svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเงิน-การลงทุน

กลุ่ม BRICS มีผลกระทบต่อตลาดเงิน-ตลาดทุนโลกอย่างไร

24 กันยายน 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

กลุ่ม BRICS ขั้วอำนาจใหม่ของเศรษฐกิจโลกเริ่มมีบทบาทในเวทีระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น ทั้งด้านเศรษฐกิจและการเงินระหว่างประเทศ  เพื่อถ่วงดุลอำนาจสหรัฐฯและอียู  แต่การก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำแทนชาติตะวันตกได้หรือไม่ นักลงทุนเตรียมความพร้อมอย่างไร ตามไปดูกันเลย 

เมื่อช่วงปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา มีการประชุมสำคัญเกิดขึ้น โดยกลุ่ม BRICS ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของประเทศกำลังพัฒนา ปัจจุบันประกอบไปด้วย 5 ประเทศ ได้แก่ บราซิล (Brazil) รัสเซีย (Russia) อินเดีย (India) จีน  (China) และ แอฟริกาใต้ (South Africa) ซึ่งมีความพยายามที่จะสร้างสมาคมหรือพันธมิตรทางการเมือง และพยายามเปลี่ยนขั้วอำนาจทางเศรษฐกิจที่กำลังเติบโตให้เป็นอำนาจการเมืองทางภูมิภาค  

ซึ่งการรวมตัวนี้อาจส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจโลกที่น่าจับตามองในอนาคต เนื่องจากประเทศเหล่านี้ล้วนมีศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจสูง ไม่ว่าจะเป็น จำนวนประชากรขนาดใหญ่ เทคโนโลยี พลังงาน การบริการ เหมืองแร่ เป็นต้น ซึ่งการประชุมของ BRICS เมื่อวันที่ 22-24 สิงหาคมที่ผ่านมานั้น สรุปประเด็นสำคัญได้ 3 ประเด็นดังนี้

1. การรับสมาชิกใหม่เพิ่ม โดยเฉพาะประเทศที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจในภูมิภาค เช่น อียิปต์  เอธิโปเปีย อาร์เจนตินา ซาอุดีอา ระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ และอิหร่าน เป็นต้น อย่างเป็นทางการในวันที่ 1 ม.ค. 2024  ส่งผลให้จำนวนสมาชิกเพิ่มขึ้นจากเดิม

2. แนวทางการลดการพึ่งพาชาติตะวันตก เพื่อสร้างสมดุลอำนาจและกระจายความเสี่ยงหรือเพิ่มทางเลือกในการเข้าถึงโอกาสด้านการค้า การลงทุน และการเงิน หากเกิดความขัดแย้งหรือกรณีโดนคว่ำบาตรจากฝั่งตะวันตก เช่น กรณี จีน-สหรัฐ หรือ รัสเซีย-ยูเครน เป็นต้น

3. ลดการพึ่งพาสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ผลักดันการใช้สกุลเงินท้องถิ่น เพื่อเป็นอีกทางเลือกในการชำระเงินซื้อสินค้าระหว่างประเทศ ซึ่งเห็นได้ชัดเจนขึ้นตั้งแต่รัสเซียถูกคว่ำบาตรจึงหันมาใช้เงินหยวนทำการค้ากับจีนแทน ทำให้เงินหยวนขยับขึ้นมามีสัดส่วนที่สูงขึ้นจากเดิมมากในเวทีการค้าโลก

จากแนวโน้มความร่วมมือดังกล่าวส่งผลกระทบต่อตลาดเงินตลาดทุนอย่างไรบ้าง

  1. มุมมองรายประเทศต่อการรวมตัวกันใน BRICS
    • จีน : GDP จีนคิดเป็นประมาณ 70% ของ GDP BRICS และท่ามกลางความขัดแย้งที่ทวีความรุนแรงขึ้นกับตะวันตกนำโดยสหรัฐฯ จีนอาจพยายามแสดงอิทธิพล โดยการขยายตัวเป็นทางเลือกแทนกลุ่ม G7 ในการกำหนดมาตรฐานต่างๆ ในระดับโลก
    • รัสเซีย :  มองว่ากลุ่ม BRICS เป็นอีกหนึ่งยุทธศาสตร์ทางการเมืองและการเงินระดับโลกหลังจากเกิดความขัดแย้งกับยูเครน และการถูกคว่ำบาตรจากชาติตะวันตก
    • อินเดียและบราซิล : มีความเป็นกลาง โดยการเข้าร่วมนี้เพื่อพยายามจะมีบทบาทที่สมดุลในการก้าวหน้าของประเทศกำลังพัฒนา และป้องกันความเสี่ยงจากการครอบงำทั้งจากจีนและสหรัฐฯ ในการกำหนดวาระระดับโลก 
       
