรให้เลือกทำเพียงอาชีพเดียว มิตร ชัยบัญชา กล่าวกับแฟน ๆ ที่หน้าโรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมกรุงขณะยืนแจกภาพถ่ายในเครื่องแบบทหารอากาศ ในวันที่ เหยี่ยวดำ เข้าฉาย เมื่อ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2506 ว่า

 

"... ถึงแม้ว่าได้เลือกอาชีพการแสดงภาพยนตร์เพื่อการเลี้ยงชีพ แต่ทั้งร่างกายและจิตใจของผม คือ ทหาร ผมรักเครื่องแบบทหาร ชื่อเสียงความนิยมที่ประชาชนมอบให้ผมในฐานะนักแสดง ผมก็ถือว่าเป็นชื่อเสียงของกองทัพอากาศเช่นกัน การให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ทุกครั้ง ผมไม่เคยลืมที่จะกล่าวถึง การเป็นทหารอากาศ มากกว่าการให้สัมภาษณ์อย่างอื่น ถึงแม้ว่าการแสดงจะเป็นภาระจนทำให้ผมต้องตัดสินใจลาออก แต่จิตใจของผมและทั้งตัว คือ ทหารอากาศ ..."

รำลึก 52 ปี “มิตร ชัยบัญชา” พระเอกระดับตำนานผู้ล่วงลับ

รำลึก 52 ปี “มิตร ชัยบัญชา” พระเอกระดับตำนานผู้ล่วงลับ

รำลึก 52 ปี “มิตร ชัยบัญชา” พระเอกระดับตำนานผู้ล่วงลับ

โดยผลงานเรื่องแรกของมิตรคือเรื่อง “ชาติเสือ” บทประพันธ์ของ เศก ดุสิต ซึ่งในเรื่องนี้มิตรได้ประกบกับนางเอกที่มีชื่อเสียงในขณะนั้นถึง 6 คน ได้แก่ เรวดี ศิริวิไล, นัยนา ถนอมทรัพย์, ประภาศรี สาธรกิจ และ น้ำเงิน บุญหนัก ซึ่งภาพยนตร์ทำรายได้กว่าแปดแสนบาท ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดีมากของสมัยนั้น ทำให้ชื่อของ มิตร ชัยบัญชา เป็นที่รู้จักของประชาชนมากขึ้น จากนั้นมิตรโด่งดังเป็นอย่างมากจากบท โรม ฤทธิไกร หรือ อินทรีแดง ในภาพยนตร์เรื่อง “จ้าวนักเลง” ซึ่งเป็นบทที่ มิตร ชัยบัญชา ต้องการแสดงเป็นอย่างมากหลังจากได้อ่านหนังสือ จนทีมผู้สร้าง ชาติเสือ ตัดสินใจไปพบ เศก ดุสิต พร้อม มิตร ชัยบัญชา เพื่อขอซื้อเรื่องมาทำเป็นภาพยนตร์ เศก ดุสิต พูดต่อ มิตร ชัยบัญชา ว่า “…คุณคืออินทรีแดงของผม…” ซึ่งภาพยนตร์ทำรายได้มาก และมีภาพยนตร์ภาคต่อหลายเรื่อง  มิตร ชัยบัญชา มีผลงานแสดงที่โดดเด่นมากและหลากหลาย ทั้งบทบู๊ รักกุ๊กกิ๊ก รักรันทด ตลก เชยเด๋อด๋า หรือชีวิตเศร้าเคล้าน้ำตา

