svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

เช็กเลย ! จังหวัดไหนยากจนเรื้อรัง-รัฐจัดสรรงบประมาณต่ำ

17 ธันวาคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

สศช.เผยประเทศไทยยังเผชิญกับปัญหาความยากจนเรื้องรัง ขณะที่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ โดยเฉพาะภาคเกษตรกรรม-ท่องเที่ยว  หลังจากได้รับผลกระทบจากโควิด นอกจากนี้ในบางจังหวัดยังได้รับการจัดสรรงบประมาณจากรัฐต่ำ

รายงานข่าวจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)แจ้งว่า  สศช. ร่วมกับธนาคารโลก (World Bank) จัดประชุมเรื่อง Bridging The Gap : Thailand’s Path to Inclusive Prosperity เพื่อเผยแพร่รายงานการวิเคราะห์สถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย ปี 2565

ทั้งนี้พบว่าสถานการณ์ความยากจนปรับตัวดีขึ้น สัดส่วนคนจนลดลงจาก 6.32% ในปี 2564 มาอยู่ที่ 5.43% ในปี 2565 หรือมีคนจน จำนวน 3.8 ล้านคน  ซึ่งหากพิจารณาสัดส่วนคนจนจำแนกรายภูมิภาคพบว่า

- ภาคใต้มีสัดส่วนคนจนสูงที่สุด 9.30%ของประชากรในแต่ละภาค

- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 7.81%ของประชากรในแต่ละภาค

- ภาคเหนือ 6.8% ของประชากรในแต่ละภาค

ซึ่งหากเปรียบเทียบกับปี 2564 พบว่า สัดส่วนคนจนในแต่ละภูมิภาคปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ยกเว้นเพียงกรุงเทพมหานคร ที่มีสัดส่วนคนจนเพิ่มขึ้น1.37% จาก 0.57% และภาคเหนือ เพิ่มเป็น 6.80 % จาก  6.77%  เป็นผลจากระดับอัตราเงินเฟ้อที่ค่อนข้างสูง ส่งผลให้ค่าครองชีพโดยรวมมีแนวโน้มสูงขึ้นเช่นกัน

โดยสะท้อนได้จากเส้นความยากจนของกรุงเทพมหานครและภาคเหนือที่มีการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างชัดเจนเมื่อเปรียบเทียบกับภูมิภาคอื่น ส่งผลให้ครัวเรือนมีโอกาสที่จะกลายเป็นครัวเรือนยากจนได้มากขึ้น

รวมทั้งการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในหลายสาขายังไม่สามารถกลับสู่สภาวะปกติอย่างเต็มที่และไม่สามารถกระจายผลโยชน์ทางเศรษฐกิจได้ชัดเจน เช่น ภาคเกษตรกรรมมีการจ้างงานลดลงจากปี 2564 ภาคการท่องเที่ยว ซึ่งจำเป็นต้องใช้ระยะเวลาในการฟื้นฟู

เช็กเลย ! จังหวัดไหนยากจนเรื้อรัง-รัฐจัดสรรงบประมาณต่ำ
สำหรับข้อมูลของคนยากจนรายจังหวัดในรายงานดังกล่าวพบว่าจังหวัดที่มีสัดส่วนคนจนสูงสุด 10 อันดับแรกในปี 2565 ได้แก่

- แม่ฮ่องสอน

- ปัตตานี

- ตาก

- นราธิวาส

- กาฬสินธุ์

- หนองบัวลำภู

- ยะลา

- ศรีสะเกษ

- ชัยนาท

- ระนอง

อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่าบางจังหวัดที่กำลังเผชิญปัญหา  “ ยากจนเรื้อรัง” โดยจังหวัดแม่ฮ่องสอนเป็นจังหวัดที่มีสัดส่วนคนจนสูงที่สุด ในปี 2565 และติดอยู่ใน 5 อันดับแรกของจังหวัดที่มีสัดส่วนคนจนสูงสุดต่อเนื่องกัน 19 ปี ตั้งแปี 2545 อยู่ในอันดับที่ 9) สะท้อนให้เห็นปัญหาความยากจนเรื้อรัง

