svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเงิน-การลงทุน

ไขข้อข้องใจ Easy E-Receipt ซื้ออะไรถึงได้สิทธิภาษี

01 มกราคม 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

รัฐบาลกดปุ่มสตาร์ทโครงการ Easy E-Receipt เริ่ม 1 ม.ค.-15 ก.พ.67 เอาใจนักช้อป  ซื้อสินค้าและบริการสามารถหักลดหย่อนภาษีตามจ่ายจริงได้สูงสุดถึง 5 หมื่นบาท ซึ่ง มีหลักเกณฑ์อย่างไร  ซื้อสินค้าอะไรได้บ้างไม่ได้บ้าง  ตามไปดูข้อมูลกันเลย  

ขาช้อปพร้อมกันหรือยัง สำหรับมาตรการลดหย่อนภาษีของรัฐบาล เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายใต้ชื่อ “อีซี่ อี-รีซีท : Easy E-Receipt” ชื่อเดิม คือ e-Refund : อี-รีฟันด์

กดปุ่มสตาร์ทโครงการตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-15 ก.พ. 67  ครอบคลุมเทศกาลปีใหม่ไปจนถึงตรุษจีน ซึ่งประชาชนที่ซื้อสินค้าสามารถหักลดหย่อนค่าซื้อสินค้าและบริการ

จากผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) หรือผู้ประกอบการทั่วไปได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 50,000 บาท   กับร้านค้าที่ออกใบกำกับภาษี-ใบรับ ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ ระบบ e-Tax Invoice & e-Receipt

โดยโครงการนี้เป็นโครงการเสริมทัพดามคนอกหักจากดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท   ซึ่งรัฐหมายมั่นปั้นมือว่า  มีคนเข้าร่วมโครงการ ประมาณ 1.4 ล้านคน มีเงินหมุนเวียนในระบบ 70,000 ล้านบาท กระตุ้นจีดีพี  ปี 2567 ให้เพิ่มขึ้นอีก 0.18 %  แม้ว่าภาครัฐจะเสียรายได้ประมาณ 10,850 ล้านบาท แต่จะทำให้ผู้ประกอบการเข้าสู่ระบบภาษีมากขึ้น  ซึ่งจะช่วยขยายฐานภาษี และสนับสนุนการใช้ระบบภาษีอิเล็ก ทรอนิกส์ในอนาคต   

ส่วนรายละเอียดของโครงการเป็นอย่างไรมีเงื่อนไขอะไรบ้าง "เนชั่นออนไลน์" พาไปไขคำตอบ

ไขข้อข้องใจ Easy E-Receipt ซื้ออะไรถึงได้สิทธิภาษี

โครงการ Easy E-Receipt คืออะไร?

- โครงการให้สิทธิลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา  สำหรับค่าซื้อสินค้าและบริการมูลค่าไม่เกิน 50,000 บาท สำหรับผู้ที่ไม่เข้าเกณฑ์รับเงินดิจิทัล 10,000 บาทจากรัฐบาล

ให้สิทธิประโยชน์อะไรบ้าง 

ㆍ สิทธิลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับค่าซื้อสินค้าและบริการตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 50,000 บาท

เงื่อนไขโครงการ

ㆍซื้อสินค้าจากร้านค้าที่อยู่ในฐานระบบภาษี ที่สามารถออกใบกำกับภาษีในรูปอิเล็กทรอนิกส์เท่านั้น

Easy E-Receipt จะเริ่มเมื่อไหร่ 

ㆍ1 ม.ค.-15 ก.พ. 2567  

ใครมีสิทธิเข้าโครงการบ้าง

ㆍไม่ได้รับสิทธิ “เงินดิจิทัล 10,000” 

ㆍผู้ที่ร่วมโครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท สามารถเข้าร่วมโครงการ Easy E-Receipt เพื่อลดหย่อนภาษีได้ 