ต่อมามีภาพยนตร์สร้างชื่อเสียงให้มิตรอีกหลายเรื่อง เช่น “เหนือมนุษย์”, “แสงสูรย์”, “ค่าน้ำนม”, “ทับสมิงคลา” เป็นต้น ซึ่ง มิตร เป็นพระเอกดาวรุ่งที่โด่งดังอยู่ เมื่อแสดงภาพยนตร์คู่กับ เพชรา เชาวราษฎร์ นางเอกใหม่เรื่อง “บันทึกรักของพิมพ์ฉวี” เป็นเรื่องแรกเมื่อ พ.ศ. 2504 ภาพยนตร์ออกฉาย พ.ศ. 2505 จากนั้นมิตรเริ่มก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งพระเอกอันดับ 1 ของประเทศ ที่เป็นที่รักของประชาชน ต่อมาตั้งแต่ พ.ศ. 2506 ได้แสดงภาพยนตร์คู่กับ เพชรา มากขึ้น และเป็นที่ชื่นชอบของประชาชน ตั้งแต่ พ.ศ. 2507 จึงเป็นคู่ขวัญได้แสดงภาพยนตร์คู่กันมากที่สุดตลอดมา รับบทคู่รักในภาพยนตร์ ประมาณ 200 เรื่อง จนแฟนภาพยนตร์เรียกว่า มิตร-เพชรา (แฟนหนังบางส่วนเข้าใจผิดว่า มิตร นามสกุล เพชรา) มีแฟนภาพยนตร์จำนวนมากที่ชื่นชอบในตัวมิตร ถึงขนาดว่าถ้าไม่มีชื่อมิตรแสดง ก็เดินทางกลับ ไม่ดูหนัง ทั้งที่เดินทางมาไกลแค่ไหนก็ตาม


ในปี พ.ศ. 2506 ภาพยนตร์เรื่อง “ใจเพชร” ทำรายได้สูงสุด และมีภาพยนตร์ที่ทำรายได้เกินล้านอีกหลายเรื่อง โดยในปี พ.ศ. 2508 มิตร ชัยบัญชา ได้รับพระราชทานรางวัล “โล่เกียรตินิยม” นักแสดงนำชายที่ทำรายได้สูงสุด จากภาพยนตร์เรื่อง “เงิน เงิน เงิน” ซึ่งทำรายได้เป็นประวัติการณ์ 

ในปี พ.ศ. 2509 ภาพยนตร์เรื่อง “เพชรตัดเพชร” ทำรายได้ทำลายสถิติ เงิน เงิน เงิน ได้ 3 ล้านบาท ในเวลา 1 เดือนสมาคมผู้สื่อข่าวบันเทิงแห่งประเทศไทยมีความคิดที่จะจัดงานมอบรางวัลให้กับดารา นักแสดง ที่มีคุณสมบัติที่ดีในการทำงาน เป็นที่รักของคนในอาชีพเดียวกัน เป็นที่รักของประชาชน มีความรับผิดชอบ และเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อเพื่อนร่วมงาน โดยมิตร ชัยบัญชา ได้รับพระราชทานรางวัล "ดาราทอง" สาขานักแสดงนำภาพยนตร์ ฝ่ายชาย และพิศมัย วิไลศักดิ์ ฝ่ายหญิง จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ เวทีลีลาศ สวนอัมพร เมื่อ 24 มีนาคม พ.ศ. 2510 จากคุณสมบัติ 4 ประการ คือ ศรัทธา หน้าที่ ไมตรี และน้ำใจ  ซึ่งแสดงถึงคุณภาพของผู้รับรางวัล 

รำลึก 52 ปี “มิตร ชัยบัญชา” พระเอกระดับตำนานผู้ล่วงลับ

รำลึก 52 ปี “มิตร ชัยบัญชา” พระเอกระดับตำนานผู้ล่วงลับ

 

วันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2510 มิตร ชัยบัญชา ขอเปลี่ยนนามสกุลที่อำเภอดุสิต โดยขอจดทะเบียนตั้งชื่อสกุลว่า "ชัยบัญชา" หลังจากอยู่วงการภาพยนตร์ร่วม 10 ปี โดยตามบัตรประชาชนใบใหม่ที่ออกให้เมื่อ 3 มกราคม พ.ศ. 2512 หมดอายุวันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2518 ใช้ชื่อและนามสกุลว่า พิเชษฐ์ ชัยบัญชา


