svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเงิน-การลงทุน

เงินบาทแข็ง ! เกาะติดถ้อยแถลงเฟด-ข้อมูลตลาดแรงงานอังกฤษ

13 กุมภาพันธ์ 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 35.88 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย” หลังดอลลลาร์อ่อน -บอนด์ยีลด์ผันผวน ตลาดจับตาเงินเฟ้อสหรัฐฯ คืนนี้ หากเร่งตัวขึ้นจะเป็นแรงกดดันให้เฟดไม่รีบลดดอกเบี้ย - เกาะติดถ้อยแถลงเฟด-ลุ้นข้อมูลตลาดแรงงานอังกฤษ

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงิน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า  ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 35.88 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย”จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 35.89 บาทต่อดอลลาร์โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทผันผวนในกรอบ sideways (แกว่งตัวในช่วง 35.84-35.95 บาทต่อดอลลาร์)

โดยมีจังหวะผันผวนอ่อนค่าลงบ้าง ตามโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะปรับฐาน หลังราคาทองคำทยอยปรับตัวลดลงสู่โซนแนวรับระยะสั้น ตามการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อย่างไรก็ดี เงินบาทก็ไม่ได้อ่อนค่าไปมาก เนื่องจากโดยรวมเงินดอลลาร์ก็แกว่งตัวในกรอบ เพื่อรอลุ้นปัจจัยใหม่ๆ โดยเฉพาะ รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ในคืนวันอังคารนี้ (ตามเวลาประเทศไทย)

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ เริ่มเผชิญแรงขายทำกำไร โดยเฉพาะแรงขายบรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ (the Magnificent 7) อาทิ Microsoft -1.3%, Amazon -1.2% หลังจากที่หุ้นกลุ่ม The Mag. 7 ได้ปรับตัวขึ้นอย่างร้อนแรงในช่วงที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ผู้เล่นในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ต่างก็รอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ในวันอังคาร ทำให้ผู้เล่นในตลาดอาจยังไม่รีบเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงเพิ่มเติม แม้ว่าโดยรวมรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนสหรัฐฯ ในไตรมาส 4 ที่ทยอยประกาศออกมาจะดูสดใสก็ตาม

เงินบาทแข็ง ! เกาะติดถ้อยแถลงเฟด-ข้อมูลตลาดแรงงานอังกฤษ

ทางตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 พลิกกลับมาปรับตัวขึ้นกว่า +0.54% หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มสินค้าแบรนด์เนม L’ Oreal +2.4% และ LVMH +1.8% ที่ยังได้แรงหนุนจากรายงานผลประกอบการที่ออกมาสดใส

ขณะเดียวกัน บรรดาหุ้นกลุ่มการเงินก็รีบาวด์ขึ้นบ้าง หลังเผชิญแรงขายในช่วงก่อนหน้า จากรายงานผลประกอบการที่ออกมาต่ำกว่าคาด ทั้งนี้ ผู้เล่นในตลาดยังไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงมากนัก เพื่อรอจับตารายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ และยูโรโซน รวมถึงถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางหลัก (เฟด, BOE และ ECB)

ด้านตลาดบอนด์นั้น  บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ เคลื่อนไหวผันผวน โดยมีจังหวะปรับตัวขึ้นบ้าง ตามมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ยังคงเชื่อว่า เฟดจะไม่รีบลดดอกเบี้ย ขณะเดียวกัน การปรับตัวขึ้นของราคาน้ำมันดิบก็มีส่วนช่วยหนุนบอนด์ยีลด์ ทว่าบรรยากาศระมัดระวังตัวของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ก็ทำให้โดยรวม บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ไม่ได้ปรับตัวขึ้นจนทะลุระดับ 4.20% และ ยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ 4.18%