  2. มุมมองต่อประเด็นการลดการพึ่งพาสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ
  • นับตั้งแต่รัสเซียถูกชาติตะวันตกคว่ำบาตรได้มีการหันมาใช้เงินหยวนทำการค้ากับจีนจนทำให้เงินหยวนขยับขึ้นมามีสัดส่วนถึง 4.5% ของการชำระเงินเพื่อการค้าและบริการระหว่างประเทศในโลก (ก่อนสงครามรัสเซีย-ยูเครนเงินหยวนมีสัดส่วนที่ 1.9%) 
     
  • รวมถึงจีนยังผลักดันการทำ Trade Settlement เป็นเงินหยวนผ่านระบบการชำระเงินระหว่างธนาคารข้ามพรมแดน (CIPS) เพื่อเพิ่มส่วนแบ่งการหมุนเวียนเงินตราต่างประเทศทั่วโลกของ CNY อย่างไรก็ตาม ส่วนแบ่งของจีนในทุนสำรองทั่วโลกยังคงอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 3% ของทุนสำรองของธนาคารกลางทั่วโลกที่จัดสรรทั้งหมด ซึ่งอาจจะมองได้ทั้งการเป็นอุปสรรคและโอกาสในการเติบโตได้เช่นกัน

อาจเกิดข้อสงสัยว่าบทบาทของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ จะเป็นอย่างไร   ในระยะสั้นคาดว่าค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ อาจจะไม่ได้รับผลกระทบมากเท่าใดนัก 

อย่างไรก็ดี ประเด็นที่ต้องจับตาคือปัจจุบัน ประเทศเกิดใหม่หลายประเทศให้ความสนใจเข้าร่วมเป็นสมาชิกของ BRICS Bank มากขึ้น เพื่อประโยชน์ต่อการเข้าร่วมกองทุนสำรองฉุกเฉิน (Contingency Reserve Arrangement) ที่มีบทบาทใกล้เคียงกับ World Bank หรือ IMF  (ในกรณีที่ประเทศเกิดปัญหาขาดสภาพคล่องและต้องการกู้เงินฉุกเฉิน) 

ทั้งนี้คาดว่า BRICS Bank น่าจะมีข้อกำหนดและเงื่อนไขที่ยืดหยุ่นและเอื้อประโยชน์ต่อประเทศสมาชิกมากกว่าไปกู้โดยตรงกับ IMF และอาจจะเปิดให้สมาชิกกู้ยืมในสกุลเงินท้องถิ่น  อย่างไรก็ตามประเทศไทยเองก็ได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS ตั้งแต่ต้นปี 2023 และอยู่ในระหว่างรอการพิจารณา

ซึ่งประเมินว่าการเข้าร่วม BRICS ครั้งนี้ของไทยจะช่วยเปิดโอกาสทางเศรษฐกิจที่สำคัญ นอกจากนี้ทางการไทยอาจจะยังจำเป็นที่จะต้องรักษาท่าทีในการรับข้อตกลงใหม่ ๆ ที่อาจจะก่อให้เกิดความอ่อนไหวต่อคู่ค้าในฝั่งชาติตะวันตกในอนาคตได้

สรุปได้ว่ากลุ่ม BRICS ยังคงน่าจับตามองเนื่องจากแนวโน้มบทบาทต่อโลกในอนาคตที่อาจเทียบเท่ากลุ่ม G7  ในระยะยาว BRICS คงต้องเจอกับบททดสอบและอุปสรรคอีกมากมาย  ซึ่งทางโลกฝั่งตะวันตกคงไม่ยอมให้ BRICS ได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำแทนได้อย่างง่ายดาย  ดังนั้นเราจึงจำเป็นต้องจับตาดูพัฒนาการด้านต่างๆ ของ BRICS เพื่อปรับกลยุทธ์การลงทุนให้เข้ากับสถานการณ์ที่อาจเปลี่ยนแปลงในอนาคต



ที่มาบทความ : โดย นที ดำรงกิจการ

Executive Director, Head of Financial Advisory, Private Banking Group ธนาคารกสิกรไทย

 

logoline