ในปี พ.ศ. 2512 มิตร ได้ตัดสินใจลงสมัครรับเลือกตั้ง เพื่อพิสูจน์ความนิยมในตัวเองอีกครั้ง ตามคำขอของเพื่อน แต่ไม่ใช่ระดับท้องถิ่นอีกต่อไป เพราะเขาได้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพระนคร กับ ปราโมทย์ คชสุนทร เพื่อหวังทำงานรับใช้ประชาชน และต้องการช่วยนักแสดง ให้การแสดงเป็นอาชีพที่มั่นคง มีสวัสดิการ ได้รับการดูแลเหมือนอาชีพเฉพาะทางอื่นๆ โดยขณะหาเสียงมิตรยังคงมีงานถ่ายภาพยนตร์อยู่มากหลายเรื่อง รวมทั้งต้องเคลียร์คิวหนังไปถ่ายต่างประเทศด้วย 2 เรื่อง เรื่องแรกไปถ่ายที่ญี่ปุ่นอีกเรื่องไปถ่ายที่ปีนัง โดยคู่แข่งขันกล่าวกับประชาชนว่า ถ้ามิตร ชัยบัญชา ได้รับเลือกตั้งก็จะไม่ได้มาแสดงภาพยนตร์ให้ดูอีก มิตรไม่ได้รับเลือกเป็นครั้งที่ 2[13] ด้วยคะแนนที่สูงพอสมควรแต่ขาดไปเพียง 500 คะแนน ได้เป็นที่ 16 จากความต้องการ 15 คน การลงสมัครเลือกตั้งนี้เองทำให้เงินทองและทรัพย์สินของมิตรร่อยหรอลงไปหลายล้านบาท พร้อมกับบ้าน 1 หลังที่จำนองกับธนาคาร เขาเก็บความผิดหวังไว้เงียบ ๆ และอีกความเจ็บปวด คือ หญิงคนที่รักมากได้ตีห่างจากไป (เพราะเหตุผลว่าเขาผิดสัญญาที่ลงเล่นการเมืองเป็นครั้งที่ 2 และเลือกประชาชน มากกว่า เลือกเธอ) ทำให้มิตรเสียใจมาก เขาพยายามตั้งใจ อดทนสู้ใหม่ รับงานหนังอีกหลายเรื่อง เช่น 7 สิงห์คืนถิ่น, วิมานไฟ, จอมโจรมเหศวร, ทรชนเดนตาย, ฟ้าเพียงดิน, ไอ้หนึ่ง, ชาติลำชี, ขุนทาส, สมิงเจ้าท่า, แม่ย่านาง, ลมเหนือ, 2สิงห์จ้าวพยัคฆ์, กำแพงเงินตรา, วิญญาณดอกประดู่, สวรรค์เบี่ยง, ฝนเดือนหก ฯลฯ และปีเดียวกัน มิตรได้สร้างภาพยนตร์เรื่อง รอยพราน ในนามชัยบัญชาภาพยนตร์ด้วย

ในปี พ.ศ. 2513 เขารวบรวมที่ดินทั้งหมดที่มีอยู่จำนองกับธนาคารเอเชีย 4 ล้าน 6 แสนบาท และจำนองบ้านพักทั้ง 3 หลังรวมทั้งขายที่ดินที่จังหวัดสระบุรีอีก 7 แสนบาท นำเงินทั้งหมดไปซื้อที่ดินตรงเชิงสะพานผ่านฟ้า เนื้อที่ 514 ตารางวา[14] ราคา 7 ล้านบาท เพื่อลงทุนสร้างโรงภาพยนตร์ขนาดมาตรฐานเพื่อฉายหนังไทยโดยเฉพาะ[15] มีร้านค้า และที่จอดรถ แบบทันสมัย โดยหวังช่วยเหลือผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ไทยให้ไม่ต้องรอโปรแกรมฉายต่อจากภาพยนตร์ต่างประเทศ การออกแบบเรียบร้อย และดำเนินการปรับพื้นที่แล้ว รวมทั้งมีโครงการสร้างภาพยนตร์ 2 เรื่อง เพื่อฉายรับโรงภาพยนตร์ใหม่ เป็นการวางอนาคตของมิตร ชัยบัญชา ผู้เป็นความหวังและที่พึ่งของเพื่อนที่ร่วมโครงการนี้ และเมื่อ พ.ศ. 2513 นี้ มิตรรับงานแสดงภาพยนตร์ไว้ประมาณ 50 เรื่อง และยังมีการแสดงภาพยนตร์จีนกำลังภายในที่ฮ่องกง ที่รับไว้ตั้งแต่ปีก่อน เรื่อง อัศวินดาบกายสิทธิ์ โดยได้แสดงร่วมกับ เถียนเหย่, กว่างหลิง และเรื่อง จอมดาบพิชัยยุทธ (ส่วนอีกเรื่องเมื่อมิตรเสียชีวิตก็ให้ไชยา สุริยัน แสดงแทนในดาบคู่สะท้านโลกันต์)