อย่างไรก็ดี ประเมินว่ามีโอกาสที่บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะปรับตัวขึ้นต่อจนทะลุระดับ 4.20% ได้ไม่ยาก หากผู้เล่นในตลาดทยอยลดความคาดหวังต่อการลดดอก เบี้ยหลายครั้งของเฟด ซึ่งอาจเกิดขึ้นจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ยังคงแข็งแกร่งและดีกว่าคาด หรือ อัตราเงินเฟ้อที่ชะลอลงช้ากว่าคาด

ดังนั้น ผู้เล่นในตลาดควรเน้นกลยุทธ์ Buy on Dip เพื่อลดความเสี่ยงการขาดทุนเมื่อมองภาพผลตอบแทนโดยรวม หรือ Total Return ซึ่งหากบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ สามารถปรับตัวขึ้น ทะลุระดับ 4.20% ไปได้ ก็จะมีความน่าสนใจในการทยอยเข้าซื้อเป็นอย่างมาก

ทางด้านตลาดค่าเงินนั้น เงินดอลลาร์โดยรวมเคลื่อนไหวผันผวนในกรอบ sideways โดยเงินดอลลาร์ยังพอได้แรงหนุนอยู่บ้าง จากมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ยังคงเชื่อว่า เฟดจะไม่รีบลดดอกเบี้ย รวมถึงบรรยากาศปิดรับความเสี่ยงของตลาดหุ้นสหรัฐฯ

แต่ผู้เล่นในตลาดส่วนใหญ่ก็ยังไม่รับปรับสถานะถือครองเงินดอลลาร์ที่ชัดเจน จนกว่าจะรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ 104.1 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 104-104.3 จุด)

ส่วนราคาทองคำ จังหวะการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้กดดันให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน เม.ย.) ย่อตัวลงสู่โซนแนวรับระยะสั้น 2,020-2,030 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ก่อนที่รีบาวด์ขึ้นบ้างและแกว่งตัวใกล้ระดับ 2,030 ดอลลาร์ต่อออนซ์

ทั้งนี้ในเชิงเทคนิคัลการปรับตัวลดลงของราคาทองคำในช่วงนี้ ได้เพิ่มความเสี่ยงที่ราคาทองคำอาจปรับตัวลดลงต่อ เร็วและแรง เหมือนในช่วงปลายเดือนกันยายนได้ โดยหากราคาทองคำปรับฐานต่อเนื่อง ก็อาจย่อตัวลงทดสอบโซนแนวรับถัดไปแถว 2,015 ดอลลาร์ต่อออนซ์ และจะมีโซน 2,000 ดอลลาร์ต่อออนซ์ เป็นแนวรับหลักเชิงจิตวิทยา

สำหรับวันนี้ไฮไลท์สำคัญที่ผู้เล่นในตลาดจะจับตา คือ รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ เดือนมกราคม โดยหากอัตราเงินเฟ้อ CPI ชะลอตัวลงต่อเนื่อง (จับตาที่โมเมนตัมอัตราเงินเฟ้อ แบบ %m/m, %3m เทียบรายปี และ %6m เทียบรายปี) และมีแนวโน้มที่จะเข้าสู่เป้าหมาย 2% ของเฟดได้ ก็อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดยังคงมั่นใจต่อคาดการณ์แนวโน้มการลดดอกเบี้ยเฟด ที่ผู้เล่นในตลาดประเมินว่า เฟดจะเริ่มลดดอกเบี้ยได้ในการประชุมเดือนพฤษภาคม และอาจลดดอกเบี้ยราว 1.25% หรือ 5 ครั้ง

แต่หากอัตราเงินเฟ้อกลับเร่งตัวขึ้น หรือไม่ได้ชะลอตัวที่ตลาดคาดหวัง ก็อาจยิ่งกดดันให้ ผู้เล่นในตลาดต้องกลับมาประเมินใหม่ว่า เฟดอาจไม่รีบลดดอกเบี้ย และเฟดก็อาจลดดอกเบี้ยตาม Dot Plot ล่าสุดเท่านั้น (ลด 3 ครั้ง และอาจเริ่มการลดดอกเบี้ยในเดือนมิถุนายน) ซึ่งมุมมองดังกล่าวก็อาจยิ่งหนุนการปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ

