svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเงิน-การลงทุน

จับตา"เงินบาทอ่อนค่า" เกิดจากสาเหตุอะไร

20 พฤษภาคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เงินบาทสัปดาห์หน้าคาดว่าเคลื่อนไหวในกรอบ 34.20-34.60 บาทต่อดอลลาร์ จับตาการการจัดตั้งรัฐบาล-ทิศทางเงินทุนต่างชาติ -การขยายเพดานหนี้สหรัฐฯ โดยเงินบาทแนวโน้มอ่อนค่าเกิดจากปัจจัยอะไรบ้าง

นายพูน  พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงิน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า  เงินบาทสัปดาห์หน้าเคลื่อนไหวในกรอบ 34.20 - 34.60 บาทต่อดอลลาร์ คาดว่า เงินบาทมีโอกาสแกว่งตัว sideway ในกรอบใหม่ หลังจากที่อ่อนค่าลงต่อเนื่องในสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยมีโซนแนวต้านแถว 34.50-34.60 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเราคาดว่าผู้ส่งออกบางส่วนอาจรอทยอยขายเงินดอลลาร์ในโซนดังกล่าว

ขณะที่ปัจจัยการเมืองของไทยเป็นปัจจัยกดดันเงินบาทในฝั่งอ่อนค่า เนื่องจากนักลงทุนต่างชาติรอความชัดเจนของการจัดตั้งรัฐบาล ทำให้นักลงทุนต่างชาติอาจยังไม่รีบกลับเข้ามาซื้อสินทรัพย์ไทย นอกจากนี้ ควรจับตาปริมาณธุรกรรรมซื้อเงินดอลลาร์ เพื่อจ่ายปันผลให้กับนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งอาจเป็นปัจจัยกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงได้บ้าง  

“ ความไม่แน่นอนของการจัดตั้งรัฐบาลอาจยังคงเป็นปัจจัยหลักที่จะส่งผลกระทบต่อเงินลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ โดยนักลงทุนต่างชาติจะยังไม่รีบกลับมาซื้อหุ้นไทย จนกว่าจะเห็นความชัดเจนของการจัดตั้ง ขณะเดียวกัน หากเงินดอลลาร์ย่อตัวลงมาบ้าง พร้อมกับการรีบาวด์ขึ้นของราคาทองคำ ก็อาจพอช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทได้บ้าง”

จับตา\"เงินบาทอ่อนค่า\" เกิดจากสาเหตุอะไร

สำหรับเงินบาทยังมีแนวโน้มเคลื่อนไหวไปตามทิศทางของทั้งเงินดอลลาร์ และราคาทองคำ ซึ่งต้องรอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ โดยเฉพาะ ดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการ รวมถึง อัตราเงินเฟ้อ PCE นอกจากนี้ ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด และความคืบหน้าการเจรจาขยายเพดานหนี้สหรัฐฯ ก็อาจส่งผลกระทบต่อตลาดการเงินได้เช่นกัน

ส่วนไฮไลท์สำคัญตลาดต่างประเทศพบว่า สหรัฐฯ ตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ผ่าน รายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรมและภาคการบริการ โดย S&P Global และรอประเมินแนวโน้มการปรับดอกเบี้ยนโยบายของเฟด ผ่านรายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE และถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด

ด้านยุโรปตลาดจะรอจับตารายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของยูโรโซน รวมถึง รอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจผ่านรายงานดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการเช่นกัน ส่วนในฝั่งอังกฤษ นอกเหนือจากรายงานดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการ ตลาดจะรอลุ้นรายงานยอดค้าปลีก (Retail Sales) และรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ซึ่งจะส่งผลต่อการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางอังกฤษ (BOE)

ขณะที่เอเชีย ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่น ผ่านรายงานดัชนี PMI เช่นเดียวกันกับในฝั่งประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ นอกจากนี้ การประชุมของธนาคารกลางนิวซีแลนด์ (RBNZ), ธนาคารกลางเกาหลีใต้ (BOK) และ ธนาคารกลางอินโดนีเซีย (BI) ก็จะเป็นที่สนใจของผู้เล่นในตลาด หลังจากที่หลายธนาคารกลางในเอเชียเริ่มชะลอหรือยุติการขึ้นดอกเบี้ย ส่วนในฝั่งไทย ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามความชัดเจนของการจัดตั้งรัฐบาลที่นำโดยพรรคก้าวไกลต่อไป

นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะยังคงติดตามการเจรจาขยายเพดานหนี้ (Debt Ceiling) ของสหรัฐฯ ซึ่งผู้เล่นในตลาดเริ่มคาดหวังว่า การเจรจาจะประสบความสำเร็จได้ภายในสัปดาห์หน้า

รายงานข่าวจากธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ระบุว่า เงินบาทสัปดาห์เคลื่อนไหวในกรอบ 34-34.60 บาทต่อดอลลาร์ฯ  ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขการส่งออกเดือนเม.ย. และสถานการณ์การเมืองไทย ทิศทางเงินทุนต่างชาติ และผลการเจรจาปรับเพิ่มเพดานหนี้ของสหรัฐฯ

ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯที่สำคัญ ได้แก่ ยอดขายบ้านใหม่ ยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน และอัตราเงินเฟ้อที่วัดจาก PCE   เดือนเม.ย. ดัชนีความเชื่อมั่นและตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อในมุมมองผู้บริโภคเดือนพ.ค. ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 1/66 (ครั้งที่ 2) และบันทึกการประชุมเฟดเมื่อวันที่ 2-3 พ.ค.

นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามการประกาศอัตราดอกเบี้ย LPR เดือนพ.ค. ของจีน ดัชนี PMI เดือนพ.ค. (เบื้องต้น) ของยูโรโซน อังกฤษ และสหรัฐฯ รวมถึงอัตราเงินเฟ้อเดือนเม.ย. ของอังกฤษ

 

logoline