ขณะเดียวกันหากพิจารณาจาก 10 จังหวัดแรกที่มีสัดส่วนคนจนสูงสุด ในปี 2565 พบว่า 6 ใน 10 จังหวัดที่มีสัดส่วนคนจนสูงสุดจะติดอยู่ใน 10 อันดับแรกของจังหวัดที่มีความยากจนสูงที่สุดในปีอื่น ๆ ด้วย กล่าวคือ มีแนวโน้มเผชิญ ปัญหาความยากจนเรื้อรัง โดยจังหวัดที่กำลังเผชิญปัญหาดังกล่าว ได้แก่

- แม่ฮ่องสอน

- นราธิวาส

- กาฬสินธุ์

- ปัตตานี

- ตาก

- ศรีสะเกษ

ทั้งนี้หากพิจารณาเฉพาะจังหวัดที่ติด 10 อันดับแรกของจังหวัดที่มีสัดส่วนคนจนสูงที่สุดในตลอดช่วงปี 2543 - 2565 พบว่า ในช่วง 23 ปีที่ผ่านมา มีจำนวน 36 จังหวัดที่เคยติดอยู่ใน 10 อันดับแรกของ จังหวัดที่มีสัดส่วนคนจนสูงที่สุด โดยจังหวัดแม่ฮ่องสอนเป็นจังหวัดที่เคยอยู่ใน 10 อันดับดังกล่าวบ่อยที่สุด

ขณะที่จังหวัดบุรีรัมย์และสระแก้วค่อนข้างสะท้อนให้เห็นแนวโน้มพัฒนาการในทิศทางที่ดีขึ้นอย่างชัดเจน เพราะเป็นจังหวัดที่เคยติดอยู่ใน 10 อันดับแรกมามากกว่า 10 ปี แต่ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (ปี 2563 - 2565)ทั้งสองจังหวัดไม่ติดอยู่ใน 10 อันดับแรกของจังหวัดที่มีสัดส่วนคนจนสูงที่สุด

นอกจากนี้ 2 ใน 3 ของจังหวัดที่เคยติด 10 อันดับแรก เป็นเพียงการติดอันดับแบบชั่วคราวเท่านั้น คือติดอันดับเพียงแค่ 1 - 3 ปี ซึ่งอาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจหรือสังคมในพื้นที่อย่างกะทันหันจึงทำให้ระดับความยากจนเพิ่มสูงขึ้นอย่างฉับพลัน

ขณะเดียวกันรายงานฉบับนี้ได้สะท้อนปัญหาความยากจนเรื้อรังมาจากปัญหาหลายด้าน ซึ่งส่วนหนึ่งคือนโยบายการจัดสรรงบประมาณยังไม่สะท้อนผลลัพธ์ ด้านการกระจายทรัพยากรและ การพัฒนาไปยังพื้นที่อย่างเหมาะสม โดยเฉพาะภายใต้แผนงานยุทธศาสตร์ส่งเสริมการพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ ที่ครอบคลุมการพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัดในทุกมิติ

ซึ่งยังไม่ตอบโจทย์การบูรณาการแก้ไขปัญหาความยากจนระดับพื้นที่เช่น จังหวัดแม่ฮ่องสอน ปัตตานี ติดอยู่ใน 5 อันดับแรกของจังหวัด ที่มีสัดส่วนคนจนสูงที่สุด แต่อยู่ในกลุ่มที่ได้รับการจัดสรรงบประ มาณต่ำที่สุด 5 อันดับแรก

ทั้งนี้สะท้อนให้เห็นว่า เกณฑ์การจัดสรรงบประมาณยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับฐานะทางเศรษฐกิจของประชาชนในจังหวัดเท่าที่ควร เนื่องจากเน้นไปที่องค์ประกอบด้านผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด (GPP) จำนวนประชากร และขนาดพื้นที่ ทำให้ จังหวัดขนาดใหญ่ได้รับงบประมาณสูง ส่งผลให้จังหวัดขนาดเล็กและอยู่ในพื้นที่ห่างไกลได้รับการจัดสรรงบประมาณน้อย

อย่างไรก็ตาม  หากจังหวัดที่มีปัญหาความยากจน ไม่ได้รับการกระจายทรัพยากรและการพัฒนาที่ตรงจุดจะมีความเสี่ยงที่ทำให้ติดอยู่ในจังหวัดยากจนเรื้อรัง

logoline