svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเงิน-การลงทุน

กกร.ถกเคลียร์ปมร้อน ดอกเบี้ยแพง-แบงก์กำไรอู้ฟู่

09 มกราคม 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ดีเดย์ 10 ม.ค. นี้ กกร.ถกประเด็นร้อนแบงก์กำไรทะลัก 2.2 แสนล้านจากส่วนต่างดอกเบี้ย "สนั่น"คาดลดดอกเบี้ยลดภาระต้นทุนค่าใช้จ่ายให้ผู้ประกอบการ-ประชาชนเข้าถึงสินเชื่อเพิ่ม 

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงกรณีอัตราดอกเบี้ยของไทย และกำไรของสถาบันการเงินอยู่ในระดับสูงว่า ในวันที่ 10 ม.ค. นี้ในการประชุมคณะกรรมการร่วมเอกชน 3 สถาบัน หรือกกร. ประกอบด้วย ส.อ.ท. ,สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทยจะหารือในเรื่องดังกล่าว  

โดยจะต้องดูใน 2 ประเด็นหลักคือ 1. คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)  มีหน้าที่กำกับดูแลอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 2.5% ก็คงจะมีเหตุผลในการปรับขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมารัฐบาลสหรัฐฯมีการใช้มาตรการ QE หรือการพิมพ์ธนบัตรออกมา เพื่ออัดฉีดเข้าสู่ระบบ

พร้อมทั้งมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหลายแนวทาง จนทำให้ประชาชนชาวสหรัฐฯ แม้ไม่ได้ทำงาน แต่ยังมีเงินอย่างเหลือเฟือ ทำให้มีการใช้จ่ายเป็นจำนวนมาก เงินเฟ้อของสหรัฐสูง และต้องสู้กับเงินเฟ้อของไทยด้วย

 

ส่วนกำไรของสถาบันการเงินที่สูงกว่า 2.2 แสนล้านบาทนั้น เป็นผลมาจากอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ซึ่งเป็นรายได้ค่อนข้างสูง แต่อัตราดอกเบี้ยเงินฝาก เป็นต้นทุนค่อนข้างต่ำ  โดยผู้ประกอบการต้องการให้ต้นทุนทางการเงินลดลงอยู่แล้ว  แต่คาดว่าปี 67 ไทยจะมีแนวโน้มดอกเบี้ยในทิศทางขาลง เพราะสหรัฐฯ ก็ประเมินว่า หมดยุคของดอกเบี้ยขาขึ้น และจะมีการลดลง 3 ครั้งปีนี้  เพราะเงินเฟ้อสหรัฐฯอยู่ที่ 3% กว่า ยังไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ต้องการคือ 2% แต่ก็จะมีการชะลอลดดอกเบี้ยลง

 

 นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย  กล่าวว่า หากธนาคารปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงมาอีก จะช่วยลดภาระประชาชน ลดต้นทุนผู้ประกอบการ และช่วยให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้สะดวก อีกทั้งยังช่วยเร่งให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้รวดเร็วยิ่งขึ้น  

สำหรับการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงที่ผ่านมา ถือเป็นความพยายามของ ธปท.ในการสกัดเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง และรักษาเสถียรภาพค่าเงินบาทที่อ่อนค่ามากในช่วงปีที่แล้ว ขณะเดียวกัน ยังลดช่องว่างของอัตราดอกเบี้ยระหว่างสหรัฐกับไทย เพื่อไม่ให้ห่างกันจนเกินไป

โดยการขึ้นดอกเบี้ยนั้น ได้ส่งผลกระทบโดยตรงกับต้นทุนกู้ยืมของผู้ประกอบการและประชาชนในระดับหนึ่ง ขณะนี้ต้องติดตามสัญญาณของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ว่าจะลดดอกเบี้ยช่วงใด ซึ่งมองว่า ดอกเบี้ยไทยในปัจจุบันเหมาะสมและพอรับได้ หวังว่า ธปท. จะยังไม่ปรับขึ้นอีก และหากเฟดลดดอกเบี้ยเมื่อไหร่ ก็เชื่อว่า ธปท. คงจะลดดอกเบี้ยให้เหมาะสมกับสถานการณ์ของเศรษฐกิจไทยต่อไป 

ส่วนกรณีที่เงินเฟ้อทั่วไปของไทยติดลบต่อเนื่อง 3 เดือนติดนั้น เชื่อว่า น่าจะเป็นผลจากการปรับลดเชิงเทคนิค ตามนโยบายการลดภาระค่าครองชีพด้านพลังงานของภาครัฐ ทั้งค่ากระแสไฟฟ้า และราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ประกอบกับราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกลดลง ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐานยังปรับขึ้นเล็กน้อย แสดงให้เห็นว่า ไทยยังคงพอมีกำลังซื้ออยู่บ้าง โดยเงินเฟ้อทั่วไปปี 66 อยู่ที่ 1.23%  

ด้านนโยบายการคลัง ที่รัฐบาลกำลังดำเนินการ ทั้งการยกเว้นวีซ่า เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยว,  Easy E-Receipt, รวมถึงการผลักดันโครงการเงินดิจิทัล จะมีส่วนช่วยกระตุ้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย และคาดว่า ปี 67 อัตราเงินเฟ้อน่าจะเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 2.0-2.5% ซึ่งอยู่ในกรอบที่กระทรวงการคลัง และ ธปท.กำหนดไว้ที่ 1–3% 

logoline