12 มกราคม 2567 ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ภายหลังจากที่พนักงานอัยการคดีพิเศษ 1 ได้นำตัว นายศรัทธา จันทรเศรษฐเลิศ กับพวกรวม 7 คน ซึ่งเป็นผู้ต้องหาที่พนักงานสอบสวนกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้นำสำนวนพร้อมความเห็นสมควรสั่งฟ้อง นายวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ กับพวกรวม 11 คน (มี 5 รายเป็นนิติบุคคล ) คดีทุจริตในบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ในความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ฐานตกแต่งบัญชีและงบการเงิน และฐานฉ้อโกงประชาชน ข้อหายักยอกทรัพย์ และข้อหาฟอกเงิน มูลค่าของความเสียหายหลายหมื่นล้านบาทยื่นให้อัยการสำนักงานคดีพิเศษพิจารณา
โดยในวันนี้ (12ม.ค.) ผู้ต้องหาทั้ง 7 เเละผู้ต้องหาที่พนักงานอัยการยังไม่มีคำสั่งในวันนี้ อาทิ นายวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ , น.ส.ยสบวร อำมฤต เดินทางมาพบพนักงานอัยการตามนัด ต่อมาพนักงานอัยการคดีพิเศษมีคำสั่งฟ้อง 7 ผู้ต้องหา
ประกอบด้วย นายศรัทธา จันทรเศรษฐเลิศ , บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) โดยนายอรรถพล วัชระไพโรจน์ และนายปริญญา จั่นสัญจัย กรรมการผู้มีอำนาจ
บริษัท เฟิลปส์ คอด์จ อินเตอร์เนชั่นแนล (ไทยแลนด์) จำกัด โดยนายอรรถพล วัชระไพโรจน์ กรรมการผู้มีอำนาจ , บริษัท อดิสรสงขลา จำกัด โดยนายอภิชาติ ตั้งเอกจิต กรรมการผู้มีอำนาจ , บริษัท ไทย เคเบิ้ล อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด โดยนายอรรถพล วัชระไพโรจน์ กรรมการผู้มีอำนาจ , บริษัท เอเชีย แปซิฟิก ดริลลิ่ง เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด โดยนายกิจจา คล้ายวิมติ และนายอภิชาติ ตั้งเอกจิต , น.ส.นาตยา ปราบเพชร เป็นจำเลยทั้ง 7 ต่อศาลอาญา
ทั้งนี้ ในความผิดฐานร่วมกันแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริง ซึ่งควรบอกให้แจ้งในแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ หรือร่างหนังสือชี้ชวนที่ยื่นตาม มาตรา 65 แห่ง พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ฯในสาระสำคัญ , มีหน้าที่เปิดเผยเอกสารต่อผู้ถือหุ้น หรือประชาชนทั่วไปตามที่บัญญัติในหมวด 3/1 การบริหารกิจการของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์ แห่ง พรบ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ฯ , ร่วมกันแสดง ข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อความจริง ซึ่งควรบอกให้แจ้งในสาระสำคัญ , เป็นนิติบุคคลกรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลใด ซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลนั้น ต้องรับโทษ
ตามที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดตามมาตรา 281/1 แห่ง พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ฯ , เป็นกรรมการหรือผู้บริหารบริษัทกระทำโดยทุจริต ไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบ ความระมัดระวัง และความซื่อสัตย์สุจริตแห่ง พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ฯ จนเป็นเหตุให้บริษัทได้รับความเสียหาย หรือทำให้ตนเองหรือผู้อื่นได้รับประโยชน์จากการผ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว , ในการดำเนินกิจการของบริษัท กรรมการและผู้บริหารต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบ ความระมัดระวัง และความซื่อสัตย์สุจริต
