svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเงิน-การลงทุน

เม็ดเงินต่างชาติไหลเข้าตลาดหุ้น-พันธบัตรดันเงินบาทแข็ง

28 มกราคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

แบงก์กรุงศรีอยุธยาประเมินเงินบาทสัปดาห์หน้าเคลื่อนไหวในกรอบ 32.60-33.30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ  เกาะติดประชุมเฟด-บีโออี-อีซีบี  เผยสถิติตั้งแต่ 3 ม.ค.- 27 ม.ค. เงินบาทแข็งค่านำโด่งภูมิภาค ขณะที่กรุงไทยมองกรอบ  32.50 - 33.20 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐจับตาปริมาณการซื้อขายทองคำ

น.ส.รุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมธุรกิจและกำกับดูแล โกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยกับ Nation Online ถึงค่าเงินบาทในสัปดาห์หน้าว่า กรอบการเคลื่อนไหว 32.60-33.30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ  ปัจจัยที่ต้องติดตามคือผลประชุมธนาคารกลาสหรัฐ  (เฟด) วันที่ 1 ก.พ. คาดขึ้นดอกเบี้ย 0.25% สู่ 4.50-4.75% โดยนักลงทุนจะให้ความสนใจกับการประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ รวมถึงสัญญาณทิศทางดอกเบี้ยในระยะถัดไป

นอกจากนี้ยังมีข้อมูลภาคการผลิตและบริการ รวมถึงการจ้างงานเดือนม.ค. ของสหรัฐฯ และการประ ชุมธนาคารกลางยุโรป(อีซีบี) และธนาคารกลางอังกฤษ(บีโออี) ส่วนประเด็นในประเทศ มีราย งานภาวะเศรษฐกิจเดือนธ.ค.จากธปท. ติดตามยอดดุลบัญชีเดินสะพัด
 

เม็ดเงินต่างชาติไหลเข้าตลาดหุ้น-พันธบัตรดันเงินบาทแข็ง

ส่วนการเคลื่อนไหวของสกุลเงินในภูมิภาคตั้งแต่ 3 ม.ค.-27 ม.ค. พบว่าเงินบาท-ไทยแข็งค่ามากสุด  5.22 % รองลงมาคือริงกิต-มาเลเซีย 4.11% รูเปียห์-อินโดนีเซีย 3.96%วอน-เกาหลีใต้  2.64% เปโซ-ฟิลิปปินส์ 2.57% ดอลลาร์-สิงคโปร์ 1.97%หยวน-จีน 1.68%รูปี-อินเดีย 1.46%  ดอลลาร์-ไต้หวัน 1.15% ดอง-เวียดนาม 0.78%   

สาเหตุที่ปีนี้เงินบาทแข็งค่าสุดในภูมิภาคในอัตรากว่า 5% โดยได้แรงหนุนสำคัญจากการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว และความหวังที่ว่าเฟดใกล้ยุติการปรับขึ้นดอกเบี้ย

ขณะเดียวกันตั้งแต่วันที่ 3-26 ม.ค.นักลงทุน ต่างชาติซื้อสุทธิในตลาดหุ้น1.9 หมื่นล้านบาท และซื้อสุทธิพันธบัตรไทย 3.4 หมื่นล้านบาท  

เม็ดเงินต่างชาติไหลเข้าตลาดหุ้น-พันธบัตรดันเงินบาทแข็ง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

- "เงินบาทแข็ง" ครองแชมป์สูงสุดในภูมิภาค เกิดจากสาเหตุอะไร !

จีนเปิดประเทศ-ดอลลาร์อ่อนหนุน"เงินบาทแข็งค่า" สุดในภูมิภาค

 

เม็ดเงินต่างชาติไหลเข้าตลาดหุ้น-พันธบัตรดันเงินบาทแข็ง

นายพูน  พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงิน ธนาคารกรุงไทย กล่าวกับ Nation Online ว่า มองกรอบเงินบาทสัปดาห์หน้า 32.50 - 33.20 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยปัจจัยที่ต้องจับตาคือ การเคลื่อนไหวของเงินดอลลาร์ รวมถึงทิศทางราคาทองคำ เนื่องจากปริมาณการซื้อขายทองคำยังมีผลกระทบต่อเงินบาทพอสมควร

นอกจากนี้ ฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ และการปรับสถานะของผู้เล่นต่างชาติ ก็เป็นอีกปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อเงินบาทได้เช่นกัน โดยล่าสุดจะเห็นว่า นักลงทุนต่างชาติเริ่มทยอยขายบอนด์ระยะสั้นเพิ่มขึ้นในสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งส่วนหนึ่งอาจสะท้อนถึงการทยอยขายทำกำไร Short USDTHB (มองเงินบาทแข็งค่า) และการปรับสถานะถือครอง หลังผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินหรือ กนง. ล่าสุด สะท้อนแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องของ กนง.

สำหรับฝั่งสหรัฐฯ ไฮไลท์สำคัญสุด คือ การประชุมเฟด ซึ่งผู้เล่นในตลาดต่างคาดว่า เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเพียง +0.25% สู่ระดับ 4.50%-4.75% ทั้งนี้ ตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของประธานเฟดในช่วง Press Conference หลังรับรู้ผลการประชุมอย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินมุมมองของเฟดต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ เงินเฟ้อและทิศทางนโยบายการเงินของเฟด 

นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ โดยเฉพาะ ข้อมูลตลาดแรงงาน ทั้ง ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) ในเดือนมกราคม และที่สำคัญ ตลาดจะจับตา รายงานค่าจ้างเฉลี่ยรายชั่วโมง (Average Hourly Earnings) ที่อาจช่วยสะท้อนภาพแนวโน้มเงินเฟ้อได้ 

ส่วนในด้านยุโรป ตลาดจะรอจับตาผลการประชุมของสองธนาคารกลางหลัก เริ่มต้นด้วย ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ซึ่งตลาดคาดว่า BOE จะเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง +0.50% สู่ระดับ 4.00% หลังอัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับที่สูงกว่าเป้าหมายมาก

เช่นเดียวกันกับธนาคารกลางยุโรป (ECB) ตลาดก็ประเมินว่า ECB ยังคงจำเป็นต้องเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย +0.50% สู่ระดับ 2.50% (Deposite Facility Rate) และ ECB มีโอกาสส่งสัญญาณเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง จนกว่าจะมั่นใจว่าสามารถคุมปัญหาเงินเฟ้อได้

ขณะที่เอเชียตลาดจะรอลุ้น รายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรมและภาคการบริการ (Manufacturing & Services PMIs) ของบรรดาประเทศในฝั่งเอเชีย โดยเฉพาะจีน เพื่อประะเมินแนวโน้มเศรษฐกิจฝั่งเอเชียว่าจะฟื้นตัวดีขึ้นต่อเนื่องได้หรือไม่

นอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจ และผลการประชุมของบรรดาธนาคารกลางหลักดังกล่าว ตลาดจะรอติดตาม รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนปี 65  ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อบรรยากาศในตลาดการเงินได้

 

 

logoline