ในปี พ.ศ. 2513 ภาพยนตร์เรื่อง “มนต์รักลูกทุ่ง” เป็นภาพยนตร์เพลงลูกทุ่งของมิตรและเพชรา ที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก ทำรายได้มากกว่า 6 ล้านบาท และยืนโรงได้นานกว่า 6 เดือนในกรุงเทพฯ ทำรายได้ทั่วประเทศ กว่า 13 ล้านบาท ซึ่งยิ่งทำให้เวลานั้นไม่มีพระเอกคนไหนจะฮอตและเป็นที่นิยมได้มากเท่ากับ "มิตร ชัยบัญชา" อีกแล้ว


ปี พ.ศ. 2508 รับพระราชทานรางวัล "โล่ห์เกียรตินิยม"นักแสดงนำชาย ที่ทำรายได้สูงสุด จากภาพยนตร์เรื่อง "เงิน เงิน เงิน" ซึ่งทำรายได้เป็นประวัติการณ์ ต่อมา พ.ศ. 2509 ภาพยนตร์เรื่อง "เพชรตัดเพชร" ทำรายได้ทำลายสถิติ เงิน เงิน เงิน ได้ 3 ล้านบาทในเวลา 1 เดือน พระเอกตลอดกาลบังได้รับพระราชทานรางวัลดาราทอง จากคุณสมบัติหลัก 4 ประการ คือ ศรัทธา หน้าที่ ไมตรี และ น้ำใจ ซึ่งแสดงถึงคุณภาพของผู้รับรางวัล ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2513 ภาพยนตร์เรื่อง มนต์รักลูกทุ่ง ของ รังสี ทัศนพยัคฆ์ เป็นภาพยนตร์เพลงลูกทุ่งที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก ทำรายได้มากกว่า 6 ล้านบาทและยืนโรงได้นานกว่า 6 เดือนในกรุงเทพ ทำรายได้ทั่วประเทศ กว่า 13 ล้านบาท
.
วันแห่งความโศกเศร้า 8 ตุลาคม พ.ศ. 2513 

การถ่ายทำฉากสุดท้ายของเรื่อง "อินทรีทอง" เมื่อ พ.ศ. 2513 มิตรมีโครงการภาพยนตร์ ที่แสดงนำและกำกับการแสดงเป็นเรื่องแรก ในเรื่อง อินทรีทอง ซึ่งเป็นภาพยนตร์ชุด "อินทรีแดง" เรื่องที่ 6 ที่มิตรแสดงในบท โรม ฤทธิไกรหรือ อินทรีแดง ที่ต้องออกสืบหาอินทรีแดงตัวปลอม รับบทโดยครรชิต ขวัญประชา แสดงร่วมกับ เพชรา เชาวราษฎร์ รับบท "วาสนา"

รำลึก 52 ปี “มิตร ชัยบัญชา” พระเอกระดับตำนานผู้ล่วงลับ

การถ่ายทำสำเร็จได้ด้วยดีจนถึงฉากสุดท้ายของเรื่อง ถ่ายทำที่หาดดงตาล พัทยาใต้ จังหวัดชลบุรี เมื่อ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2513 เวลา 9.00 น. ในเรื่องหลังจากอินทรีแดงปราบผู้ร้ายได้แล้ว จะหนีตำรวจออกจากรังของคนร้าย โดยโหนบันไดเชือกจากเฮลิคอปเตอร์ซึ่งมีวาสนาเป็นผู้ขับ กล้องจะเก็บภาพเฮลิคอปเตอร์พาอินทรีแดงบินลับหายไป