รามทั้งต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมาย วัตถุประสงค์ ข้อบังคับของบริษัทและมติคณะกรรมการ ตลอดจนมติที่ประชุมผู้ถือหุ้น ในการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการบริษัทย่อยและผู้บริหารบริษัทย่อยฯ , เป็นกรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลใดตาม พ.ร.บ.นี้
โดยทุจริตร่วมกันหลอกลวงด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จแก่ประชาชน หรือด้วยการปกปิดความจริง ซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ประชาชน และโดยการหลอกลวงดังกล่าวว่านั้น ได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากประชาชนผู้ถูกหลอกลวง หรือบุคคลที่สามหรือทำให้ประชาชนผู้ถูกหลอกลวง หรือบุคคลที่สามทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ , เป็นกรรมการผู้จัดการ หรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลใด ตาม พ.ร.บ.นี้ ซึ่งได้รับมอบหมายให้จัดการทรัพย์สินของนิติบุคคลดังกล่าว หรือทรัพย์สินที่นิติบุคคลดังกล่าวเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย กระทำผิดหน้าที่ของตนด้วยประการใด ๆ โดยทุจริตจนเป็นเหตุให้เกิดความ เสียหายแก่ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินของนิติบุคคลนั้น, เป็นกรรมการ ผู้จัดการ
หรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลใดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ครอบครองทรัพย์ ซึ่งเป็นของนิติบุคคลดังกล่าว หรือซึ่งนิติบุคคลดังกล่าวเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย ร่วมกันเบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต , เป็นกรรมการผู้จัดการ หรือบุคคลใด ซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคลใดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ฯ กระทำการหรือไม่กระทำการ เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายเพื่อตนเองหรือผู้อื่นอันเป็นการเสียหายแก่นิติบุคคลนั้น , เป็นกรรมการผู้จัดการ หรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลใดกระทำหรือยินยอมให้กระทำการ
กระทำการด้วยประการใด ๆ อันเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่กรรมการ ผู้จัดการหรือบุคคลซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลใด กระทำความผิดตามมาตรา 278 , 306 ถึงมาตรา 312 แห่ง พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่ว่าก่อนหรือขณะกระทำความผิด , ร่วมกันโดยทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชน หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ประชาชน และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม, ร่วมกันยักยอก, เป็นผู้ได้รับมอบหมายให้จัดการทรัพย์สินของผู้อื่นหรือทรัพย์สินซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยกระทำผิดหน้าที่ของตนด้วยประการใด ๆ โดยทุจริต จนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินของผู้อื่นนั้น, สมคบกันฟอกเงินและร่วมกันฟอกเงิน, เป็นผู้สนับสนุนโดยกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทำความผิดก่อนหรือขณะกระทำความผิด
