การเจรจาอัตราภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) ซึ่งสหรัฐประกาศอัตราสำหรับไทย 36% มีความชัดเจนมากขึ้นหลังสหรัฐตอบรับเปิดเจรจา โดยนายพิชัย ชุณหวชิรรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ตอบรับเดินทางไปเจรจาที่สหรัฐ ซึ่งจะเป็นการเจรจาระดับสูงอย่างเป็นทางการ หลังจากที่ก่อนหน้านี้มีการหารือระดับคณะทำงานมาตลอด
สำหรับข้อเสนอของไทยครอบคลุม 5 ประเด็น ซึ่งนายสก็อตต์ เบสเซนต์ รัฐมนตรีกระทรวงการคลังสหรัฐเคยระบุเป็นข้อเสนอที่ดี โดยครอบคลุมมาตรการกีดกันที่ไม่ใช่ภาษี การนำเข้าสินค้าเพิ่มจากสหรัฐ การแก้ปัญหาสินค้าที่มีการสวมสิทธิ์ถิ่นกำเนิดสินค้า ซึ่งมีเป้าหมายสร้างสมดุลการค้าระหว่างไทยและสหรัฐภายใน 10 ปี ซึ่งภายใน 5 ปี จะลดการขาดดุลการค้าสหรัฐลงเหลือ 50%
ทั้งนี้ สหรัฐขึ้นภาษีตอบโต้ไทยอยู่ที่ 36% ติดอันดับ 20 จาก 185 เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าทั่วโลก และเป็นอันดับ 9 ของเอเชีย รองจากประเทศกลุ่ม CLMV ศรีลังกา อิรักและบังกลาเทศ
รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ภายหลังที่กระทรวงพาณิชย์ได้รับหนังสือตอบรับอย่างเป็นทางการจากสหรัฐในการเจรจาภาษีตอบโต้ของสหรัฐเมื่อ 3 วันที่ผ่านมา ขั้นตอนหลังจากนี้จะแต่งตั้งเจ้าหน้าที่เจรจาด้านเทคนิคที่เป็นเจ้าหน้าที่ระดับอาวุโสเพื่อเจรจาผู้แทนการค้าสหรัฐ (ยูเอสทีอาร์) กระทรวงพาณิชย์สหรัฐ
รวมทั้งทำข้อตกลงไม่เปิดเผยข้อมูลในการเจรจา โดยเมื่อได้ทีมเจรจาด้านเทคนิคแล้วจะประชุมร่วมกันผ่านระบบ Video Conference ส่วนประเด็นการเดินทางไปสหรัฐของคณะเจรจาที่มีรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งมีแผนเดินทางไปเจรจาที่สหรัฐ แหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ระยะเวลาที่เหลือเพียง 1 เดือน จึงกังวลว่าอาจไม่ทันเวลาที่สหรัฐกำหนดภายใน 90 วัน ซึ่งจะครบกำหนดวันที่ 8 ก.ค.2568 จึงใช้วิธีเจรจาผ่านระบบออนไลน์แทน
สำหรับประเด็นที่ไทยเตรียมไว้สำหรับเจรจาสหรัฐยังคงเป็นไปตามกรอบเดิม 5 ประเด็น โดยมีเป้าหมายลดการเกินดุลกับสหรัฐให้ได้ 50% ภายใน 5 ปี และส่งเสริมความร่วมมือเป็นพันธมิตรระดับยุทธศาสตร์มากขึ้นในอนาคต ได้แก่
1.เสริมความร่วมมือธุรกิจอาหารแปรรูปไทยและสหรัฐ มุ่งพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปด้วยการใช้จุดแข็ง 2 ประเทศร่วมกัน โดยเฉพาะการนำเข้าสินค้าเกษตรจากสหรัฐเพื่อเป็นวัตถุดิบแปรรูปและส่งออกไปตลาดโลก และหารือร่วมภาคเกษตรของสหรัฐที่เป็นฐานเสียงสำคัญทางการเมืองของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์
2.เพิ่มการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐ โดยไทยมีแผนเพิ่มการนำเข้าสินค้าจำเป็น อาทิ พลังงาน (น้ำมันดิบ, LNG, อีเทน), เครื่องบินและชิ้นส่วน, อาวุธยุทโธปกรณ์ และผลิตภัณฑ์เกษตรอย่างข้าวโพด ถั่วเหลือง และเนื้อวัว เพื่อกระชับความสัมพันธ์เชิงพาณิชย์ และตอบสนองความต้องการของเศรษฐกิจในประเทศ
3.เปิดตลาดและลดอุปสรรคทางการค้า การลดภาษีนำเข้าภายใต้ระบบ MFN จำนวน 11,000 รายการ ลง 14% รวมถึงการลดอุปสรรคที่ไม่ใช่ภาษี (NTBs) เป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญของความร่วมมือ อีกทั้งลดโควตาและข้อจำกัดพร้อมเปิดตลาดให้สินค้าสหรัฐ เช่น เชอรี่ แอปเปิ้ล ข้าวสาลี ข้าวโพด และผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์
4.บังคับใช้กฎหมายถิ่นกำเนิดสินค้าเคร่งครัดผ่านการบังคับใช้กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า เพื่อแก้ปัญหาการสวมสิทธิ์สินค้า “Made in Thailand” โดยสินค้าจากประเทศที่ 3 ส่งออกผ่านไทยไปสหรัฐ ซึ่งจะเพิ่มการเฝ้าระวังเพื่อรักษาภาพลักษณ์สินค้าไทยในตลาดสหรัฐ
5.ส่งเสริมการลงทุนไทยในสหรัฐ ภาครัฐสนับสนุนการขยายการลงทุนของเอกชนไทยในสหรัฐ ภายใน 4 ปีข้างหน้า โดยเฉพาะกลุ่มพลังงาน เช่น โครงการลงทุน LNG ในรัฐอลาสก้า และการลงทุนฟาร์มเกษตรขนาดใหญ่ ปัจจุบันเอกชนไทยลงทุนในสหรัฐ 70 แห่ง ใน 20 มลรัฐ สร้างงานมากกว่า 16,000 ตำแหน่ง มูลค่าการลงทุน 16,000 ล้านดอลลาร์
ทั้งนี้ ทีมเจรจาทางเทคนิคจะดำเนินการเจรจาโดยเร็วที่สุด เพื่อให้ทันก่อนเดดไลน์ 8 ก.ค. 2568 ที่สหรัฐฯจะบังคับใช้ภาษีตอบโต้ 36 %