เพื่อความสมจริง และความไม่พร้อมของเสื้อผ้าของนักแสดงแทน มิตร ตกลงว่าจะแสดงฉากนี้ด้วยตัวเอง โดยกำหนดการถ่ายทำไว้อย่างละเอียด แต่ด้วยความผิดพลาดทางเทคนิคที่มิตรไม่อาจรู้ได้ เพราะกำลังแสดงอยู่ ปรากฏว่าด้วยแรงกระตุกของเครื่องขณะบินขึ้น โดยที่มิตรไม่ได้เหยียบบนบันได และต้องโหนตัวอยู่กับบันได เครื่องไม่ได้ลงจอดเมื่อผ่านหน้ากล้องแล้ว มิตรพยายามให้สัญญาณด้วยการตบเท้าเข้าหากัน ในขณะที่นักบินมองไม่เห็นความผิดปกติและการให้สัญญาณจากพื้นล่าง ยังบินสูงขึ้นต่อไป และเกิดแรงเหวี่ยงในจังหวะที่เครื่องเลี้ยวกลับ ซึ่งจริง ๆ แล้วมิตรได้แก้ปัญหาเฉพาะหน้าโดยการใช้ข้อมือซ้ายเกี่ยวพันกับบันไดลิง แต่เนื่องจากเชือกบากข้อมือจนเกือบขาด มิตรทนความเจ็บไม่ไหว จึงตัดสินใจแกะเชือกที่รัดข้อมือ แล้วปล่อยตัวลงมา โดยตั้งใจว่าจะลงสู่บึงข้างล่างจะได้รอดชีวิต แต่ด้วยที่ว่าลมตีร่างมิตร ทำให้ตกลงมากระแทกกับพื้น ตรงจอมปลวก[9] จากความสูง 300 ฟุต เขาถูกนำส่งโรงพยาบาลศรีราชาด้วย เฮลิคอปเตอร์ดังกล่าวภายใน 5 นาที แต่สายเกินไป จากผลการชันสูตรศพยืนยันว่า เขาเสียชีวิตทันทีเพราะร่างกายแหลกเหลวไม่มีชิ้นดี เชือกบาดข้อมือเป็นแผลลึก 2 ซ.ม. ยาว 8 ซ.ม. กระดูกขากรรไกรข้างขวาหัก กระดูกโหนกแก้มซ้ายขวาหัก มีเลือดออกทางหูขวา กระดูกซี่โครงขวาหัก 5 ซี่ กระดูกโคนขาขวาหัก กระดูกต้นคอหัก โดยเสียชีวิตเมื่อเวลาประมาณ 16.13 น.

9 ตุลาคม พ.ศ. 2513 หนังสือพิมพ์ไทยทุกฉบับพาดหัวข้อข่าวการตายของเขา ซึ่งกระจายข่าวไปถึงญี่ปุ่น ฮ่องกง และไต้หวัน หลังจากข่าวการตายของเขา ทรัพย์สินส่วนใหญ่ของเขาถูกเคลื่อนย้ายออกจากบ้านทั้ง 3 หลัง ไม่มีเสื้อผ้าเหลือแม้แต่ชุดเดียวที่จะสวมใส่ให้ใหม่ตอนรดน้ำศพ 

รำลึก 52 ปี “มิตร ชัยบัญชา” พระเอกระดับตำนานผู้ล่วงลับ

ศพของมิตร ชัยบัญชา ตั้งบำเพ็ญกุศลที่วัดแคนางเลิ้ง หลังจากครบ 100 วัน พิธีพระราชทานเพลิงศพจัดเมื่อ 21 มกราคม พ.ศ. 2514 มีประชาชนหลั่งไหลเข้าไปร่วมงานจำนวนหลายหมื่นคน สำหรับการพระราชทานเพลิงศพย้ายจากวัดแคไปวัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร มีประชาชนหลั่งไหลไปร่วมงานกว่า 3 แสนคน จนกระทั่ง หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช กล่าวว่าเป็นงานศพของสามัญชนที่มีผู้ไปร่วมงานมากที่สุดในประวัติศาสตร์ 