อันเป็นความผิดตาม พรบ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ฯ,พรบ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินฯ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83 , 86 , 91 , 343 , 352 ,353 ขอศาลได้พิจารณาพิพากษาลงโทษจำเลยตามกฎหมาย และขอศาลได้สั่งให้จำเลยทั้ง 7 ร่วมกันคืนเงินที่ฉ้อโกงไปจำนวนกว่า 14,778 ล้านบาท ที่ยังไม่ใด้คืนให้แก่ผู้ถือหุ้น 4,692 ราย
และผู้ลงทุนสถาบันจำนวน 12 ราย ผู้เสียหาย ,
ให้จำเลยที่ 1 ร่วมกันคืนเงินที่ยักยอกไปจำนวน 741,172,250 บาท ที่ยังไม่ได้คืนให้แก่บริษัท สตาร์คฯ ปรับจำเลยที่ 1 , 2 เป็นเงินสองเท่าของราคาขายของหลักทรัพย์ทั้งหมดที่จำเลยที่ 1 , 2 ได้เสนอขายโดยไม่น้อยกว่าห้าแสนบาท ปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงินสองเท่าของค่าเสียหายที่เกิดขึ้น หรือประโยชน์ที่ได้รับโดยไม่ต่ำกว่าหนึ่งล้านบาท ภายหลังศาลประทับรับฟ้องเป็นคดีหมายเลขดำที่ อ.90/2567 ขณะนี้อยู่ระหว่างสอบคำให้การเเละยื่นประกัน
ขณะที่ "นายวีรพัฒน์ ปริยวงศ์" นักกฎหมาย ผู้รับมอบอำนาจจากผู้เสียหายกลุ่มรวมพลังหุ้นกู้สตาร์ค กล่าวว่า วันนี้ทางอัยการได้สั่งฟ้องผู้ต้องหาเป็นจำเลยในคดีอาญาทั้งหมด 7 ราย นายศรัทธา ผู้บริหารฝ่ายการเงิน กับพวก แต่มีตัวละครเพิ่มขึ้นมา คือ น.ส.นาตยา สิ่งที่น่าสนใจ คือ ชื่อของผู้ต้องหารายหนึ่ง ซึ่งเป็นมือกฎหมายของบริษัทสตาร์ค คือ นายชินวัฒน์ อัศวโภคี ชื่อนี้หายไป ต้องฝากสื่อช่วยตามว่า เหตุใดชื่อมือฎหมายสำคัญของทีมสตาร์คถึงหาย แต่มีชื่อ น.ส.นาตยา โผล่เข้ามา
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของคนที่ยังไม่ได้สั่งฟ้องวันนี้ มี 4 ราย โดยรายแรก นายวนรัชต์ เเละ น.ส.ยสบวร ซึ่ง 2 คนนี้ ก็มีบทบาทสำคัญในคดี แต่อัยการบอกว่ายังไม่ฟ้อง เพราะยังต้องสอบสวนเพิ่ม แต่ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ฟ้อง และทางอัยการส่งสัญญาณว่า น่าจะฟ้องด้วย แต่ขอสอบสวนพยานโดยสั่งให้พนักงานสอบสวนดีเอสไอสอบเพิ่ม
ส่วนอีก 2 ราย ที่ไม่ฟ้องในวันนี้ คือ นายชนินทร์ ซึ่งหลบหนีไปแล้ว ก็หวังว่าสื่อมวลชนช่วยติดตามว่าทางอัยการ กระทรวงการต่างประเทศและตำรวจไทย ได้ประสานไปยังประเทศต่าง ๆ เเล้วหรือไม่ เพราะประชาชนร้อนใจอยากจะรู้ว่าจับกุมตัวได้หรือไม่ เเละอีก 1 คน คือ นายกิตติศักดิ์ จิตต์ประเสริฐงาม ที่เป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาด โดยอ้างว่าป่วย
ซึ่งนายกิตติศักดิ์ เป็นคนที่รู้เรื่องยอดขาย ยอดโอนไปจ่ายคนไหนถือเป็นบุคคลสำคัญ เเต่วันนี้อัยการคงยังไม่ถึงขั้นขอให้ศาลออกหมายจับ แต่ก็คงให้พนักงานสอบสวนติดตามมา หากติดต่อไม่ได้หรือหายตัว ทางเจ้าหน้าที่ก็อาจจะดำเนินการในการตามจับกุมเช่นกัน
"อย่างน้อยที่สุดวันนี้ต้องขอบคุณทางอัยการสำนักงานคดีพิเศษ ที่พยามทำสำนวน ซึ่งใครก็ตามที่ยังไม่ฟ้อง ขอให้ทำสำนวนและรีบฟ้องหากพยานหลักฐานพร้อมแล้ว เข้าใจว่าทางอัยการและพนักงานสอบสวนก็เล็งเห็น ว่ายังมีบุคคลอื่นๆที่ยังไม่ปรากฏชื่อ เช่น ที่ปรึกษาด้านการบัญชี สำนักงานบัญชี ผู้เซ็นงบการเงิน คนเหล่านี้ควรจะต้องได้รับการตรวจสอบโดยศาล ด้วยก็หวังว่าจะมีการยื่นแจ้งข้อกล่าวหาและยื่นฟ้องบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องต่อไป" นายวีรพัฒน์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม จากนี้ไปก็จะเดินหน้าเข้าไปเอาพยานหลักฐานในคดีอาญา ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในคดีแพ่ง โดยจะฟ้องเร็วที่สุดเมื่อพยานหลักฐานครบ ซึ่งผู้เสียหายสามารถมาร่วมกับเราได้เสมอ สามารถเซิร์ช Google หาคำว่ากลุ่มรวมพลังหุ้นกู้สตาร์ค LINE แอดไทยสตาร์ค