ㆍมีรายได้เกิน 70,000 บาทขึ้นไป หรือ มีเงินในบัญชีรวมกันตั้งแต่ 500,000 บาทขึ้นไป

 ㆍ มีรายได้น้อยกว่า 70,000 บาท แต่มีเงินฝากเกิน 500,000 บาท
 

สามารถใช้จ่ายกับอะไรได้บ้าง

- ซื้อสินค้าหรือการรับบริการในราชอาณาจักร สามารถนำมาหักลดหย่อนตามมาตรการนี้ได้  

สินค้าและบริการที่ไม่เข้าร่วมโครงการมีอะไรบ้าง

1. ค่าซื้อสุรา เบียร์ และไวน์

2. ค่าซื้อยาสูบ

3. ค่าซื้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์ และเรือ

4. ค่าน้ำมันและก๊าซสำหรับเติมยานพาหนะ

5. ค่าสาธารณูปโภค ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าบริการสัญญาณโทรศัพท์ ค่าบริการสัญญาณอินเทอร์เน็ต

6. ค่าเบี้ยประกันวินาศภัย

ไขข้อข้องใจ Easy E-Receipt ซื้ออะไรถึงได้สิทธิภาษี

หลักฐานที่จำเป็นต้องใช้ เพื่อให้ได้รับสิทธิ  Easy E-Receipt  

- กรณีซื้อสินค้าหรือรับบริการจากผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม จะต้องมีใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป ามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากรในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice) พร้อมต้องระบุเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร (เลขประจำตัวประชาชน) ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการด้วย

- กรณีซื้อสินค้าหรือรับบริการจากผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการที่ไม่เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม จะต้องมีใบรับตามมาตรา 105 แห่งประมวลรัษฎากรในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Receipt) พร้อมต้องระบุชื่อ นามสกุล และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร หรือเลขประจำตัวประชาชน ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการด้วยเฉพาะค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการดังต่อไปนี้ 

ค่าซื้อหนังสือ หนัง สือพิมพ์ และนิตยสาร ค่าบริการหนังสือ หนัง สือพิมพ์ และนิตยสารที่อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบอินเตอร์เน็ต  ค่าซื้อสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ซึ่งได้ลงทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชนแล้ว  

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการนิติบุคคล (ไม่จำกัดรายได้) สามารถจัดทำใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ หรือใบรับอิเล็กทรอนิกส์ ผ่านระบบบริการ e-Tax Invoice & e-Receipt โดยศึกษารายละเอียดและลงทะเบียนได้ที่เว็บไซต์ https://etax.rd.go.th

ส่วนผู้ประกอบการนิติบุคคลและบุคคลธรรมดาที่เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และมีรายได้ไม่เกิน 30 ล้านบาทต่อปี สามารถจัดทำใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบบริการ e-Tax Invoice by Email โดยศึกษารายละเอียดและลงทะเบียนได้ที่เว็บไซต์ www.rd.go.th/27659.html

Easy e-Receipt มีวิธีการขอคืนภาษีอย่างไร

- รวบรวมใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ที่ได้รับภายในปีภาษี 2567 ที่ต้องการนำมาลดหย่อนภาษี

- ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภ.ง.ด.90 หรือ ภ.ง.ด.91 ปี 2568

- ภาษีที่ลดลงจากการหักลดหย่อนภาษีผ่านโครงการ Easy e-Receipt จะแสดงในใบเสร็จรับเงินค่าภาษีเมื่อนำส่งภาษีเรียบร้อยแล้ว

เมื่อเข้าโครงการ Easy E-Receipt ยื่นลดหย่อนภาษีได้เมื่อไหร่

- ยื่นแบบรายงานภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้ระหว่างเดือน มกราคม - มีนาคม 2568  มี 2 ช่องทาง ดังนี้ 

1.ยื่นภาษีในรูปแบบกระดาษที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่ใกล้บ้าน ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-31 มี.ค. 2568

2.ยื่นภาษีรูปแบบออนไลน์ ผ่านเว็บไซต์กรมสรรพากร www.rd.go.th ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-8 เม.ย. 2568 

อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญประชาชนต้องศึกษารายละเอียดก่อนออกไปจับจ่าย โดยเฉพาะการคำนวณ “จำนวนภาษีที่ลดหย่อนได้จริง” จากเงิน 50,000 บาทที่จ่ายไป ซึ่งไม่ใช่ว่าทุกคนจะได้ลดหย่อนในจำนวนเท่ากัน เพราะอัตราภาษีเงินได้ของแต่ละคนไม่เหมือนกัน  โดยต้องดูตามฐานเงินเดือนหรือเงินได้สุทธิต่อปีของแต่ละคนประกอบด้วย  ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

