svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเงิน-การลงทุน

ต่างชาติทิ้งหุ้นไทย  1.35 แสนล้านบาทเกิดจากสาเหตุอะไร

โบรกเผยสถิติหุ้นไทย 8 เดือนที่ผ่านมา ต่างชาติเทกระจาดขายสุทธิ 1.35 แสนล้านบาท  ชี้หากเทียบเพื่อนบ้านครองแชมป์สูงสุด ขณะที่ดัชนีร่วง 6.2% ส่วนแนวโน้มในช่วงที่เหลือตลาดหุ้นไทยจะเป็นอย่างไร หุ้นตัวไหนน่าเก็งกำไรตามไปดูกันเลย 

นายภราดร เตียรณปราโมทย์ รองผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บล.เอเซียพลัส เปิดเผยถึงภาวะตลาดหุ้นไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้กับ Nation Onlineว่า   ในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค.-ส.ค.) นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทยมากที่สุดในกลุ่มกว่า 1.35 แสนล้านบาท ตามมาด้วยพอร์ตโบรกเกอร์ขายสุทธิ 592 ล้านบาท ต่างกับสถาบันในประเทศที่ซื้อสุทธิ 5.55 หมื่นล้านบาท และนักลงทุนรายย่อยที่ซื้อสุทธิสูงสุด 8.03 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้หากเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค.-ส.ค.) นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิในตลาดหุ้นเอเชียเหนือ  นำโดยตลาดหุ้นเกาหลีใต้ซื้อสุทธิ 8.0 พันล้านเหรียญ (ตลาดหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้น 14.3%) และตลาดหุ้นไต้หวันซื้อสุทธิ 3.7 พันล้านเหรียญ (ตลาดหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้น 17.7%) 

ขณะที่ตลาดหุ้นในกลุ่ม TIP ถูกขายสุทธิทั้งสิ้น เริ่มจากตลาดหุ้นอินโดนีเซียถูกขายสุทธิเล็กน้อย  47 ล้านเหรียญ (ตลาดหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย 1.5%) ตามมาด้วยตลาดหุ้นฟิลิปปินส์ถูกขายสุทธิ  265 ล้านเหรียญ (ตลาดหุ้นปรับตัวลดลง -6.0%) และตลาดหุ้นไทยถูกต่างชาติขายสุทธิสูงสุดในภูมิภาค  443 ล้านเหรียญ (ตลาดหุ้นปรับตัวลดลง -6.2%)

ต่างชาติทิ้งหุ้นไทย  1.35 แสนล้านบาทเกิดจากสาเหตุอะไร

สำหรับปัจจัยที่กดดันต่างชาติขายหุ้นไทยหนักสุดในภูมิภาคมีอยู่ 3 ส่วนหลัก คือ

- กนง. มีการขึ้นดอกเบี้ยมาอย่างต่อเนื่อง 8 ครั้งในรอบ 12 เดือน จาก 0.5% เป็น 2.50% ซึ่งตามกลไกจะกดดันให้ตลาดหุ้นจะซื้อขายกันบน P/E ที่ถูกลง

-  เศรษฐกิจไทย ขาดความต่อเนื่องในการกระตุ้นเศรษฐกิจ และเติบโตช้ากว่าที่คาด โดย GDP งวด 1Q66 เติบโตเพียง 2.6% YoY และ GDP งวด 2Q66 เหลือการเติบโตเพียง 1.8%YoY เท่านั้น

-  เกิดสุญญากาศทางการเมือง หรือใช้ระยะเวลาในการเปลี่ยนรัฐบาลนานเกินกว่า 100 วัน ส่งผลให้นักลงทุนเกิดการชะลอการลงทุนชั่วคราว สะท้อนได้จากมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยในเดือน มิ.ย. และ ก.ค. ลดเหลือเพียง 4.4 หมื่นล้านบาทต่อวัน เท่านั้น 

ทั้งนี้ประเมินว่า ตลาดหุ้นไทยมี Downside ที่ค่อย ๆ แคบลง หลังผ่านปัจจัยลบต่างๆ มาพอสมควร และจากนี้คาดว่าจะมีแนวโน้มค่อยๆ ฟื้นตัวได้ดีขึ้น ด้วยปัจจัยต่างๆ ดังนี้

ปัจจัยภายนอก

1. วัฎจักรดอกเบี้ยขาขึ้นใกล้จบ หลังจาก Fed ขึ้นดอกเบี้ยมาแล้วใน 1 ปี 7 เดือน จาก 0.25% มาเป็น 5.5% ซึ่งสูงกว่าเงินเฟ้อปัจจุบันที่ลดลงเหลือ 3.2% พอสมควร ส่งผลให้ตลาดคาด Fed น่าจะคงดอกเบี้ยไปจนถึงต้นปี 2567 ก่อนทยอยปรับลง

2. รัฐบาลจีนออกมาตการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมมาเรื่อยๆ หลังเศรษฐกิจจีนฟื้นตัวช้า และภาคอสังหาฯมีหนี้สูง พร้อมผิดนัดชำระ ซึ่งประเทศไทยมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับจีนทั้งทางตรง  และทางอ้อม

ปัจจัยภายในประเทศ

1. การเมืองมีพัฒนาการเชิงบวกมากเรื่อยๆ หลังผ่านระยะเวลาการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลใหม่มาเกินกว่า 3 เดือนครึ่ง และน่าจะเห็นการเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจจากรัฐบาลใหม่ในช่วงที่เหลือของปี ทั้งการลดราคาพลังงาน, ฟรีค่าธรรมเนียม VISA สำหรับนักท่องเที่ยว และความคาดหวังการแจกเงิน Digital 10,000 บาท ในระยะถัดไป

 2. หลังการเมืองคลี่คลาย มูลค่าซื้อขายหุ้นไทยเฉลี่ยเริ่มกลับมาคึกคัก สู่ระดับ 6 หมื่นล้านบาทต่อวัน อีกครั้ง ตามกลไกช่วยหนุนให้ตลาดหุ้นซื้อขายบน P/E ที่สูงขึ้นได้

 3. แนวโน้มกำไรบริษัทจดทะเบียนมีโอกาสฟื้นตัวต่อเนื่องหลังจากนี้ โดยฝ่ายวิจัยฯ ประเมินกำไรช่วง 2H66 มีโอกาสเติบโตขึ้นได้19%HoH และเติบโตต่อเนื่องในปี 2567 อีก 12.6% สำหรับ ปัจจัยที่ต้องติดตาม ตัวเลขเศรษฐกิจจีนจะฟื้นขึ้น หลังมีนโยบายกระตุ้นออกมาต่อเนื่องหรือไม่ และการกระตุ้นเศรษฐกิจของไทยในช่วงโค้งแรกของรัฐบาลใหม่จะมีอะไรเพิ่มเติมอีก

ส่วนกรอบการเคลื่อนไหวของ SET Index กรอบล่างอยู่ 1,450   จุด  แนวต้านที่ 1,600 จุด

ด้านกลยุทธ์การลงทุนแนะนำ

 • BJC ราคาเป้าหมาย 42 บาท

• BEM ราคาเป้าหมาย 10.5 บาท

• TOP ราคาเป้าหมาย 60 บาท

• SCGP ราคาเป้าหมาย 52 บาท

• TRUE ราคาเป้าหมาย 8.5 บาท