นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า จากการตรวจเยี่ยม บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) ได้เน้นเรื่องความพร้อมในการให้บริการจราจรทางอากาศ ทั้งในด้านระบบ อุปกรณ์ สิ่งอำนวยความสะดวกที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งบุคคลากร เพื่อรองรับการเปิดใช้งานทางวิ่งเส้นที่ 3 ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยสามารถรองรับเที่ยวบินได้เพิ่มมากขึ้น โดยในปีงบประมาณ 2567 มีเที่ยวบินรวมทั้งประเทศ 836,513 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 16% จากปี 2566 ในขณะที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิซึ่งเป็นท่าอากาศยานหลักของประเทศ มีเที่ยวบิน รวม 348,980 เที่ยวบิน หรือเฉลี่ย 950 เที่ยวบินต่อวัน ภาพรวมปริมาณเที่ยวบินใกล้เคียงกับช่วงก่อนสถานการณ์โควิด-19 และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งเป้ารองรับ 1 ล้านเที่ยวบิน ในปี 2568 ดังนั้น การเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับเที่ยวบินจึงเป็นภารกิจสำคัญที่จะขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางการบินภูมิภาค รวมทั้งรองรับการท่องเที่ยวจากทั่วโลกเพื่อให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจตามนโยบายของรัฐบาล
นายณพศิษฏ์ จักรพิทักษ์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บวท. กล่าวว่า การเตรียมความพร้อมของ บวท. เริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการจัดทำกรอบแนวคิดด้านปฏิบัติการ (Operational Concept) การจัดทำข้อมูลประกอบการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม การจัดทำวิธีปฏิบัติการควบคุมจราจรทางอากาศ (ATC Procedures) การฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ควบคุมจราจรทางอากาศ การจัดเตรียมระบบเครื่องอำนวยความสะดวกการเดินอากาศ (Air Navigation System) การจัดเตรียมระบบอุปกรณ์ควบคุมจราจรทางอากาศ (Air Traffic Management System) การออกแบบวิธีปฏิบัติการบิน (Instrument Flight Procedure Design) การประเมินความเสี่ยงด้านความปลอดภัย (Safety Risk Assessment) และการจัดทำคู่มือด้านปฏิบัติการ (Manual of Standard Operations) ซึ่งการเตรียมความพร้อมทั้งหมดนี้ใช้ระยะเวลาดำเนินการล่วงหน้ากว่า 5 ปี ปัจจุบัน บวท. มีความพร้อมในการให้บริการจราจรทางอากาศรองรับการใช้งานทางวิ่งทั้ง 3 เส้น ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ”
การเปิดใช้งานทางวิ่งเส้นที่ 3 จะทำให้จากเดิมที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิรองรับเที่ยวบิน 68 เที่ยวบินต่อชั่วโมง เพิ่มขึ้นเป็น 94 เที่ยวบินต่อชั่วโมง ขณะเดียวกันการจัดการจราจรทางอากาศในรูปแบบการขึ้นและลงทางวิ่งคู่ขนานพร้อมกัน หรือ Simultaneous Parallel Operations จะทำให้การจราจรทางอากาศเกิดความคล่องตัว อีกทั้งการบริหารจัดการใช้งานทางวิ่งจะมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยจะใช้ทางวิ่งสำหรับขึ้นและลงที่ใกล้กับหลุมจอดให้ได้มากที่สุด เพื่อลดระยะทางและลดระยะเวลาในการขับเคลื่อน (Taxi) ของอากาศยาน ทำให้เกิดความรวดเร็ว และประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิงมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ บวท. ได้ทำงานร่วมกับท่าอากาศยานและสายการบินอย่างใกล้ชิดเพื่อเพิ่มศักยภาพด้านการบินของประเทศ