มิตร ชัยบัญชา เสียชีวิตขณะถ่ายทำฉากโหนบันไดเชือกเฮลิคอปเตอร์ จากภาพยนตร์เรื่อง "อินทรีทอง" ท่ามกลางความอาลัยของคอหนังและประชาชนที่รับทราบข่าวสาร โดยในตอนนั้นหลายคนที่รักมิตร ไม่เชื่อข่าวดังกล่าวเพราะคิดว่าเป็นการโฆษณาในภาพยนตร์เรื่องใหม่ของมิตร ทำให้ที่วัดแคนางเลิ้ง ซึ่งตอนนั้นใช้เป็นที่สวดพระอภิธรรมศพของเขาต้องยกศพของมิตรให้แฟนๆที่มารอด้านนอกดูว่า พระเอกในดวงใจของเขาได้จากโลกนี้ไปแล้วจริงๆ โดยหลังจากที่แฟนๆเห็นศพของ มิตร ชัยบัญชา ก็พากันโศกเศร้าอย่างมาก ซึ่งต่อมาแฟนคลับคนหนึ่งของ มิตร ได้เคยกล่าวกับเดลินิวส์ออนไลน์เอาไว้ว่า “ตอนนั้นรู้สึกตกใจมากและเสียใจ ต่อไปไม่มีคุณมิตรให้ดูอีกแล้ว แล้วเขาจะดูอะไร” นับเป็นบุคคลธรรมดาที่มีผู้มาร่วมงานศพมากที่สุดเป็นประวัติศาสตร์ ได้มีการตั้งศาลบริเวณ หาดจอมเทียน พัทยาใต้ สถานที่ที่เขาเสียชีวิต 

รำลึก 52 ปี “มิตร ชัยบัญชา” พระเอกระดับตำนานผู้ล่วงลับ
เบื้องลึกชีวิตส่วนตัวกับอีกมุมลับๆ 
มิตร ชัยบัญชา สมรสกับภรรยาชื่อ "จารุวรรณ สรีรวงศ์" อย่างเงียบๆ เมื่อ พ.ศ. 2502 มีบุตรชายชื่อ ยุทธนา พุ่มเหม เมื่อ พ.ศ. 2504 แต่ชีวิตสมรสไม่ราบรื่น เนื่องจากมิตรไม่มีเวลาให้ ต้องทำงานตอนกลางวัน ถ่ายหนังตอนกลางคืนและวันหยุด และต้องปกปิดต่อสาธารณชนถึงสถานภาพการแต่งงาน เพื่อรักษาความนิยมจากแฟนภาพยนตร์ รวมทั้งภรรยาไม่ค่อยเข้าใจถึงสภาพการทำงาน และความตั้งใจจริงของมิตร ทั้งคู่จึงหย่าขาดกันในเวลาต่อมา (พ.ศ. 2506) ส่วนบุตรชายมิตรยังรับผิดชอบส่งเสียเงินทองให้สม่ำเสมอ รวมถึงเรื่องการศึกษาด้วย เมื่อมิตร เสียชีวิตบุตรชายเรียนอยู่ชั้น ป.4 โรงเรียนเซนต์จอห์น โดยมีชื่อของ มิตร ชัยบัญชาเป็นบิดา

หลังจากนั้นเขาได้รักและใช้ชีวิตคู่อย่างไม่เปิดเผยกับ กิ่งดาว ดารณี ภรรยาคนที่ 2 โดยผู้ใหญ่ของทั้งสองฝ่ายรับทราบ อยู่ 5 ปี จากบ้านของแม่ที่นางเลิ้ง ไปเช่าบ้านอยู่ที่ซอยกลาง สุขุมวิท จนกระทั่งมิตร ซื้อที่ดินปลูกบ้านในซอยจันทโรจน์วงศ์ เมื่อ พ.ศ. 2507–2508 และเข้าอยู่ร่วมกันเป็นคู่ชีวิตที่บ้านทั้ง 2 หลังในพื้นที่ 200 กว่าตารางวา ทั้งที่รักกันมากแต่ชีวิตรักก็ลุ่มๆ ดอนๆ ด้วยการที่ทั้งคู่มีความสามารถ และ มีความมั่นใจในตัวเองสูง อารมณ์ที่เกิดจากมิตรมีภาระที่รับผิดชอบมาก และต้องการทำงานให้สำเร็จ มีเวลาพักผ่อนน้อย การหึงหวงของทั้งคู่ และทิฐิต้องการเอาชนะของฝ่ายหญิง กระทั่งเลิกลากันไปด้วยความเสียใจของทั้ง 2 ฝ่าย โดยเฉพาะมิตร หลังมิตรลงสมัครเลือกตั้งต้น พ.ศ. 2512 กิ่งดาวไปใช้ชีวิตเรียนหนังสืออยู่ที่ประเทศอังกฤษ

