svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเงิน-การลงทุน

คลังเร่งแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน "แฮร์คัต” ลดหนี้รายย่อย

คลังวางแผนดึงแบงก์รัฐ-แบงก์พาณิชย์แก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน "แฮร์คัต” ลดหนี้-ดอกเบี้ยให้ลูกค้ารายย่อย พร้อมผ่อนปรนเงื่อนไขให้ลูกหนี้นอกระบบเข้าถึงสินเชื่อมากขึ้น

นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลัง อยู่ระหว่างพิจารณานโยบายการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน ตามนโยบายรัฐบาล โดยมาตรการที่พิจารณานั้น จะมีส่วนช่วยเหลือทั้งลูกหนี้ในระบบและนอกระบบ ซึ่งจะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะแบงก์รัฐเข้ามาร่วมมาตรการ ส่วนธนาคารพาณิชย์จะขอความร่วมมือแก้ปัญหา

นอกจากนี้จะเปิดช่องทางให้ลูกหนี้นอกระบบเข้ามาอยู่ในระบบมากขึ้น โดยให้แบงก์รัฐเป็นหน่วยงานที่เปิดรับลูกหนี้กลุ่มดังกล่าว ซึ่งแบงก์รัฐเองจะต้องผ่อนปรนเงื่อนไขให้ลูกหนี้กลุ่มนี้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น

ส่วนมาตรการแก้ไขปัญหาหนี้ในระบบนั้น กระทรวงฯ จะขอความร่วมมือไปยังแบงก์รัฐและแบงก์พาณิชย์ในการเข้าไปช่วยลดหนี้ให้แก่ลูกหนี้  โดยประเมินว่า สถานะของลูกหนี้ในปัจจุบันประสบปัญหามูลหนี้ที่มีปริมาณมาก หรือ อัตราดอกเบี้ยสูง หากพบว่าเป็นปัจจัยที่ทำให้การแก้ไขหนี้ล่าช้าก็จะต้องแก้ไขให้ตรงจุด

กรณีที่ลูกหนี้ประสบปัญหาด้านอัตราดอกเบี้ยที่คิดเกินความเสี่ยงของลูกหนี้มากเกินไปเราก็จะขอความร่วมมือให้แบงก์ช่วยลดดอกเบี้ยลงมา ยกตัวอย่าง สินเชื่อสำหรับข้าราชการ พนักงาน และ รัฐวิสาหกิจซึ่งรับการชำระเงินสินเชื่อผ่านการหักเงินเดือนของผู้กู้ในทุกเดือน  ถือว่าความเสี่ยงต่ำมาก ดังนั้น หากมีผลิตภัณฑ์สินเชื่อในลักษณะนี้กับแบงก์อื่น ก็จะขอความร่วมมือให้ลดดอกเบี้ยลงมา เป็นต้น

ขณะเดียวกันจะใช้ช่องทางของผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อย  เช่น นาโนไฟแนนซ์ และพิโกไฟแนนซ์ ซึ่งปัจจุบันอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง ให้เปิดช่องทางหรือผ่อนปรนการเข้าถึงสินเชื่อให้แก่ประชาชนรายย่อยให้มากขึ้น  

ทั้งนี้เห็นว่าในปัจจุบันหนี้ครัวเรือนของประเทศอยู่ในระดับสูง 90.7% ซึ่งฉุดการบริโภคภายในประเทศ โดยหนี้ครัวเรือนปัจจุบันอยู่ที่ 90.7%  ต่อจีดีพี ทะลุ 80% ต่อจีดีพีมากว่า 10 ปีแล้ว ส่งผลกระทบต่อการจับจ่ายใช้สอยครัวเรือนฐานราก  ซึ่งระดับที่ยั่งยืนตามเกณฑ์ BIS ไม่ควรเกิน 80% เพราะถ้าเกินจะส่งผลต่อเศรษฐกิจในระยะยาว จากผลการสำรวจพบว่า จำนวนครัวเรือนเป็นหนี้ลดลงเหลือ 48.5% แต่มูลค่าหนี้กลับเพิ่มขึ้นเป็น 2.08 แสนบาทต่อครัวเรือน

"หนี้ครัวเรือนที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่เป็นหนี้ที่มีหลักประกัน เช่น หนี้บ้าน รถ ไม่ใช่บัตรเครดิต แต่ต้องหาวิธีรับมือจริงจัง โดยรัฐบาลกำลังจะหาแนวทางแก้ไขทั้งปัญหาหนี้นอกระบบและในระบบ"

นอกจากนี้ที่ผ่านมา กระทรวงการคลังได้เข้าไปช่วยแก้ไขปัญหาหนี้สินของนักเรียนนักศึกษาที่กู้ยืมผ่านกองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ด้วยการลดดอกเบี้ยลงจำนวนมาก และเปิดช่องทางในการชำระ เพื่อลดเงินต้น เชื่อว่าแนวทางดังกล่าวจะช่วยภาระให้แก่ลูกหนี้ได้ คาดว่าแนวทางที่รัฐบาลจะดำเนินการทั้งหมดจะช่วยลดระดับหนี้ครัวเรือนของประเทศได้