นักวิชาการอาวุโส นโยบายเศรษฐกิจส่วนรวมและเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ ทีดีอาร์ไอ ดร. นณริฏ พิศลยบุตร ระบุว่า ทีมวิจัยได้ประมาณการมูลค่าเศรษฐกิจทางตรงในส่วนของผลิตภัณฑ์จากธุรกิจที่จดทะเบียนพบว่า ธุรกิจที่จดทะเบียนมีรายได้รวมจากกัญชา 39 ล้านบาท ขาดทุนรวม 194 ล้านบาท ธุรกิจที่สามารถทำกำไรมีเพียง 25% และสามารถทำกำไรได้เฉลี่ย 37.6% แม้ผลิตภัณฑ์สินค้าจากกัญชาจะเป็นที่กล่าวถึงในตลาดสินค้าผู้บริโภค แต่เมื่อเวลาผ่านไปกระแสความนิยมในผลิตภัณฑ์สินค้าจากกัญชาเริ่มลดลง
ทั้งนี้ ประเมินว่ามูลค่าเศรษฐกิจกัญชาทั้งระบบมีมูลค่าสูงถึง 2 แสนล้านบาท ซึ่งรวมการปลูกเอง ใช้เอง แต่จากจำนวนที่ลงทะเบียนปลูกในแอปพลิเคชัน "ปลูกกัญ" พบว่า หากมีการนำกัญชาที่ลงทะเบียนปลูก เข้ามาขายในระบบตลาดเพียง 10% ตลาดกัญชาในประเทศไทยจะมีมูลค่าถึง 2 หมื่นล้านบาท
นอกจากมูลค่าที่เกิดจากกัญชาโดยตรงแล้ว ร้านค้าจำหน่ายกัญชาได้นำเอาอุปกรณ์ประกอบมาจำหน่ายร่วมด้วยซึ่งสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้อีกประมาณ 500 ล้านบาท แต่พบว่าอุปกรณ์เหล่านั้นส่วนใหญ่นำเข้าจากต่างประเทศ ส่วนที่ผลิตในไทยมีเพียงส่วนน้อยซึ่งไม่ได้ช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจไทยเท่าที่ควร
ส่วนประมาณการมูลค่าเศรษฐกิจทางอ้อมนั้น การปลูกกัญชาตามหลักเกณฑ์ความปลอดภัยตามจำนวนที่ลงทะเบียนในแอปพลิเคชัน “ปลูกกัญ” จะช่วยสร้างเศรษฐกิจต้นน้ำหมุนเวียนต่อไปยังเศรษฐกิจสาขาอื่น ๆ ได้อีกเป็นมูลค่า 1 หมื่นล้านบาท และจะช่วยสร้างการจ้างงานในสาขาการผลิตต่าง ๆ ได้ 8,349 คน และสร้างภาษีเงินได้นิติบุคคลจากสาขาการผลิตต่าง ๆ ที่ได้รับการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ ได้รวม 303 ล้านบาท
ทั้งนี้ เมื่อนำผลจากการศึกษาทั้งหมดมาวิเคราะห์ คณะผู้วิจัยทีดีอาร์ไอพบว่า ในด้านสังคม กัญชาส่งผลกระทบเชิงลบโดยตรง กลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือกลุ่มเปราะบาง เด็ก และเยาวชน
สำหรับด้านเศรษฐกิจในช่วงแรกพบผลเชิงบวกแต่หลังจากที่กัญชาเสรีมีการแข่งขันในตลาดมากขึ้น มีสินค้าไม่มีคุณภาพออกสู่ท้องตลาด และมีการขายตัดราคากัญชาแข่งกัน ในระยะยาวอาจกลายเป็นผลกระทบเชิงลบ
เมื่อชั่งน้ำหนักทุกด้านแล้ว การใช้กัญชาในทิศทางที่ไม่เหมาะสม ขาดการกำกับดูแลตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ สุดท้ายจะส่งผลกระทบเชิงลบต่อระบบเศรษฐกิจ สังคม และสุขภาพ
ทั้งนี้ จากการประเมินสถานการณ์ผลกระทบของกัญชาทำให้มีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายและมาตรการทางกฎหมายเพื่อลดผลกระทบต่อสุขภาพ เศรษฐกิจและสังคมจากกัญชาและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
โดยเสนอแนะให้ปรับกฎหมายให้ชัดเจน ห้ามปลูกในครัวเรือน ร้านขายต้องมีใบอนุญาตเพื่อการแพทย์ กำหนดโซนนิ่งสกัดเข้าใกล้เยาวชน ยกเลิกผสมกัญชาในอาหารปรุงสด-ขนม พิจารณาใช้กลไกทางภาษี สำหรับในกรณีที่ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าเป็นการรักษาทางการแพทย์และมีความเสี่ยงที่จะใช้เพื่อวัตถุประสงค์อื่นนอกเหนือจากทางการแพทย์อย่างแท้จริง
ทั้งนี้ ในทางเศรษฐศาสตร์ ภาษีเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการลดปัญหาผลกระทบต่อสังคมในแง่ลบหรือ negative externalities ภาษีที่ถูกจัดเก็บขึ้นในด้านหนึ่งจะถูกใช้ในการแก้ไขปัญหาสังคมในแง่ลบที่เกิดขึ้น ในขณะที่อีกด้านหนึ่งจะเป็นการส่งสัญญาณทางด้านราคาทำให้ผู้บริโภคเลือกที่จะบริโภคน้อยลง
ดังนั้น รัฐบาลควรจัดเก็บภาษีกัญชาโดยแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ การจัดเก็บกับผู้ผลิตสินค้าให้จัดเก็บโดยส่วนกลางแล้วนำมาใช้กับประโยชน์ในส่วนรวม (ไม่ใช่เฉพาะพื้นที่) เช่น การทำวิจัยและพัฒนาเพื่อการพิสูจน์สรรพคุณทางการแพทย์ และอีกประเภทหนึ่งคือ การจัดเก็บกับผู้ขายซึ่งเน้นไปที่การสร้างรายได้ให้กับท้องถิ่นเพื่อสร้างกลไกทางสังคมที่ช่วยลดทอนผลกระทบในแต่ละพื้นที่