svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเงิน-การลงทุน

กทพ. จ่อเปิดประมูลทางด่วน "จตุโชติ - ลำลูกกา" 1.9 หมื่นล้าน เม.ย.นี้

กทพ.วางเผนเปิดประมูลทางด่วนจตุโชติ - ลำลูกกาสายแรกของปีมังกร วงเงิน 1.9 หมื่นล้านบาท ดีเดย์เม.ย.นี้ คาด เดินหน้าตอกเสาเข็มทันทีปลายปี 67 เปิดให้บริการปี 70 หวังเม็ดเงินลงทุนกระตุ้นเศรษฐกิจ

นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยความคืบหน้าโครงการทางพิเศษฉลองรัช ส่วนต่อขยาย ช่วงจตุโชติ - ถนนลำลูกกา ระยะทาง 16.2 กม. ว่า กทพ.อยู่ระหว่างเปิดรับฟังความคิดเห็น เพื่อจัดทำร่างเอกสารประกวดราคา (TOR)  คาดว่าประกาศขายซองเอกสาร TOR ภายในเดือน เม.ย.นี้หลังจากนั้นจะลงนามสัญญากับเอกชน และเริ่มก่อสร้างได้ปลายปี  67 ใช้เวลาก่อสร้าง 36 เดือน หรือ 3 ปีแล้วเสร็จ และเปิดให้บริการประมาณปี  70

สำหรับโครงการดังกล่าวใช้เงินลงทุน 19,000 ล้านบาท แบ่งเป็น ส่วนของงานโยธา 18,000 ล้านบาท โดยเป็นเงินลงทุนจากกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประ เทศไทย (Thailand Future Fund : TFF) 14,374 ล้านบาท

ส่วนที่เหลืออีก 4,000 ล้านบาท จะจัดสรรจากเงินกู้ ซึ่งได้หารือร่วมกับกระทรวงการคลังในการจัดหาแล้ว เบื้องต้นพบว่าไม่มีปัญหาติดขัด เนื่องจาก กทพ.มีผลการดำเนินงานเป็นบวกต่อเนื่อง ขณะที่ส่วนของงานติดตั้งระบบทางด่วน คาดว่าจะใช้วงเงิน  1,000 ล้านบาท

กทพ.จะประมูลงานโยธาภายใต้สัญญาเดียว เพราะต้องการให้โครงการก่อสร้างแล้วเสร็จโดยเร็ว  ซึ่งจำเป็นต้องกำหนดคุณสมบัติของผู้รับเหมาที่จะมาร่วมประมูลงานให้เข้มข้นมากขึ้น โดยต้องการจัดหาผู้รับเหมาระดับชั้นพิเศษ ที่มีประสบการณ์ทำงานก่อสร้างขนาดใหญ่ เพื่อให้โครงการนี้สามารถเดินหน้าได้อย่างมั่นใจ โดยเชื่อว่าโครงการจะได้รับการตอบรับอย่างดีจากเอกชน เพราะถือเป็นโครงการลงทุนภาครัฐที่ออกประกวดราคาเป็นโครงการแรกของปี

 

ทั้งนี้ โครงการทางพิเศษฉลองรัชสายนี้ มีจุดเริ่มต้นเชื่อมต่อกับทางด่วนฉลองรัชที่ด่านเก็บค่าผ่านทางด่วนจตุโชติ บริเวณถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพด้านตะวันออก (ถนนกาญจนาภิเษก) และมุ่งหน้าทางทิศตะวันออกตัดถนนหทัยราษฎร์ และถนนนิมิตใหม่ แล้วเลี้ยวขึ้นไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เชื่อมต่อถนนลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี รองรับความเร็วได้ 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ขณะที่ทางพิเศษในปัจจุบันรับความเร็วได้ที่ 110 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

อีกทั้งยังรองรับระบบจัดเก็บค่าผ่านทาง แบบอัตโนมัติแบบไม่มีไม้กั้น (M-Flow) ซึ่ง กทพ.คาดการณ์ปริมาณจราจร ณ ปีเปิดให้บริการ อยู่ที่ประมาณ 3.2 หมื่นคันต่อวัน กำหนดอัตราค่าผ่านทางเริ่มต้นที่ 25 บาท สูงสุด 125 บาท โครงการมีทางแยกต่างระดับ 1 แห่ง และทางขึ้นลง 3 แห่ง ได้แก่ ตำแหน่งที่ 1 ทางขึ้นลง กม.1+900 บริเวณทางแยกต่างระดับจตุโชติ ตำแหน่งที่ 2-1 ทางขึ้นลง กม.4+000 จตุโชติ-1 และหทัยราษฎร์-1

ส่วนตำแหน่งที่ 2-2 ทางขึ้นลง กม.5+000 บริเวณทางต่างระดับทหัยราษฎร์ ตำแหน่งที่ 2-3 ทางขึ้นลง กม.6+200 บริเวณหทัยราษฎร์-2 และตำแหน่งที่ 3 ทางขึ้นลงบริเวณ กม.14+000 บริเวณลำลูกกา

โดยทางด่วนสายนี้จะช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรติดขัดบนถนนรังสิต-นครนายก และโครงข่ายถนนโดยรอบ รวมถึงเพิ่มทางเลือกการเดินทางให้ประชาชนระหว่าง จังหวัดปทุมธานี และจังหวัดใกล้เคียงเข้าสู่กรุงเทพฯ ชั้นใน รองรับการขยายตัวของแหล่งชุมชน ที่อยู่อาศัย และสถานศึกษา ทั้งที่เปิดบริการแล้ว และอยู่ระหว่างพัฒนา

ทั้งนี้จากผลการศึกษาเบื้องต้นโครงการดังกล่าว มีอัตราผลตอบแทนทางการเงิน (Financial Internal Rate of Return) อยู่ที่ 4.29% มีอัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (Economic Internal Rate of Return) อยู่ที่ 15.97% และมูลค่าปัจจุบันสุทธิ(NPV) ณ อัตราคิดลด 12% อยู่ที่ 7,351.53 ล้านบาท