ก่อนเสียชีวิตเพียงไม่นาน เขาได้พบรักใหม่กับ ศศิธร เพชรรุ่ง ภรรยาคนที่ 3 ซึ่ง มิตร ได้ไปขอกับพ่อแม่ของศศิธรและปลูกบ้านให้ที่ อำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก ให้เงินเดือนใช้เดือนละ 1,000 บาทซึ่งต่างจากตอนที่อยู่กับกิ่งดาว ดารณี คู่ชีวิตคนที่ 2 ที่ให้เดือนละ 10,000 บาท เป็นค่าใช้จ่ายภายในบ้านและใช้ส่วนตัว


ย้อนความทรงจำ เพชรา เชาวราษฎร์ 
นางเอกชื่อดังที่เป็นคู่ขวัญของมิตร ได้เคยกล่าวในปี 2563 หลังร่วมปั๊มมือและเท้าเพื่อเป็นอนุสรณ์ที่หอภาพยนตร์แห่งชาติ องค์การมหาชน ด้วย ซึ่งตอนนั้นเธอได้กล่าวถึงเพื่อนร่วมงานคนนี้ว่า

“ตนรู้สึกดีใจที่ได้ออกมาเจอทุกคนในวันนี้ อยากเห็นภาพที่แฟนๆมาให้กำลังใจมาก ส่วนเรื่องคุณมิตรที่ร้องไห้ตอนพูดคือก็รู้สึกผิดต่อเขา ถ้าวันนั้นไปถ่ายหนังกับเขา เขาก็คงไม่ตาย คือวันนั้นตนมีคิวถ่ายหนังอีกเรื่อง ทำให้ไม่ได้ไปถ่ายหนังกับเขา ก็เลยรู้สึกผิด อยากขอโทษ และคุณมิตรเองเขาก็มาเข้าฝันบ้าง”

 

รำลึก 52 ปี “มิตร ชัยบัญชา” พระเอกระดับตำนานผู้ล่วงลับ

ต่อมา ได้มีการปรับปรุงและสร้างรูปหล่อของ "มิตร ชัยบัญชา" ในชุดอินทรีทองไว้ที่ศาลด้วย ปัจจุบันอยู่ด้านหลังโรงแรมจอมเทียน หลังจากนั้นในปี พ.ศ. 2548 ได้มีการสร้างละครเรื่อง "มิตร ชัยบัญชา มายา-ชีวิต" ทางสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 ละครสร้างดัดแปลงมาจากเรื่องและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงของมิตร ชัยบัญชา เพื่อรำลึกถึงพระเอกดาราทองยอดนิยมอันดับ 1 ของประเทศไทย เป็นที่รักของมหาชนทั่วประเทศ 


ในช่วงปี พ.ศ. 2549–2550 มีการรวมใจสร้างอนุสรณ์สถานมิตร ชัยบัญชา พร้อมหุ่นไฟเบอร์กลาส ที่บ้านไสค้าน จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งบ้านเดิมของพระเอกหนังไทยคนนี้ "มิตร ชัยบัญชา" ด้วย เพื่อร่วมรำลึกถึงผลงานตลอดไป 


แม้วันนี้ร่างของ “มิตร ชัยบัญชา” จะไม่ได้อยู่บนโลกใบนี้แล้ว แต่ผลงานและความทุ่มเทของเขาที่มอบให้กับแฟนๆที่รักเขาผ่านงานแสดงยังคงถูกขับขานและบอกเล่าต่อไปเรื่อยๆไม่มีวันตาย เพราะไม่ว่าอีกกี่ปี ตราบใดที่หนังไทยยังคงอยู่คู่คนไทย ชื่อของเขาก็ไม่มีวันจางหายไปตามกาลเวลา

รำลึก 52 ปี “มิตร ชัยบัญชา” พระเอกระดับตำนานผู้ล่วงลับ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : หอภาพยนตร์ และ วิกิพีเดีย
 

logoline