"วันนี้ทางผู้เสียหายที่ไปสังเกตการณ์ว่าได้เจอคุณวนรัชต์ และคุณยสบวร มาด้วยตัวเองทั้ง 2 ท่าน อัยการยังไม่ฟ้องเพราะต้องการสั่งให้มีการสอบสวนของประเด็นทั้ง 2 ท่านเพิ่ม ก็หมายความว่าอัยการให้ความสำคัญ อัยการไม่ได้ปล่อยปละละเลยเพียงแต่ว่า ผมถามอัยการว่าจะอีกนานไหมกว่าจะสรุปได้ ท่านตอบว่าอีกไม่นานหรอก เพราะว่าให้ทางดีเอสไอ ไปทำหน้าที่ตรงนี้แล้ว ก็ฝากสื่อมวลชนช่วยติดตามเพราะประชาชนร้อนใจมาก เอ วนรัชต์ ทำกำไรจากการขายหุ้นสตาร์คมหาศาล คุณยสบวร ตามที่เราสืบมามีบทบาทไม่ใช่แค่เป็นเลขาผู้ช่วยคุณชนินทร์ ธรรมดา แต่เป็นผู้ที่มีบทบาทในการกระทำการแทนคุณชนินทร์ได้ด้วย" นายวีรพัฒน์ ระบุ
ทั้งนี้ หาก น.ส.ยสบวร ให้การเป็นประโยชน์ ก็อาจจะทำให้คดีขึ้นมาได้ แต่หากไม่ให้ข้อมูลแก่พนักงาน คดีก็อาจจะมีปัญหา เพราะฉะนั้น ก็อาจจะให้ทางเจ้าพนักงานได้ทำหน้าที่สืบสวนสอบสวนให้อย่างครบถ้วนครับ ในชั้นดีเอสไอมีชื่ออยู่ตามกระแสข่าวรายงานออกมา และทราบดีว่านายชินวัฒน์ เป็นทั้งกรรมการ มือกฎหมาย คนสนิทของนายวนรัชต์ และเป็นทั้งคนสนิทของนายชนินทร์ คำถามก็คือชื่อหายไปไหน ภาคประชาชนคงตั้งคำถามฝากถามสื่อ ไปตั้งคำถาม มันบังเอิญเกินไปหรือไม่ ที่ชื่อหนึ่งหายเเต่อีกชื่อหนึ่งโผล่ขึ้นมาให้จำนวนมันเท่าเดิม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีที่มีไม่ปรากฏชื่อนายชินวัฒน์ จากการตรวจสอบพบว่าวันนี้ทางพนักงานอัยการคดีพิเศษมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องตามความเห็นของพนักงานสอบสวนดีเอสไอ เนื่องจากพยานหลักฐานไม่ถึง
โดยสำนวนพร้อมรายชื่อผู้ต้องหาที่กรมสอบสวนคดีพิเศษส่งมายังพนักงานอัยการมีผู้ต้องหาทั้งหมด 12 คน ประกอบด้วย
อย่างไรก็ดี ศาลอาญาสอบคำให้การจำเลยทั้ง 7 รายแล้ว โดยทั้งหมดให้การปฏิเสธและต่อสู้คดี ศาลจึงนัดพร้อมคู่ความเพื่อตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 10 มิ.ย. นี้ เวลา 13.30 น.
ทั้งนี้ ภายหลังประทับรับฟ้องนายศรัทธา จำเลยที่ 1 ได้ยื่นคำร้องหลักทรัพย์เป็นเงินสด 10 ล้านบาท และ น.ส.นาตยา จำเลยที่ 7 ยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์เป็นเงินสด 5 เเสนบาท ขอปล่อยชั่วคราว (อีก 5 ราย เป็นนิติบุคคลไม่ต้องยื่นประกัน) โดยศาลพิเคราะห์เเล้วคดีนี้ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการแห่งคดีแล้ว มีอัตราโทษสูง
อีกทั้ง การกระทำของจำเลยที่ 1 และ 7 ที่ถูกกล่าวหา มีลักษณะสร้างความเสียหายต่อเศรษกิจและสังคมโดยรวม มูลค่าความเสียหายจำนวนมาก หากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว มีเหตุอันควรเชื่อว่าจำเลยที่ 1 และ 7 จะหลบหนี จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ยกคำร้อง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ควบคุมตัวจำเลยทั้ง 2 ไปยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพเเละทัณฑสถานหญิงกลางต่อไป