- หากมีเงินได้สุทธิ ไม่เกิน 150,000 บาทต่อปี จะได้รับการยกเว้นภาษี (ไม่ต้องเสียภาษี) ดังนั้นแม้จะใช้จ่ายตามโครงการสูงสุด 50,000 บาท ก็จะไม่ได้ลดหย่อนภาษี (ประหยัดภาษี 0 บาท)

- หากมีเงินได้สุทธิ 150,001-300,000 บาทต่อปี  มีอัตราภาษีที่จะต้องเสีย คือ 5% เมื่อใช้จ่ายสูงสุด 50,000 บาท จะประหยัดภาษีได้จำนวน 2,500 บาท หรือหากใช้จ่าย 10,000 บาท จะประหยัดภาษีได้จำนวน 500 บาท

- หากมีเงินได้สุทธิ 300,001-500,000 บาทต่อปี  มีอัตราภาษีที่จะต้องเสีย คือ 10% เมื่อใช้จ่ายสูงสุด 50,000 บาท จะประหยัดภาษีได้จำนวน 5,000 บาท หรือหากใช้จ่าย 10,000 บาท จะประหยัดภาษีได้จำนวน 1,000 บาท

- เงินได้สุทธิ 500,001-750,000 บาทต่อปี  มีอัตราภาษีที่จะต้องเสีย คือ 15% เมื่อใช้จ่ายสูงสุด 50,000 บาท จะประหยัดภาษีได้จำนวน 7,500 บาท หรือหากใช้จ่าย 10,000 บาท จะประหยัดภาษีได้จำนวน 1,500 บาท

- เงินได้สุทธิ 750,001-1,000,000 บาทต่อปี มีอัตราภาษีที่จะต้องเสีย คือ 20% เมื่อใช้จ่ายสูงสุด 50,000 บาท จะประหยัดภาษีได้จำนวน 10,000 บาท หรือหากใช้จ่าย 10,000 บาท จะประหยัดภาษีได้จำนวน 2,000 บาท

- เงินได้สุทธิ 1,000,001-2,000,000 บาทต่อปี มีอัตราภาษีที่จะต้องเสีย คือ 25% เมื่อใช้จ่ายสูงสุด 50,000 บาท จะประหยัดภาษีได้จำนวน 12,500 บาท หรือหากใช้จ่าย 10,000 บาท จะประหยัดภาษีได้จำนวน 2,500 บาท

- เงินได้สุทธิ 2,000,001-5,000,000 บาทต่อปี มีอัตราภาษีที่จะต้องเสีย คือ 30% เมื่อใช้จ่ายสูงสุด 50,000 บาท จะประหยัดภาษีได้จำนวน 15,000 บาท หรือหากใช้จ่าย 10,000 บาท จะประหยัดภาษีได้จำนวน 3,000 บาท

- เงินได้สุทธิ 5,000,001 ขึ้นไป มีอัตราภาษีที่จะต้องเสีย คือ 35% เมื่อใช้จ่ายสูงสุด 50,000 บาท จะประหยัดภาษีได้จำนวน 17,500 บาท หรือหากใช้จ่าย 10,000 บาท จะประหยัดภาษีได้จำนวน 3,500 บาท

หากไล่เรียงโครงการซื้อสินค้าและบริการในอดีต เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจปลายปีเกิดขึ้นมาในสมัย "ประยุทธ์ จันทร์โอชา" เป็นนายกรัฐมนตรี โดยในปี 58-61 ใช้ชื่อโครงการว่า “ช้อปช่วยชาติ” 

 ปี 2558 ระหว่างวันที่ 25-31 ธ.ค. รวม 7 วัน ให้วงเงินลดหย่อนภาษีสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท เงินสะพัด 22,500 ล้านบาท  ภาษีที่รัฐสูญเสีย 1,500 ล้านบาท

ปี 2559 ระหว่างวันที่ 14-31 ธ.ค. รวม 18 วัน ให้วงเงินลดหย่อนภาษีสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท เงินสะพัด  22,500 ล้านบาท ภาษีที่รัฐสูญเสีย  1,500 ล้านบาท  

