เมสเซ่ แฟรงค์เฟิร์ต และ เวิลด์เด็กซ์ จี.อี.ซี. ร่วมมือกับ เนชั่นกรุ๊ป แถลงข่าวการจัดงาน Secutech Thailand 2024 และ Building and Architect Thailand 2024 งานแสดงเทคโนโลยีและโซลูชันนานาชาติด้านระบบรักษาความปลอดภัยและการป้องกันอัคคีภัย จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 30 ตุลาคม – 1 พฤศจิกายน 2567 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา
โดยภายในงานมาพร้อมการเสวนาในหัวข้อ Intelligent Security & Building เปิดเวทีเสวนาร่วมกันถกประเด็นความสำคัญของระบบรักษาความปลอดภัยในอนาคตที่จะมีผลต่อเมืองและอาคาร
นายกเทศมนตรีนครยะลา ที่ปรึกษาและอดีตนายกสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย พงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ ระบุ การพัฒนาเมืองยะลาไปสู่สมาร์ต ซิตี้ ได้นำเอไอเข้ามาใช้ในระบบความปลอดภัยระดับท้องถิ่นทั้งหมดทำให้มีความเชื่อมต่อกันเช่น กล้องวงจรปิดที่เชื่อมกับระบบเอไอ จัดการเรื่องการจราจรบนถนน มีระบบค่อยเตือนหากจะเกิดเรื่องฉุกเฉิน แพลตฟอร์มแต่ละอย่างสามารถเก็บข้อมูลได้ทั้งหมด มีโดรนที่คอยบินสำรวจเพื่อเก็บดาต้าข้อมูลของแต่ละพื้นที่
ยะลาได้นำเอไอมาใช้กับทั้งเมือง เพราะเป็นเมืองที่ไม่เคยสงบ การมีแค่แรงงานของมนุษย์อาจจะไม่เพียงพอ ซึ่งอยากให้ทุกท้องถิ่นได้นำนวัตกรรมเหล่านี้มาใช้เช่นเดียวกัน ไม่อยากให้เกิดเรื่องร้ายขึ้นก่อนถึงจะสนใจหันมาใช้ เราควรป้องกันไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อความปลอดภัยของชุมชน
อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดอีกอย่างของความปลอดภัยภายในชุมชนคือ การจัดสรรงบประมาณ ในแต่ละครั้งนั้นได้งบประมาณมาน้อยกว่า 1% ทำให้ระบบความปลอดภัยบางท้องถิ่นยังคงหละหลวม ซึ่งตรงนี้ก็คงต้องวอนรัฐบาลให้เพิ่มงบประมาณเรื่องความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น เพื่อความปลอดภัยของคนในชุมชน และการพัฒนาเมืองให้น่าอยู่ต่อไปได้
ทั้งนี้ ระบบการดูแลรักษาความปลอดภัย ไม่ว่าด้านไหนถือเป็นพื้นฐานที่ทำให้มนุษย์รู้สึกสบายใจ ไม่ใช่แค่ทางด้านกายภาพ แต่รวมถึงเรื่องจิตใจด้วย โดยเฉพาะความปลอดภัยทางด้านข้อมูลเป็นสิ่งสำคัญมาก ซึ่งสิ่งที่เราต้องต่อยอดคือ จะทำอย่างไรเพื่อให้คนส่วนใหญ่เกิดความตระหนักรู้ และระบบรักษาความปลอดภัยมีราคาที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้อย่างทั่วถึง
ยกระดับความปลอดภัยไซเบอร์
เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ พล.อ.ต.อมร ชมเชย ระบุ กฎหมายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของไทย มีทั้งส่วนที่บังคับใช้และไม่บังคับใช้ เช่น กระทรวงสาธารณสุข โรงพยาบาล และธนาคาร
สำหรับภาคบริการอื่นๆ แม้กฎหมายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์จะไม่ได้บังคับใช้โดยตรง แต่เรื่องของความปลอดภัยเป็นเรื่องจำเป็นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ตราบใดก็ตามที่มีคอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต ระบบอัตโนมัติ ที่เข้ามาช่วยอำนวยความสะดวก เราทุกคนล้วนตกอยู่ภายใต้ความเสี่ยงด้านไซเบอร์
คนชะล่าใจคิดว่าไม่เกี่ยวกับธุรกิจของตน แต่โดนแรนซัมแวร์เจาะระบบอาคารเพื่อเรียกค่าไถ่แลกกับข้อมูลมันก็จบ ไม่อยากให้มองว่าการเพิ่มความปลอดภัยด้านไซเบอร์ เป็นการเพิ่มต้นทุน สิ้นเปลืองงบประมาณ เพราะมันเป็นข้อมูลส่วนตัวของเรา การลงทุนด้านซิเคียวริตี้มันจำเป็น อยากให้ตระหนักว่าทุกความสะดวกสบาย ย่อมมาพร้อมความเสี่ยงเสมอ
หนุนเอกชนขับเคลื่อนอาคารสีเขียว
อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน วัฒนพงษ์ คุโรวาท ระบุ ปัจจุบันกระทรวงพลังงานมีแผนอนุรักษ์พลังงานเพื่อบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคพลังงาน หนึ่งในแผนดังกล่าวคือการลดใช้พลังงาน การกำหนดเกณฑ์มาตรฐานการใช้พลังงานในอาคารเป็นมาตรการบังคับสำหรับอาคาร (Building Energy Code) ที่มีพื้นที่ใช้สอยมากกว่า 2,000 ตารางเมตร ให้มีการลดการใช้พลังงานจากอาคารปกติ 20-30%
โดยกำหนดให้การออกแบบต้องเป็นไปตามมาตรฐาน ครอบคลุมการส่งผ่านความร้อนผ่านกรอบอาคารและหลังคา การใช้แสงสว่างในอาคาร ประสิทธิภาพของระบบปรับอากาศภายในอาคาร และประสิทธิภาพของระบบผลิตน้ำร้อน
สำหรับมาตรฐานดังกล่าวบังคับใช้สำหรับอาคารใหม่ หรืออาคารดัดแปลง 9 ประเภท ได้แก่ 1.สถานศึกษา 2.สำนักงาน 3.อาคารโรงมหรสพ 4.อาคารห้างสรรพสินค้าหรือศูนย์การค้า 5.อาคารสถานบริการ 6.อาคารชุมนุมคน 7.อาคารโรงแรม 8. สถานพยาบาล 9. อาคารชุด
นอกจากนี้ มาตรการการกำกับอาคารสมัยใหม่จะมีความเข้มข้นมากขึ้น รวมทั้งมีมาตรการจูงใจ เพื่อเป้าสูงสุดที่จะสร้างอาคารที่ใช้พลังงานสุทธิเป็นศูนย์ (ZEB) คือลดการใช้พลังงานเมื่อเทียบกับอาคารปกติลง 70% ส่วน 30% ที่เหลือมาจากการใช้พลังงานหมุนเวียน