svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเงิน-การลงทุน

JKN ย้ำแผลวิกฤติบจ.ไทย ลุ้นศาลเคาะฟื้นฟูกิจการต่อลมหายใจผู้ลงทุน

กลายเป็นประเด็นฮอตและประเด็นช็อค ที่เพิ่มแผลใหม่ให้กับนักลงทุนในตลาดหุ้นไทยอีกครั้ง หลังจากแอน-จักรพงษ์  เจ้าแม่ภารตะหมื่นล้าน ผู้บริหาร JKN ไปต่อไม่ไหว ยื่นแผนฟื้นฟูกิจการ ขณะที่นักลงทุนกระหน่ำเทขายหุ้นอย่างหนักจนทำให้มาร์เก็ตแคปหายไปแล้วกว่า 500 ล้านบาท    

ตลาดทุนไทยสั่นสะเทือนต่อเนื่อง หลัง บมจ.เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป (JKN)  ได้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลางในวันที่ 8 พ.ย.ที่ผ่านมา เพื่อปรับโครงสร้างกิจการและโครงสร้างทางการเงินให้สอดคล้องกับสมมติฐานทางการเงิน และสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน ตลอดจนแก้ไขปัญหาของกิจการในส่วนของเงินทุนหมุนเวียน เพื่อแก้ไขปัญหาสภาพคล่องทางการเงินของบริษัท รวมถึงการปรับโครงสร้างภายในองค์กร 

หลังจากนั้นวันที่  9 พ.ย. 66 ศาลล้มละลายกลางมีคําสั่งรับคําร้องขอฟื้นฟูกิจการของบริษัท โดยศาลล้มละลายกลางได้กําหนดวันไต่สวนคําร้องขอฟื้นฟูกิจการในวันที่ 29 ม.ค. 67 ทําให้เกิดสภาวะการพักชําระหนี้ทั้งหมดของบริษัท (Automatic stay) ตามมาตรา 90/12 แห่ง พ.ร.บ.ล้มละลาย ซึ่งรวมไปถึงการพักชําระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยหุ้นกู้ของบริษัททุกรุ่น เว้นแต่ศาลล้มละลายกลางจะมีคําสั่งเป็นอย่างอื่น 

ขณะเดียวกันบริษัทขอยกเลิกการจัดประชุมผู้ถือหุ้นกู้เพื่อพิจารณาขอผ่อนผัน เหตุผิดนัดตามข้อกําหนดสิทธิของหุ้นกู้ของบริษัท ได้แก่ JKN243A JKN246A JKN24OA JKN24NA JKN252A และ JKN2554 ซึ่งเดิมกําหนดไว้ว่าจะจัดประชุมภายในวันที่ 8 ธ.ค. 66 

จากที่ก่อนหน้านี้ แอน-จักรพงษ์ จักราจุฑาธิบดิ์  มีการแจ้งต่อ ก.ล.ต. ว่าบริษัทไม่สามารถชำระหนี้หุ้นกู้รุ่น JKN239A ได้ในวันที่ 1 ก.ย. 66 และขอชำระก่อนเพียงบางส่วน จนทำให้ปัญหาลุกลามมาถึงหุ้นกู้อีก 6 ตัว คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 3 พันล้านบาท 

JKN ย้ำแผลวิกฤติบจ.ไทย ลุ้นศาลเคาะฟื้นฟูกิจการต่อลมหายใจผู้ลงทุน

นอกจากนี้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.)  ขอให้ JKN ชี้แจงข้อมูลในงบการเงินไตรมาสที่ 3/66 ภายในวันที่ 8 ธ.ค. 66 และขอให้ผู้ลงทุนศึกษาข้อมูลงบการเงิน JKN และติดตามคำชี้แจงของบริษัท เนื่องจากการยื่นงบที่ผ่านมา ผู้สอบบัญชีไม่ให้ข้อสรุปต่องบการเงิน เพราะมีความไม่แน่นอนที่มีสาระสำคัญต่อความสามารถในการดำเนินงานต่อเนื่อง และอาจส่งผลกระทบ ต่อมูลค่าสินทรัพย์และหนี้สินที่มีสาระสำคัญ ได้แก่   

การประเมินการด้อยค่าสินทรัพย์เงินลงทุนในบริษัทย่อย เครื่องหมาย การค้าลิขสิทธิ์รายการ และค่าความนิยม รวม 10,789 ล้านบาท ที่อยู่ระหว่างดำเนินการประเมิน ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อมูลค่าสินทรัพย์ ขณะที่บริษัทมีส่วนของผู้ถือหุ้น 4,813 ล้านบาท   

ขณะเดียวกันบริษัทแจ้งว่า การขาดสภาพคล่องทางการเงิน และการผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้ ส่งผลให้ถือเป็นเหตุผิดนัดหนี้อื่น ๆ รวม 4,558 ล้านบาท โดยบริษัทยังไม่ตั้งประมาณการ ความเสียหายและดอกเบี้ยผิดนัดชำระ ด้านลูกหนี้ค้างชำระอยู่ที่ 1,190 ล้านบาท คิดเป็น 51% ของลูกหนี้-กิจการ ไม่เกี่ยวข้องกัน  ลูกหนี้ค้างชำระมากกว่า 6 เดือนอยู่ที่  669 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 77% จาก สิ้นปี 2565  ขณะที่บริษัทตั้งค่าเผื่อหนี้สูญ 88 ล้านบาท 

