svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเงิน-การลงทุน

เงินบาทพลิกแข็งค่า ! รั้งอันดับ 3 ในภูมิภาค เกิดจากสาเหตุอะไร

แบงก์กรุงศรีอยุธยาประเมินเงินบาทสัปดาห์หน้าอยู่ที่ 36.20-36.90 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เกาะติดเงินเฟ้อ PCE – จีดีพีสหรัฐฯ-ดุลบัญชีเดินสะพัดเดือนเม.ย.ของไทย เปิดสถิติตั้งแต่ 1 พ.ค. -24 พ.ค. เงินบาทแข็งค่ารั้งอันดับ 3 ภูมิภาค

น.ส. รุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมธุรกิจและกำกับดูแลโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยกับ Nation  STORY ว่า เงินบาทสัปดาห์หน้ากรอบการเคลื่อนไหวอยู่ที่  36.20-36.90 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ  โดยติดตามเงินเฟ้อ PCE และจีดีพีสหรัฐฯ รวมถึงดุลบัญชีเดินสะพัดเดือนเม.ย.ของไทย นอกจากนี้ ราคาทองคำในตลาดโลกยังคงสร้างความผันผวนให้กับค่าเงินบาทอย่างต่อเนื่อง

 

สำหรับการเคลื่อนไหวของสกุลเงินในภูมิภาคช่วง 1  พ.ค. - 24 พ.ค. พบว่า  สกุลเงินส่วนใหญ่แข็งค่า  นำโดยรูเปียห์-อินโดนีเซีย  1.67%  รองลงมาเป็นริงกิต-มาเล เซีย 1.20 % บาท-ไทย 0.99%  ดอลลาร์-สิงคโปร์ 0.95%  ดอลลาร์-ไต้หวัน  0.94% วอน-เกาหลีใต้ 0.89%  รูปี-อินเดีย 0.19%  ยกเว้น เปโซ-ฟิลิปปินส์ อ่อนค่า 0.67% ดอง-เวียดนามอ่อนค่า 0.55%    และหยวน-จีน อ่อนค่า 0.06% 

เงินบาทพลิกแข็งค่า  ! รั้งอันดับ 3 ในภูมิภาค เกิดจากสาเหตุอะไร
 

โดยเดือนพ.ค.นี้เงินบาทแข็งค่าราว 1% สอดคล้องกับสกุลเงินส่วนใหญ่ ซึ่งสาเหตุการแข็งค่ามาจาก

  • ข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญและเงินเฟ้อสหรัฐฯชะลอความร้อนแรง กดดันบอนด์ยิลด์สหรัฐฯร่วงลง อย่างไรก็ตาม เงินบาทลดช่วงบวก หลังตัวเลข PMI ภาคการผลิตและบริการเดือนพ.ค.ดีเกินคาด ทำให้นักลงทุนกลับมากังวลกับแนวโน้มที่เฟดจะคงดอกเบี้ยสูงยาวนาน โดยความเห็นจากเจ้าหน้าที่เฟดส่วนใหญ่บ่งชี้ว่าจะไม่รีบลดดอกเบี้ย เนื่องจากต้องการมั่นใจมากกว่านี้ว่าเงินเฟ้ออยู่ภายใต้การควบคุม
  • จีดีพีไตรมาสแรกของไทย ดีกว่าที่ตลาดประเมิน อย่างไรก็ตาม ยังเป็นลักษณะแข็งแรงกระจุก อ่อนแอกระจาย
  • ต่างชาติซื้อพันธบัตรสุทธิ 1.5 หมื่นล้านบาท และขายหุ้นไทยสุทธิ 4.1 พันล้านบาท

เงินบาทพลิกแข็งค่า  ! รั้งอันดับ 3 ในภูมิภาค เกิดจากสาเหตุอะไร

 

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงิน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยกับ  Nation  STORY  ว่า  การแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องของเงินบาทนับตั้งแต่ต้นพ.ค.-20 พ.ค.ที่ผ่านมามีจังหวะแข็งค่าหลุด 36 บาทต่อดอลลาร์ นั้นเกิดจากผู้เล่นในตลาดคลายกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดและกลับมาคาดหวังว่า เฟดมีโอกาสที่จะลดดอกเบี้ยได้ราว 2 ครั้งในปีนี้ หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญ สหรัฐฯ อย่าง ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls)  ดัชนี ISM PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการ รวมถึง อัตราเงินเฟ้อ CPI ออกมาต่ำกว่าคาด

นอกจากนี้ เงินบาทยังพอได้แรงหนุนจากโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ หลังราคาทองคำมีจังหวะปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง หนุนโดยการปรับตัวลดลงของเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ส่วนนักลงทุนต่างชาติก็เริ่มทยอยกลับมาซื้อสินทรัพย์ไทยมากขึ้น

อย่างไรก็ดี ภาพดังกล่าวได้เริ่มเปลี่ยนไป และเงินบาทได้พลิกกลับมาอ่อนค่าลงต่อเนื่องจากโซน 36 บาทต่อดอลลาร์ มายัง 36.70 บาทต่อ

ดอลลาร์ หลังบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดต่างย้ำจุดยืน ไม่รีบลดดอกเบี้ย ส่วนรายงานดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการล่าสุด ที่สำรวจโดย S&P Global ก็ออกมาดีกว่าคาด ส่งผลให้ เงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง

ขณะเดียวกัน ราคาทองคำก็ปรับตัวลงหนัก แต่ผู้เล่นในตลาดก็ยังคงต้องการซื้อทองคำอยู่ ทำให้โฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าลง และนอกเหนือจากปัจจัยดังกล่าว เงินบาทยังเผชิญแรงกดดันจากโฟลว์ธุรกรรมจ่ายเงินปันผลให้กับนักลงทุนต่างชาติ