นอกจากนี้ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานข้อมูลเศรษฐกิจฝั่งยูโรโซน อาทิ ข้อมูลตลาดแรงงานอังกฤษ และดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจโดย ZEW ของเยอรมนี และยูโรโซน ซึ่งจะเป็นหนึ่งในปัจจัยประกอบการประเมินแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายของทั้ง BOE และ ECB

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรายังคงประเมินว่า เงินบาทมีความเสี่ยงที่จะผันผวนอ่อนค่าทดสอบโซนแนวต้านสำคัญแถว 36.00 บาทต่อดอลลาร์ได้ โดยภาพดังกล่าวอาจเกิดขึ้นในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ในคืนนี้ได้เช่นกัน

นอกจากนี้ ในช่วงระหว่างวัน เงินบาทก็อาจเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าได้บ้าง หลังบรรยากาศในตลาดการเงินโดยรวมเริ่มกลับมาอยู่ในภาวะระมัดระวังตัวมากขึ้น ซึ่งก็สามารถกดดันให้นักลงทุนต่างชาติพลิกกลับมาทยอยขายหุ้นไทยได้

อย่างไรก็ดี หากเงินบาทผันผวนอ่อนค่าทะลุระดับ 36.00 บาทต่อดอลลาร์ได้จริง  เงินบาทมีโอกาสผันผวนอ่อนค่าต่อเข้าใกล้โซน 36.15 บาทต่อดอลลาร์ เนื่องจากบรรดาผู้เล่นในตลาด ทั้งผู้ส่งออก รวมถึงผู้เล่นต่างชาติที่มีสถานะ Short THB (มองเงินบาทอ่อนค่า) ก็อาจทยอยขายเงินดอลลาร์หรือขายทำกำไรสถานะ Short THB ในช่วงดังกล่าวซึ่งจะเป็นโซนแนวต้านระยะสั้นถัดไป

อย่างไรก็ตาม ในช่วงนี้เงินบาทเริ่มกลับมาผันผวนสอดคล้องกับบรรดาสกุลเงินในฝั่งเอเชียมากขึ้น โดยเฉพาะ เงินหยวนจีน (CNY) และเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ทำให้ต้องจับตาทิศทางของสกุลเงินฝั่งเอเชียดังกล่าวเช่นกัน

โดยประเมินว่า การอ่อนค่าของเงินหยวนจีนอาจเป็นไปอย่างจำกัด เนื่อง จากทางการจีนได้พยายามประคองเงินหยวนในช่วงที่ผ่านมาอย่างชัดเจน ขณะที่เงินเยนญี่ปุ่น กลับเป็นสกุลเงินที่เราประเมินว่า อาจมีจังหวะผันผวนอ่อนค่าได้บ้าง ตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ BOJ ซึ่งอาจย้ำจุดยืนไม่รีบขึ้นดอกเบี้ย หรือ ขึ้นดอกเบี้ย น้อยกว่าที่ตลาดกำลังประเมินอยู่ (ล่าสุด ตลาดมองว่า BOJ อาจขึ้นดอกเบี้ยได้ราว 3-4 ครั้งในปีนี้)

อย่างไรก็ตาม ความผันผวนของเงินบาทนั้นสูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตที่ผ่านมา (มองจากกรอบเงินบาทรายสัปดาห์) อย่างเห็นได้ชัด  ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

นอกจากนี้ควรเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ก็เป็นอีกแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนในการทำธุรกรรมและแผนการป้องกันความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทุกครั้ง

สำหรับกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.85-36 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงก่อนตลาดรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯและประเมินกรอบในช่วง 35.75-36.15 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ

    

logoline