ปี 2560 ระหว่างวันที่ 11 พ.ย.-3 ธ.ค. รวม 23 วัน ให้วงเงินลดหย่อนภาษีสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท  มีเงินสะพัด  22,500 ล้านบาท ภาษีที่รัฐสูญเสีย 2,000 ล้านบาท  

ปี 2561 ระหว่างวันที่ 15 ธ.ค. 2561-16 ม.ค.2562 รวม 31 วัน ให้วงเงินลดหย่อนภาษีสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท เงินสะพัดราว 12,000 ล้านบาท ภาษีที่รัฐสูญเสีย 1,600 ล้านบาท

 ปี 2562 ไม่มีมาตรการ “ช้อปช่วยชาติ” ตอนปลายปี เนื่องจากระหว่างปีมีมาตรการ “ชิมช้อปใช้” ออกมากระตุ้นเศรษฐกิจแทน  ระหว่างวันที่ 27 ก.ย.2562-31 ม.ค.2563 รวม 127 วัน (3 เฟส) ซึ่งไม่ใช่มาตรการภาษีอย่าง ช้อปช่วยชาติ

โดยรัฐแจกเงินผ่าน g-Wallet ช่อง 1 หรือ “เป๋าตัง 1” จำนวน 1,000 บาท เพื่อท่องเที่ยวในจังหวัดที่ลงทะเบียนไว้เท่านั้น และสิทธิ์ผ่าน g-Wallet ช่อง 2 หรือ “เป๋าตัง 2” ด้วยการเติมเงินใส่แอปพลิเคชันเพื่อใช้ซื้อสินค้าได้ไม่เกิน 30,000 บาท ได้เงินคืน 15% หรือ 4,500 บาท ในทุกจังหวัดยกเว้นจังหวัดตามทะเบียนบ้าน 

ปี 2563 เปลี่ยนชื่อเป็น มาตรการ “ช้อปดีมีคืน” ระหว่างวันที่ 23 ต.ค.-31 ธ.ค. รวม (2 เดือน 7 วัน)  ให้วงเงินลดหย่อนภาษีสูงสุดไม่เกิน 30,000 บาท เงินสะพัดราว 110,000 ล้านบาท ภาษีที่รัฐสูญเสีย 14,000 ล้านบาท  

ปี 2564  จัดทำโครงการ “ยิ่งใช้ยิ่งได้” ซึ่งเป็นมาตรการเยียวยาโควิด-19 จากภาครัฐ โดยมุ่งเน้นกระตุ้นเศรษฐกิจ ผ่านการใช้จ่ายค่าสินค้าหรือบริการ ระหว่างวันที่ 1 ก.ค.-31 ธ.ค. รวม 184 วัน มีประชาชนผู้ใช้สิทธิ์สะสม 91,952 ราย จากผู้ได้รับสิทธิ์กว่า 4.9 แสนราย จากที่ตั้งเป้าหมายไว้เบื้องต้น 4 ล้านสิทธิ์ลดลงเหลือ 1 ล้านสิทธิ์ โดยมียอดใช้จ่ายสะสมส่วนประชาชนรวมเพียง 3,822.7 ล้านบาท

 ปี 2565 ช้อปดีมีคืน ระหว่างวันที่ 1 ม.ค.-15 ก.พ. (1 เดือน 15 วัน)  ให้วงเงินลดหย่อนภาษีสูงสุดไม่เกิน 30,000 บาท เงินสะพัดราว 50,000 ล้านบาท ภาษีที่รัฐสูญเสีย 7,6 ล้านบาท  

ปี 2566 ช้อปดีมีคืน ระหว่างวันที่ 1 ม.ค.-15 ก.พ. ( 1 เดือน 15 วัน)  ให้วงเงินลดหย่อนภาษีสูงสุดไม่เกิน 40,000 บาท เงินสะพัด 56,000 ล้านบาท ภาษีที่รัฐสูญเสีย 6,200 ล้านบาท 

งานนี้คง ต้องจับตาดูว่ามาตรการ “Easy E-Receipt”  ภายใต้ รัฐบาล “เศรษฐา ทวีสิน”  จะปลุกชีพเศรษฐกิจไทยปีมังกรได้แค่ไหน และจะคุ้มกับเงินภาษีที่รัฐยอมแลกไปหรือไม่...

ไขข้อข้องใจ Easy E-Receipt ซื้ออะไรถึงได้สิทธิภาษี

logoline