JKN ย้ำแผลวิกฤติบจ.ไทย ลุ้นศาลเคาะฟื้นฟูกิจการต่อลมหายใจผู้ลงทุน


ทั้งนี้หากย้อนดูผลประกอบการในช่วง 4 ที่ผ่านมาพบว่า  ปี 2562 JKN มีรายได้ 1,711 ล้านบาท กำไร 253 ล้านบาท ปี 2563 รายได้ 1,683 ล้านบาท กำไร 312 ล้านบาท ปี 2564 รายได้ 1,806 ล้านบาท กำไร 179 ล้านบาท และปี 2565 รายได้ 2,670 ล้านบาท กำไร 608 ล้านบาท  ส่วนตัวเลข 9 เดือน (ม.ค.-ก.ย.) มีกำไร 89 ล้านบาท  

ขณะที่การลงทุน ปี 2562 อยู่ที่ 974 ล้านบาท ปี 2563 อยู่ที่ 2,020 ล้านบาทปี 2564 อยู่ที่ 2,259 ล้านบาท และปี 2565 อยู่ที่ 2,847 ล้านบาท ส่วนในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมาการลงทุนอยู่ที่ประมาณ 3,000 กว่าล้านบาท ซึ่งจะเห็นว่า บริษัทฯ มีการใช้งบลงทุนต่อเนื่อง โดยเฉพาะการซื้อลิขสิทธิ์คอนเทนต์เป็นจำนวนมาก แต่กระแสเงินสดที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานไม่เพียงพอที่จะชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ยของหุ้นกู้มูลค่า 609.98 ล้านบาท ที่ครบกำหนดไถ่ถอนวันที่ 1 ก.ย.ที่ผ่านมาจนลุกลามไปยังหุ้นกู้อื่น ๆ  และเกิดปัญหาขาดสภาพคล่อง  

สำหรับมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด หรือมาร์เก็ตแคปของ JKN หายวับทันทีหลังจากยื่นแผนฟื้นฟูกิจการ โดยราคาหุ้นของ JKN วันที่ 8 พ.ย.ราคาปิดอยู่ที่ 1.09 บาท มาร์เก็ตแคปอยู่ที่  1,123.79 ล้านบาท แต่หลังจากยื่นแผนฟื้นฟูราคาหุ้นดิ่งหนัก โดยวันที่ 9 พ.ย.ราคาปิดอยู่ที่ 0.76 บาท  มาร์เก็ตแคปอยูที่ 783.56 ล้านบาท ขณะที่วันที่  6 ธ.ค.ราคาปิดอยู่ที่  0.54 บาท มาร์เก็ตแคปอยู่ที่ 556.74 ล้านบาท   

นอกจากการเผชิญปัญหาการผิดนัดชำระหุ้นกู้แล้ว JKN ยังถูกบริษัท ทีซีจี โซเซียล มีเดีย กรุ๊ป ขอให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ และสำนักงาน ก.ล.ต. ตรวจสอบบริษัท  JKN กรณีปิดโรงงานผลิตเครื่องดื่มของบริษัท เอ็มเอ็นเบฟเวอเรจ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อย ของJKN  ซึ่ง ทีซีจีฯ ร่วมถือหุ้นในสัดส่วน 40% โดยไม่แจ้งบริษัทฯ ในฐานะผู้ถือหุ้นให้ทราบล่วงหน้า  

พร้อมฟ้องร้องข้อหาหมิ่นประมาณ หลังจากเพจของ JKN ได้โพสต์เตือนเรื่องการออกเหรียญดิจิทัล ว่าทาง JKN ไม่ได้มีส่วนรู้เห็น และให้ระวังเพื่อไม่ตกเป็นเหยื่อในการหลอกลวง โดยข้อความดังกล่าวสร้างความเสียหายต่อชื่อเสียงของ ทีซีจีฯ เพราะความจริงแล้วโครงการเหรียญ Cryptocurrency Miss Universe Coin หรือ MU Coin นั้น ได้ลงนามเอกสารความร่วมมือกันระหว่าง ทีซีจีฯ กับ JKN เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 66 อย่างถูกต้องตามกฎหมาย 

ทั้งนี้ ทีซีจีฯ ได้ยื่นฟ้องดังกล่าวต่อศาลอาญา เมื่อวันที่ 25 ก.ย.66  โดยศาลได้ประทับรับฟ้อง ตราเลขคดีดำที่ อ.2860/2566 และนัดไต่สวนมูลฟ้อง วันที่ 18 ธ.ค. 2566 เวลา 13.00 น. เรียกร้องค่าเสียหาย 1,000 ล้านบาท เพื่อปกป้องชื่อเสียงและชดเชยความเสียหายบางส่วนที่เกิดขึ้น 

จากสารพัดปัญหาที่เกิดขึ้นของ JKN คงทำให้นักลงทุนเกิดความกังวลใจไม่น้อยว่า ผลลัพท์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจะเป็นอย่างไร และลุ้นว่าบริษัทฯ มีความจริงใจในการสางปัญหาที่เกิดขึ้นมากน้อยแค่ไหน  แต่ทั้งนี้คงต้องผลการชี้ขาดจากศาลล้มละลายว่า จะต่อลมหายใจให้ JKN ไปต่อหรือไม่ เพื่อให้เจ้าหนี้และผู้ถือหุ้นของ JKN มีโอกาสที่จะได้รับการเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นในครั้งนี้....